
ก่อนอื่นที่คุณจะเริ่มตั้ง New Year’s Resolutions ของปี 2019 ลองมองย้อนกลับไปว่าในปี 2018 สุขภาพการเงินของคุณเป็นอย่างไร? ลองลิสต์ออกมาและดูว่ามีอะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ผิดพลาดไป จะดีมากถ้าเราสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่าที่มันพลาดไปเกิดจากอะไร เพื่อควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในปี 2019 กัน ขอแนะนำให้ตั้งเป้าหมายที่
1. เป้าหมายต้องไม่ใจร้ายกับตัวเอง
หากคุณตั้งเป้าหมายที่เกินความสามารถตัวเอง เช่น ฉันจะเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทภายในสามเดือน ทั้งที่คุณมีรายได้เพียงเดือนละ 18,000 บาท แถมมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นอีก มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะเป็นการกดดันและทำร้ายความรู้สึกตัวเองเกินไป
2. เป้าหมายต้องไม่ดูถูกตัวเอง
หากคุณตั้งเป้าหมายที่ต่ำความสามารถตัวเอง เช่น ปีหน้าฉันจะไปเที่ยวเชียงใหม่ โดยที่คุณก็มักท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จะทำให้เป้าหมายไม่มีความท้าทาย ไม่ต้องพยายามก็สำเร็จได้ จนทำให้เป็นปีที่เอื่อยเฉื่อย

จะลิสต์เป้าหมายโดยพิมพ์ใส่โน้ตในสมาร์ตโฟน / ตั้งเป็นสเตตัสบนโลกออนไลน์ก็ได้ เพียงแต่ว่าอยากแนะนำให้เขียนเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ลงสมุดจะเป็นช่องทางที่ทำให้คุณจดจำและรู้สึกร่วมกับภารกิจนี้ได้ดียิ่งขึ้น
Trips : สำหรับบางคนอาจจะมี Monthly mission ด้วยจะทำให้คุณขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
aomMONEY จะชวนมาดูว่าเป้าหมายทางการเงินที่คุณควรมีในปีใหม่นี้มีอะไรบ้าง?
1. ฉันต้องเขียนบัญชี รายรับ - รายจ่าย อย่างเคร่งครัด
เพราะรายได้และค่าใช้จ่ายสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณอย่างอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญมากในการปรับปรุงพฤติกรรมทางการเงินและการวางแผนการใช้จ่ายสำหรับอนาคต

การเขียน รายรับ - รายจ่าย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนทางการเงิน เพราะจะช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริง ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์การเงินในปัจจุบันและคาดคะเนสถานการณ์ที่จะเกิดในอนคตได้ด้วย รวมทั้งช่วยให้การตัดสินใจทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ฉันต้องฝากประจำอัตโนมัติทุกเดือน

บางครั้งการที่คุณต้องออมเงินหรือประหยัดเงินด้วยตัวเองในทุก ๆ เดือน ก็มักจะเกิดเป็นปัญหา คือเงินมักหมดก่อนที่เราจะได้ออมเงิน ปีหน้าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นโดยออมก่อนใช้ คุณอาจกำหนดให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีเงินเดือนหรือสำหรับรับเงินของคุณ ไปยังบัญชีเงินออมหรือบัญชีฝากประจำ เมื่อคุณทำเช่นนี้ คุณจะพบว่าคุณมีเงินเก็บมากขึ้น และในปีต่อ ๆ ไป เงินเก็บนี้สามารถนำไปลงทุนเพื่อผลตอบแทนมากกว่าด้วย
Trips : บัญชีนี้ไม่ควรมีบัตร ATM หรือบัตร Debit เพราะจะสร้างความลำบากในการเข้าถึงเงินก้อนนี้มากขึ้น
3. ฉันต้องใช้บัตรเครดิตอย่างรอบคอบ

