สำหรับแฟนฟุตบอลจะทราบกันดีว่าหลังจากฤดุกาลแข่งขันปดติจบลงไปแล้ว เราก็จะเข้าสู่ช่วงพักฤดูกาล เวลานี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการย้ายทีมของนักเตะต่าง ๆ ซึ่งแต่ละทีมก็เข้าสู่ช่วงเสริมทัพให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในฤดูกาลหน้า
โลกลูกหนังในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง สโมสรฟุตบอลน้อยใหญ่ต่างต้องการเพิ่มประสิทธิภาพทีมเพื่อชัยชนะ ทั้งการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาและศูนย์ฝึกนักเตะเยาวชนเก่ง ๆ ป้อนทีมชุดใหญ่ เพื่อให้สามารถฟาดฟันกับทีมอื่นได้ แต่วิธีที่กล่าวมาอาจใช้เวลายาวนานเกินไป บางสโมสรก็อาจเลือกใช้วิธีทุ่มซื้อนักเตะด้วยราคามหาศาลทั้งที่นักเตะบางคน ถูกมองว่าราคาไม่น่าสูงขนาดนั้น
วันนี้ aomMONEY จะพาเพื่อน ๆ มาดูเหตุผล ที่สโมสรใช้ประเมินมูลค่านักเตะและเหตุผลที่ว่า ทำไมนักเตะปัจจุบันถึงมีค่าตัวสูงนัก
โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้พิจารณามีดังนี้
ความสามารถ
สินค้าดีมีคุณภาพ ราคาก็สูง เช่นเดียวกับนักฟุตบอล โดยเรื่องแรกที่สโมสรพิจารณาคือทักษะความสามารถ ถ้าฝีเท้าดี ราคาก็สูงตามไปด้วย การพิจารณาทักษะจะดูจากตำแหน่งที่พวกเขาเล่นด้วย เช่น
- กองหน้า ก็ต้องมีความเร็ว เทคนิคการยิงประตูที่ดี ร่างกายแข็งแกร่ง หาพื้นที่ได้ดี
- กองกลาง จะดูเรื่องการครองบอล การส่งบอล การตัดเกม
- กองหลัง จะดูเรื่องการป้องกัน การแย่งบอล การเข้าปะทะ เล่นลูกกลางอากาศ เป็นต้น
อายุ
อีกเรื่องที่สำคัญในการพิจารณาค่าตัวนักเตะคืออายุ อายุน้อยมูลค่าของนักเตะก็ยิ่งสูงไปด้วย เพราะสามารถช่วยทีมได้ในระยะยาว มีพละกำลัง ความคล่องแคล่วว่องไวสูง พัฒนาได้มากกว่า รวมทั้งโอนย้ายทีมได้ในราคาสูง ดังนั้น สโมสรต่าง ๆ จึงมองหาดาวรุ่งและลงทุนกับนักเตะอายุน้อยเสมอ
บางสโมสรก็มีจุดเด่นเรื่องนี้โดยมีนโยบายคว้านักเตะดาวรุ่งมาปั้นให้โด่งดังเพื่อขายต่อจนเป็นเอกลักษณ์เช่น Benfica, Sporting Lisbon ของโปรตุเกสหรือ Borussia Dortmund ของเยอรมัน ที่มีชื่อเสียงในการปั้นนักเตะขายทำกำไร
ประสบการณ์
นักเตะในตำแหน่งเดียวกัน ทักษะใกล้เคียงกันแต่มีประสบการณ์ต่างกันก็จะมีราคาแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น Jamie Vardy ของ Leister City เป็นนักเตะนอกลีกจนกระทั่งอายุ 24 ปี แม้จะเก่งเพียงใดก็มีค่าตัวน้อยกว่า Michel Owen ที่ผ่านการเล่นในพรีเมียร์ลีกมากกว่า 300 เกม ให้ Liverpool ในอายุที่เท่ากัน
หรือดาวซัลโวจากเมเจอร์ลีกสหรัฐอเมริกาปี 2021/22 อย่าง Hany Mukhtar ที่ยิงไป 23 ประตู ให้ทีม Nashville SC ก็อาจมีมูลค่าน้อยกว่า Anthony Elanga จาก Manchester United ที่ยิงเพียง 2 ประตูในฤดูกาลเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ อยู่ในลีกใหญ่กว่าก็มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูงกว่าด้วย
ระยะเวลาของสัญญา
นักเตะจะมีสัญญาอยู่กับสโมสรมากน้อยแตกต่างกัน ถ้านักเตะเหลือเวลากับสโมสรเยอะ มูลค่าก็จะเยอะตามไปด้วย เพราะสโมสรเจ้าของนักเตะ สามารถตั้งราคาหรือปฏิเสธข้อเสนอได้ แต่หากนักเตะเหลือสัญญาน้อย มูลค่านักเตะก็น้อยลงด้วย เพราะระยะเวลาการต่อรองจะกดดันให้สโมสรต้องขายนักเตะออกก่อนหมดสัญญา
ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 สโมสร Rennes ในฝรั่งเศสเหลือสัญญา Eduardo Camavinga อยู่ 2 ปี จึงตั้งราคานักเตะไว้ที่ 100 ล้านยูโร (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) แต่ไม่มีสโมสรไหนบรรลุข้อตกลง ต่อมาปี 2022 Real Madrid ได้นักเตะคนนี้ในราคา 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) เท่านั้น เพราะสัญญาเหลือ 1 ปี ซึ่งหากสัญญาเหลือนักเตะเพียง 6 เดือน นักเตะก็จะสามารถเจรจาสโมสรอื่นได้ทันทีจาก ‘กฎบอสแมน’ (Bosman) เป็นต้น
Marketability
Marketability หรือความสามารถทางการตลาดที่นักเตะก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะบางครั้งการย้ายทีมของนักเตะก็เป็นเรื่องของธุรกิจด้วย โดยผู้เล่นที่มีชื่อเสียง ฐานแฟนคลับจากที่ต่าง ๆ หรือมีคนติดตามเยอะก็จะมีมูลค่าสูง เพราะนักเตะเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้สโมสรเช่น การขายเสื้อ ขายของที่ระลึก เตะกระชับมิตร ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น การย้ายทีมของ Cristiano Ronaldo มีมูลค่า 100 ล้านยูโร (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) แม้จะอายุ 33 ปี แล้วตอนย้ายจาก Real Madrid ไป Juventus ซึ่งนอกจากการหวังผลงานของนักเตะแล้ว Ronaldo ก็สร้างรายได้ในแง่ของการตลาดด้วย เช่น เสื้อที่สกรีนชื่อ Ronaldo ขายได้มากกว่า 520,000 ตัว สร้างรายได้ 60 ล้านยูโร (ประมาณ 2,200 ล้านบาท) ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงสโมสรมีผู้ติดตามช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งหมดเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 ล้านคนด้วย
เงินเฟ้อ
เงินเฟ้อในตลาดนักเตะก็คล้ายเงินเฟ้อในโลกปกติ เพราะนักเตะมีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนของแต่ละทีมสูงขึ้น จึงต้องเพิ่มราคาเมื่อขายนักเตะ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ราคานักเตะนั้นพุ่งทะยานไปสูงมาก โดยข้อมูลจาก CIES Football Observatory หน่วยงานวิเคราะห์สถิติชื่อดังแห่งวงการฟุตบอล ชี้ว่าในปี 2019 มีการจ่ายเงินซื้อนักเตะของ 5 ลีกชั้นนำของยุโรป ได้แก่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลา ลีกา สเปน, กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี รวมทั้ง ลีกเอิง ฝรั่งเศส มากถึง 6,622 ล้านยูโร (ประมาณ 245,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 4 เท่า (1,542 ล้านยูโรหรือประมาณ 57,100 ล้านบาท)
1. Neymar ย้ายจาก Barcelona ไป PSG (2017) มูลค่า 222 ล้านยูโร (ประมาณ 8,300 ล้านบาท)
2. Kylian Mbappe ย้ายจาก Monaco ไป PSG (2017) มูลค่า 145 ล้านยูโร (ประมาณ 5,400 ล้านบาท) และหากทำผลงานตามเงื่อนไขได้เพิ่มอีก 35 ล้านยูโร (ประมาณ 1,300 ล้านบาท)
3. Joao Felix ย้ายจาก Benfica ไป Atletico Madrid (2019) มูลค่า 126 ล้านยูโร (ประมาณ 4,700 ล้านบาท)
4. Enzo Fernandez ย้ายจาก Benfica ไป Chelsea (2023) มูลค่า 121 ล้านยูโร (ประมาณ 4,500 ล้านบาท)
5. Philippe Coutinho ย้ายจาก Liverpool ไป Barcelona (2018) และ Antoine Griezmann ย้ายจาก Atletico Madrid ไป Barcelona (2019) ด้วยมูลค่า 120 ล้านยูโร (ประมาณ 4,400 ล้านบาท)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อราคานักเตะเช่น
- ความต้องการของตลาดในตำแหน่งนั้น ๆ ก็เพิ่มมูลค่าให้นักเตะในตำแหน่งที่ตลาดต้องการ
- ทักษะการต่อรองของสโมสร
