เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเป้าหมาย ทุกคนต้องใช้ความพยายามและฟันฝ่าเพื่อจะไปให้ถึงปลายทาง แต่สิ่งที่เรามักลืมคือการไปถึงเป้าหมายนั้นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการเดินทางเท่านั้น เพราะคุณต้อง ‘รู้สึก’ ว่าตัวเองไปถึงเป้าหมายตรงนั้นด้วย ซึ่งช่องว่างระหว่างการไปถึงเป้าหมายกับความร้สึกข้างในของเรานั้นบางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในความสัมพันธ์เรามักโฟกัสไปที่ข้อเสีย โดยไม่ได้ให้คุณค่ากับสิ่งที่เรามีกับคนรักอย่างเพียงพอ ในอาชีพการทำงาน คนที่ประสบความสำเร็จกลับรู้สึกไม่พอใจเพราะวิ่งตามเป้าหมายอย่างไม่สิ้นสุด (Productivity Dysphoria) หรืออย่างการที่เรามองกระจกแล้วไม่ชอบบางส่วนของร่างกาย (เช่นหูดูใหญ่ จมูกไม่โด่ง ฯลฯ) จนรู้สึกขาดความมั่นใจ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไปเลย (Body Dysmorphia)

พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าสิ่งที่เราทำได้กับสิ่งที่เรารู้สึกนั้นหลายครั้งไม่ตรงกันซะทีเดียว

ที่สำคัญคือเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเรื่องความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน หรือ รูปร่างหน้าตาเท่านั้น เป้าหมายทางการเงินของเราก็ถูกกระทบโดยช่องว่างระหว่างความรู้สึกและสิ่งที่เราทำได้จริง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเรื่องการเงินของคุณกำลังอยู่บนเส้นทางที่ดีไหม? ยอดเงินในบัญชีของคุณอาจจะไม่ได้บอกภาพทั้งหมดซะทีเดียวและคุณอาจจะทำได้ดีกว่าที่คิดก็ได้

ยอดเงินในบัญชีไม่ได้บ่งบอกทุกอย่าง

แน่นอนว่าเมื่อเราพูดถึงเรื่องการเงิน จำนวนหลักตัวเลขในบัญชีนั้นมักถูกใช้เพื่อวัดความสำเร็จแบบเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก แต่ความจริงถ้าพูดแค่นั้นมันค่อนข้างตื้นเขินไปสักหน่อย เพราะเมื่อพูดถึงเงินและตัวเลขในบัญชีแต่ละคนนั้นเริ่มต้นแตกต่างกัน และเป้าหมายของแต่ละคนก็แตกต่างกันอย่างมากด้วย

บางคนเกิดมาพร้อมเงินในบัญชีจำนวนหลักเกินนับนิ้วได้ บางคนเกิดมาติดลบแบบหาเงินทั้งชีวิตยังไม่รู้จะพอใช้คืนรึเปล่า เพราะฉะนั้นบางทีตัวเลขในบัญชีของแต่ละคนอาจจะเป็นเพียงกระจกสะท้อนของโชคและสถานการณ์ที่คุณอยู่มากกว่าความรู้และความสำเร็จเรื่องการเงินของคุณก็ได้

ดร. โบมิคาซิ เซกา (Bomikazi Zeka) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเงินและการวางแผนทางการเงินที่มหาวิทยาลัย Canberra ประเทศออสเตรเลียบอกว่ายุคสมัยนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษในการสร้างความมั่นคงทางด้านการเงิน

“ทุกวันเราต้องตัดสินใจเรื่องการเงินที่ซับซ้อน (บางอย่างก็ส่งผลในระยะยาวด้วย) และมีสินค้าและบริการทางการเงินมากมายกว่าที่เคยเป็นมาก่อน การฝ่าฟันสิ่งเหล่านี้ใช้พลังงานเยอะมาก”

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าตัวเอง ‘ทำได้ดี’ ในเรื่องการเงิน? เซกาได้สร้างเช็คลิสต์มาให้เราลองสำรวจตัวเองเพื่อการนี้เลย


1. คุณติดตามและตรวจสอบการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด

รายได้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะมากจะน้อย ทุกคนก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าท้ายที่สุดของเดือนแล้ว เงินจะเหลือในบัญชีเพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง พูดอีกอย่างหนึ่งคือเราทุกคนอยากได้ “Cash Flow Positive” กระแสเงินสดเป็นบวก เงินเข้ามากกว่าเงินออกนั่นเอง

เซกาบอกว่า

“การติดตามกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอนั้นจะช่วยทำให้มั่นใจว่ารายจ่ายของคุณไม่มากเกินกว่ารายได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือคุณหาได้มากกว่าใช้ออกไป”

เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่บอกว่าคุณอยู่บนเส้นทางการเงินที่โอเคคือติดตามกระแสเงินสดแล้ว “มีเงินเหลือหรือมีกันชนสำหรับวันที่แย่ ๆ”

2. คุณแยกออกระหว่าง ‘หนี้ดี’ กับ ‘หนี้เสีย’