คุณอาจใช้บัตรเครดิตเยอะ แต่ละเดือนต้องจ่ายบิลช่วงต้นเดือนจนหมุนเงินไม่ทันแล้วหล่ะก็ ปีหน้านี้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้บัตรทันที อาจจำกัดการใช้ เช่น ต้องบัตรเครดิตเมื่อใช้จ่ายทางออนไลน์เท่านั้น หรือจะใช้บัตรเครดิตก็ต่อเมื่อมีโปรโมชัน Cash back หรือสะสมคะแนนเท่านั้น
4. ฉันต้องจ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มวงเงินทุกเดือน

หยุดการผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำ ที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยบัตรแสนแพงได้แล้ว แถมยังเป็นการสร้างเครดิตที่ดีกับตัวคุณเองด้วย
Trips : ใครที่มีแผนกู้เงินซื้อบ้าน กู้สินเชื่อธุรกิจ หรือกู้เงินส่วนบุคคล เครดิตทางการเงินจะช่วยให้โอกาสในการอนุมัติสินเชื่อมีมากขึ้น ยิ่งคุณมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดี ก็มีโอกาสขอสินเชื่อผ่านได้ง่ายขึ้นด้วย
5. ฉันต้องวางแผนภาษีอย่างรัดกุม

ลองคำนวณรายได้ปีหน้าว่าจะมีประมาณเท่าไร? ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ แล้วมาวางแผนลดหย่อนภาษี โดยคอยติดตามข่าวสิทธิการลดหย่อนภาษี ดูว่าค่าลดหย่อนที่มีและใช้ไปแล้วมีอะไรบ้าง? แล้วจึงดูว่าผลิตภัณฑ์ไหนเหมาะกับเราที่คุ้มค่าจะซื้อเพิ่มมาใช้ลดหย่อนได้
6. ฉันต้องมีรายเสริมจากงานประจำให้ได้

คุณอาจจะพอใจกับงานในปัจจุบันแต่ถ้าจะมีงานทำเพิ่มเพื่อหารายได้เสริมก็ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย เป็นการเพิ่มโอกาสช่องได้เงินแบบไม่ต้องลาออกจากงานประจำด้วย มีอีกหลายช่องทางที่จะทำให้คุณมีรายได้เสริม ลองศึกษาข้อมูลว่าอะไรเหมาะกับคุณและคุณอยากจะทำมากที่สุด
Trips : บางคนอาจสนใจช่องทางขายของออนไลน์ ใน IG หรือ FB, ให้เช่าทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น ให้เช่าบ้าน ให้เช่าคอนโด, เป็นฟรีแลนซ์หลังจากเวลางานประจำ เป็นต้น
7. ฉันต้องอ่านหนังสือการเงินทุกเดือน

นอกเหนือจากการปฏิบัติตามแผนเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จแล้ว การเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงิน จะช่วยให้คุณวางแผนใช้จ่ายและตัดสินใจเรื่องการเงินในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณมีเป้าหมายทางการเงินระยะกลางและระยะยาว เช่น เก็บเงินเรียนนต่อปริญญาโท, เก็บเงินแต่งงาน หรือเก็บเงินเพื่อการเกษียณ
การรู้ข้อมูลการออมการลงทุน จะช่วยให้คุณมีมุมมองด้านการเงินที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ แล้ววางแผนเพื่อไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
จะว่าไปการตั้งเป้าหมาย New Year’s Resolution ขึ้นมาอาจจะดูง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ ฉะนั้นจึงต้องวัดกันที่การลงมือทำนั้นคือเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ก็ไม่ควรกดดันตนเองมากเกินไป หรือเปรียบเทียบสภาพการเงินของคุณเองกับคนอื่น เพราะความสำเร็จทางการเงินของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกัน
aomMONEY เป็นกำลังใจและหวังว่าเป้าหมายอย่างน้อย 2 อย่างในลิสต์ของคุณจะสำเร็จ เกิดขึ้นจริงได้ในปี 2019 ไม่ไปกองรวมเป็นภาระในปีถัด ๆ ไป
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก #aomMONEY ทุกช่องทาง
Facebook
Website
Youtube
Line@ : @aommoney