ตัวอย่างเช่น Chelsea ในการบริการทีมของ Todd Boehly ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ประสบการณ์โดยซื้อนักเตะราคาสูงกว่าตลาด และใช้จ่ายไปมากกว่า 690 ล้านยูโร (ประมาณ 25,000 ล้านบาท) แต่ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีให้สโมสรได้
ทำไมสโมสรถึงกล้าลงทุนกับนักเตะราคาสูง
ราคานักเตะดาวดังที่สูงมากในตอนนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า คุ้มค่าแค่ไหนที่สโมสรต้องทุ่มเงินเพื่อคว้านักเตะเหล่านี้มา คำตอบมีทั้งเรื่องของผลประโยชน์ในรูปของรางวัลและตัวเงิน โดยบริษัทวิจัยด้านการตลาด IMARC Group ประเมินว่า ธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลในปี 2023 มีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งการมีสตาร์ดังระดับโลกอยู่ในทีม ก็ช่วยให้สโมสรเกิดรายได้มากมาย ทั้งการในรูปแบบของการตลาด ขายสินค้า ค่าตั๋วเข้าชม ของที่ระลึก การโชว์ตัว ถูกเชิญไปเตะกระชับมิตร หรือดึงดูดผู้สนับสนุนที่ต้องการโปรโมตสินค้ากับสโมสร
อีกทั้งผลตอบแทนจากการแข่งขัน ทั้งในลีก บอลถ้วยเล็กใหญ่ทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับทวีป ก็มีรางวัลมหาศาล เช่น Real Madrid ที่ได้แชมป์ UEFA Champion League 2021/22 ได้เงินรางวัลรวมกว่า 83.2 ล้านยูโร (ประมาณ 3,100 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจ่ายเพิ่มเติมให้อีก โดยลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างพรีเมียร์ลีกอังกฤษก็ให้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากกว่า 100 ล้านยูโรต่อทีมในแต่ละปี ซึ่งสโมสรก็นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาทีมและคว้าตัวนักเตะดังมาเพื่อทำให้ทีมสามารถแข่งขันและอยู่ในลีกสูงสุดต่อไปได้
ชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นอีกอย่างที่เป็นที่ต้องการ เพราะบางสโมสรที่มีเจ้าของทีมร่ำรวย เช่น Paris Saint-Germain, Manchester City หรือ Chelsea ในยุค Roman Abramovich ก็ลงทุนเสริมทีมด้วย Passion ส่วนตัว มากกว่าแสวงหากำไรในรูปแบบของรายได้
ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่สโมสรฟุตบอลใช้พิจารณาคว้าตัวนักเตะ ทั้งฝีเท้าดี พรสวรรค์สูง และกลุ่มที่ส่งผลต่อการตลาดและสร้างมูลค่าให้สโมสร แต่การซื้อตัวนักเตะก็เหมือนลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพราะความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน นักเตะบางคนเก่งกับทีมหนึ่งก็ไม่ได้แปลว่าย้ายแล้วจะยังทำผลงานได้ดี ที่เข้ากับระบบทีมใหม่ไม่ได้ก็มี ปรับตัวไม่ได้ก็เยอะ แถมขายต่อขาดทุนก็มีให้เห็นอยู่ตลอด
แล้วเพื่อน ๆ มีดีลซื้อขายนักเตะไหนยอดเยี่ยม ดีลไหนล้มเหลว ค้างในใจอยากเล่าให้ฟังก็คอมเมนต์ไว้ หรือใครเชียร์ทีมไหน อยากชื่นชม อยากระบาย อยากได้นักเตะคนไหน จากทีมอะไร ก็มาพูดคุยกัน ส่วน aomMONEY ขอไปเชียร์ทีมโปรด หลังจากพลาดการซื้อ Jude Bellingham แต่โชคดีที่ปิดดีล Alexis Mac Allister มาเสริมแดนกลางซีซันหน้าได้แล้ว
อ้างอิง :
- https://theathletic.com/3085749/2022/01/27/premier-league-how-do-you-value-a-player/
- https://footballhandbook.com/why-football-transfers-are-so-expensive/
- https://interestingfootball.com/how-is-a-footballers-market-value-calculated/
- https://youtu.be/XXbT6UKrKGk
- https://www.goal.com/en-gb/news/100-most-expensive-football-transfers-all-time/
- https://football-observatory.com/IMG/sites/mr/mr47/en/