สวัสดีครับพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ เกี่ยวกับการเลือกซื้อ LTF จาก DaddyTrader บทความนี้ได้แนวทางจากคำถามที่เพื่อนๆ หลายคนถามเข้ามาว่า “อยากจะซื้อ LTF แต่ไม่อยากเสี่ยง จะมีวิธีเลือกอย่างไร?” ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อ LTF ของเพื่อนๆ กลุ่มนี้ คือ ต้องการประหยัดภาษีเป็นหลัก และจะรับความเสี่ยงจากการถือ LTF ให้น้อยที่สุด เราลองมาดูกันครับว่าจะใช้ไหนดี

 

ข้อมูลระดับความเสี่ยงในหนังสือชี้ชวนใช้ตัดสินใจซื้อ LTF ไม่ได้

ถ้าเราไปดูระดับความเสี่ยงของกองทุนตาม Risk Spectrum ในหนังสือชี้ชวนที่เสนอขายกองทุน ซึ่งเป็นการแบ่งระดับความเสี่ยงตามประเภทของทรัพย์สินที่กองทุนนั้นลงทุนไป จะเห็นว่า LTF ทุกกองจะอยู่ในระดับ 6 จากทั้งหมด 8 ระดับ เพราะกองทุน LTF ทุกกองจะต้องมีนโยบายในการลงทุนในหุ้นไทยเท่านั้น และมีข้อกำหนดอีกว่าโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีจะต้องมีสัดส่วนของหุ้นไม่น้อยกว่า 65 %

01

รูปตัวอย่าง Risk Spectrum แสดงระดับความเสี่ยงของกองทุนประเภทต่าง ๆ

ถึงแม้ว่ากองทุน LTF แทบทุกกองแสดงระดับความเสี่ยงไว้ที่เท่ากันที่ระดับ 6   แต่ในความเป็นจริงแล้ว LTF แต่ละกองมีความเสี่ยงไม่เท่ากันนะครับ ทำให้ข้อมูลระดับความเสี่ยงจาก Risk Spectrum ไม่สามารถบอกเราได้ว่า LTF กองไหนมีความเสี่ยงมากหรือน้อยกว่ากัน ดังนั้นเราต้องใช้ข้อมูลตัวอื่นประกอบการวัดความเสี่ยงของ LTF ครับ

 

แล้วทีนี้เราจะใช้อะไรในการเปรียบเทียบความเสี่ยงล่ะ?

เวลาที่นักการเงินจะวัดความเสี่ยงของกองทุน จะวัดจากความผันผวนของราคากองทุน ซึ่งมักจะใช้คำทับศัพท์ว่า Volatility ฟังแล้วอย่าเพิ่งเดินหนีนะครับ เราสามารถใช้ความผันผวนของราคา (Volatility) เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงได้ไม่ยากเลยครับ

ความผันผวนที่แสดงให้เห็นจะมีหน่วยเป็น % ต่อปี เราสามารถนำตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกันระหว่างทรัพย์สินได้ว่าทรัพย์สินไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน ซึ่งโดยปกติทรัพย์สินที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงก็มักจะมีความเสี่ยงสูงควบคู่กันไปด้วย

02

การมองความเสี่ยงด้วยมุมของความผันผวนอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกกองทุน ตัวอย่างที่พอจะเห็นได้คือ ถ้ามีกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นเต็มที่เหมือนกัน 2 กองทุน กองทุนแรกมีความผันผวนต่ำแต่ก็ไม่สร้างผลตอบแทนเลย เพราะผลตอบแทนติดลบอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่อีกกองทุนที่มีความผันผวนสูงกว่าแต่มีผลตอบแทนที่เป็นบวก ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องดูทั้งความผันผวนและระดับผลตอบแทนควบคู่กันไปด้วย

 

ทำไมค่าความผันผวนของราคาจึงเป็นตัววัดความเสี่ยง?