พอเอ่ยคำว่า ‘หนี้’ หลายคนวิ่งหนีทันที บางคนกลับใช้จ่ายเงินโดยใช้เครดิตเงินอนาคตแบบไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะทางไหนก็ล้วนสุดโต่งด้วยกันทั้งสิ้น คนที่เข้าใจว่าหนี้ดีกับหนี้เสียแตกต่างกันต่างหากคือคนที่เข้าใจเรื่องการเงินได้เป็นอย่างดี เซกากล่าวว่า

“การรู้ว่าใช้หนี้ยังไงให้เกิดประโยชน์คือทักษะและสัญญาณบ่งบอกว่าคุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินที่ดี หนี้ดีคือหนี้ที่ใช้เพื่อสร้างฐานะการเงินระยะยาวหรือมูลค่าสุทธิของคุณ เช่น สินเชื่อบ้าน หนี้เสียมีแนวโน้มที่จะเกิดจากการบริโภคและไม่มีมูลค่าที่ยั่งยืน ตัวอย่าง ได้แก่ สินเชื่อเงินด่วน”

3. คุณกระจายความเสี่ยง

เราเห็นข่าวสารมากมายเกี่ยวกับธนาคารหรือสินทรัพย์ที่เกิดวิกฤติทางการเงิน (Silicon Valley Bank, FTX หรือ Credit Suisse) สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่อันตรายในการไว้วางใจสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียวแล้วหวังว่ามันจะปลอดภัย คนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินนั้นจะทราบถึงความเสี่ยงเหล่านี้และจะไม่ทุ่มสุดตัวโดยไม่กระจายความเสี่ยงอย่างแน่นอน เซกากล่าวว่า

“หนึ่งในแนวคิดหลักของความรู้ทางการเงินคือการเข้าใจถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง การกระจายเงินของคุณไปยังที่ต่างๆ (เช่น บัญชีออมทรัพย์ ทรัพย์สิน ตลาดหุ้น เงินบำนาญ และอื่นๆ) คุณได้ลดความเสี่ยงที่กระจุกตัว สิ่งนี้จะช่วยปกป้องความมั่งคั่งของคุณในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคือง”

4. รู้ถึงจุดอ่อนของตัวเอง

ไม่ว่าคุณจะฉลาดและรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินมากขนาดแค่ไหน ทุกคนก็ยังมีจุดอ่อนเหมือนกัน ทัศนคติเกี่ยวกับเงินของเรามีรากฐานมาจากอดีต และอารมณ์ก็เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจทางการเงินอยู่เสมอ ถ้าคุณรู้ว่าจุดบอดของตัวเองคืออะไรมันจะช่วยทำให้คุณหาวิธีป้องกันได้ดีขึ้นด้วย เซกาเตือนว่า

“บางทีคุณอาจซื้อของที่ไม่จำเป็นตอนรู้สึกเศร้า หรือบางทีคุณอาจตื่นตระหนกเมื่อเผชิญกับทางเลือกทางการเงินที่ยากลำบาก และรีบตัดสินใจเพื่อให้ปัญหาหมดไป การเพิกเฉยต่อรูปแบบพฤติกรรมอาจนำไปสู่ความผิดพลาดทางการเงินที่ร้ายแรงและอาจแก้ไขไม่ได้”

5. คุณมีเป้าหมายทางการเงิน

บางคนอาจจะอยากเกษียณภายในอายุ 45 ปี บางคนอาจจะบอกว่าตอนอายุ 45 ปีอยากจะมีบ้านสักหลัง บางคนอาจจะบอกว่าถึงตอนนั้นขอแค่จ่ายหนี้การศึกษาหมดก็พอใจแล้ว ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีเหมือนกันคือเป็นคนกำหนดว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไรในเรื่องการเงิน

“คนที่มีความรู้ทางการเงินจะวางแผนการเงินของตัวเอง ทั้งการตั้งเป้าหมายสำหรับการหารายได้ การออม การลงทุน และการจัดการหนี้สิน หรือวางแผนเพื่อปกป้องความมั่งคั่ง (เช่น การทำประกันเพื่อปกป้องความมั่งคั่งจากความเสียหาย)” เซกาบอกพร้อมเตือนว่าเป้าหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่จำเป็นคือ “ระบบและนิสัยทางการเงินที่จะทำให้เป้าหมายที่วางเอาไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ด้วย”

ประเด็นสำคัญที่สุดคือสิ่งที่ตัดสินว่าคุณมีความสามารถและความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินรึเปล่านั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในบัญชี แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากแค่ไหน คิดรอบคอบเรื่องเงินรึเปล่า เข้าใจการวางแผนการเงินและมีเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับอนาคตทางการเงินของตัวเองเป็นยังไง และทำยังไงเพื่อจะให้ไปถึงจุดนั้นได้

ไม่ใช่การเพ้อฝันที่เป็นการอยู่กับปัจจุบันและสร้างอนาคตที่ตัวเองต้องการขึ้นมามากกว่า


Inc.com

The Conversation

Inc.com