ตั้งใจอ่านกันให้ดีครับ ความผันผวนของราคาทรัพย์สินสามารถใช้เป็นตัววัดความเสี่ยงได้ เพราะความผันผวนของราคา (Volatility) เป็นค่าที่บอกว่า จะมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างผลตอบแทนจริงที่จะได้รับจากการลงทุนกับผลตอบแทนที่คาดหวังเอาไว้มากหรือน้อย

ยกตัวอย่างสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยมาก ๆ เช่น เงินฝากธนาคาร เวลาที่เราเอาเงินไปฝากธนาคาร ซึ่งธนาคารกำหนดให้ผลตอบแทนไว้ที่ 0.5 % ต่อปี จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่เงินฝากของเราอยู่ในธนาคาร มูลค่าของเงินฝากจะคงที่ตลอดไม่มีความผันผวนเลย คนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารก็สามารถกินอิ่มนอนหลับได้อย่างสบายใจ พอครบกำหนด 1 ปี ก็ได้เงินต้นคืนเต็มจำนวนพร้อมผลตอบแทน 0.5 % ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก จึงถือว่าเงินฝากเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ

เปรียบเทียบกับการลงทุนในกองทุนหุ้นซึ่ง ราคาหุ้นในแต่ละวันจะมีการปรับตัวขึ้นลงผันผวนกว่า ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนหุ้นจึงโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูงกว่า การลงทุนในกองทุนหุ้นจึงเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเงินฝากธนาคาร แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า

มีข้อสังเกต คือ สินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนเท่ากันอาจเป็นไปได้ที่จะมีค่าความผันผวนของราคาไม่เท่ากัน เช่น กองทุน A มีผลตอบแทนเป็นบวกทีละน้อย ๆ แต่เมื่อถึงตอนติดลบ ก็ลบน้อยกว่าหุ้นตัวอื่นๆ เมื่อครบ 1 ปี หุ้นตัวนี้ ให้ผลตอบแทน 10% แต่ในขณะที่กองทุน B ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่ดีที่สุดถึง 20% แต่ก็มีบางช่วงที่ติดลบถึง 10% และเมื่อครบ 1 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 10% เท่ากัน กองทุน B จึงมีค่าความผันผวนสูงกว่าหุ้นตัวแรก

ดังนั้นกองทุนที่มีระดับผลตอบแทนใกล้เคียงกัน ถ้ากองทุนไหนที่มีตัวเลขความผันผวนของราคาต่ำกว่า ก็มีความเสี่ยงต่ำกว่า และน่าสนใจมากกว่า

 

แหล่งข้อมูลในการหาค่าความผันผวนของ LTF

แหล่งข้อมูลที่ผมใช้หาข้อมูลค่าความผันผวนของ LTF คือ หนังสือชี้ชวนฉบับย่อ (Fund Fact Sheet) ซึ่งเป็นเอกสารที่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญของกองทุนรวม และสามารถหาดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ บลจ. นั้น ๆ  

03

04

 

คนที่ไม่ชอบความเสี่ยงให้เลือกซื้อ LTF ที่มีค่าความผันผวนต่ำ

ผมได้ลองเอาผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ของ LTF ที่ดูแลโดย บลจ. กสิกรไทย ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2558 เพื่อเปรียบเทียบกันว่า LTF กองไหนจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด และเหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง เพราะราคาจะมีความผันผวนขึ้นลงน้อย

05

ผลที่ได้จากการพิจารณาด้านความเสี่ยงจากค่าความผันผวน สรุปว่า K70LTF มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เมื่อผมลองกลับไปดูโยบายในการลงทุนของ K70LTF พบว่ากองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70 % และส่วนที่เหลือลงทุนในทรัพย์สินอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนของราคาน้อย จึงทำให้ราคาของ K70LTF จะมีการแกว่งตัวขึ้นลงน้อยกว่าดัชนี SET และ LTF กองอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าในขณะที่ดัชนี SET ผลตอบแทนติดลบ 12.33 % แต่ผลตอบแทนของ K70LTF ติดลบเพียง 8.66 %  เท่านั้น ในขณะที่กองทุน KGLTF ผลตอบแทนติดลบใกล้เคียงกับ K70LTF แต่มีค่าความผันผวนสูงกว่า K70LTF

แต่ครับแต่ !!! ...มีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ ถ้าเรามองในแง่ของผลตอบแทนร่วมด้วย K20SLTF จะเป็นกองทุนที่น่าสนใจ เพราะมีผลตอบแทนของกองทุนเป็นบวก

Related Story