“ประกันชีวิต” และ “ประกันสุขภาพ” คือเครื่องมือที่ช่วยวางแผนการเงินได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะนอกจากจะปิดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เรามาดูกันว่าประกันแบบไหนใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง? เหมาะกับใคร? แล้วทำแบบไหนคุ้มที่สุด?

1. ประกันชีวิตทั่วไป

ประกันประเภทนี้จะเน้นความคุ้มครองชีวิตของผู้ทำประกัน หากเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บริษัทก็จะจ่ายเงินก้อนให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามที่เราระบุไว้ โดยประกันชีวิตทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

- แบบตลอดชีพ : เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองตลอดชีวิต คนที่ต้องการส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน

- แบบชั่วระยะเวลา : เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองช่วงสั้นๆ คนที่มีภาระทางการเงินในช่วงเวลาหนึ่ง หากจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไม่ทิ้งภาระหนี้ให้ครอบครัว

- แบบสะสมทรัพย์ : เหมาะกับคนที่ต้องการออมเงิน แบบการันตีผลตอบแทนระยะยาว และได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย

- แบบควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์) : เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และได้ผลตอบแทนจากการลงทุน

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ

- ประกันชีวิตทั่วไปของตนเอง

สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตจากทุกกรมธรรม์ ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

- ประกันชีวิตทั่วไปของคู่สมรส

ถ้าเราทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะต้องเป็นคู่สมรสกันตลอดทั้งปี (ไม่ใช่พึ่งแต่งงานกันในปีภาษีที่ลดหย่อน)

แต่ถ้าทั้งเรากับคู่สมรสมีรายได้ คู่สมรสสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของตัวเองไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไขการรับสิทธิ์

สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เมื่อตรงตามเงื่อนไขทุกข้อ ดังนี้

- กรมธรรม์มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

- ถ้ามีการจ่ายเงินคืน เงินปันผล หรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี (หรือถ้าได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา)

**หากทำผิดเงื่อนไข ยกเลิกสัญญา หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนจะถือครบ 10 ปี ไม่ว่าจะตั้งใจหรือมีเหตุสุดวิสัยอื่นก็ตาม จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีก และมีผลย้อนหลังไปถึงการใช้สิทธิ์ลดหย่อนในอดีตด้วย

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เป็นประกันชีวิตที่การันตีรายได้หลังเกษียณ ซึ่งจะได้รับเงินบำนาญรายปี โดยเร็วที่สุดคืออายุ 55 ปีเป็นต้นไป เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณแบบไร้ความเสี่ยง

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ

สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ 200,000 บาทต่อปี (ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่า ก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น)

แต่ถ้าเรายังใช้สิทธิ์หักลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ไม่ครบ 100,000 บาท ก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบางส่วน ไปหักลดหย่อนในฐานะเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปก่อน ดังนี้

ส่วนแรก : เอาไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจนครบ 100,000 บาทก่อน

ส่วนที่เหลือ : เอาไปหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจนครบ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนจากประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย

เงื่อนไขการรับสิทธิ์

สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เมื่อตรงตามเงื่อนไขทุกข้อ ดังนี้

- กรมธรรม์มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

- จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดสม่ำเสมอ โดยจะจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้

- กำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น

- ต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์

3. ประกันสุขภาพตัวเอง

ประกันสุขภาพจะคุ้มครองความเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะจากโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุ เหมาะกับคนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด แล้วไม่อยากช็อกกับค่ารักษาพยาบาล

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ

เบี้ยประกันสุขภาพตนเองที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไขการรับสิทธิ์

เบี้ยประกันสุขภาพที่จะนำมาหักลดหย่อนได้ ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย ที่ประกอบกิจการในไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

- ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล อันเกิดจากการเจ็บปวดและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

- ประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะและการแตกหักของกระดูก

- ประกันภัยโรคร้ายแรง

- ประกันภัยการดูแลระยะยาว

4. ประกันสุขภาพของพ่อแม่

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ประกันสุขภาพที่เราซื้อให้พ่อแม่ (ทั้งของเรา และของคู่สมรส) ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน หากตรงตามเงื่อนไขที่ aomMONEY จะกล่าวถึงต่อไปครับ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ

สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้ทั้งพ่อและแม่นั้น ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง เมื่อรวมที่จ่ายให้ทุกคนแล้ว สูงสุดไม่เกินปีละ 15,000 บาท

หากคู่สมรสของเราไม่มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรส ก็นำไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละไม่เกิน 15,000 บาท

หากเราจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ร่วมกับพี่น้องคนอื่น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็จะเฉลี่ยไปตามจำนวนพี่น้องที่จ่ายร่วมกัน เช่น จ่ายค่าเบี้ยไป 15,000 บาท โดยมีพี่น้อง 3 คนช่วยกันจ่าย ดังนั้นแต่ละคนก็จะมีสิทธิ์หักลดหย่อนส่วนนี้ไม่เกิน 5,000 บาท

เงื่อนไขการรับสิทธิ์

พ่อแม่ของเรา/พ่อแม่คู่สมรส

- ต้องเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ไม่ใช่ลูกบุญธรรม) / คู่สมรสก็ต้องเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ไม่ใช่ลูกบุญธรรม) เช่นกัน และต้องไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น

- พ่อแม่จะอายุเท่าไหร่ก็ได้

- พ่อแม่มีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

- เราหรือพ่อแม่ คนใดคนหนึ่งต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น

- ให้ความคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเงื่อนไขประกันสุขภาพตัวเอง

และนี่ก็คือสรุปโดยละเอียดของการลดหย่อนภาษีด้วยประกันแบบต่างๆ นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะยื่นลดหย่อนด้วยประกันแบบใด ก็มีเงื่อนไขพื้นฐานอยู่ 2 อย่างคือ จะต้องทำประกันกับบริษัทในประเทศไทย และต้องแจ้งกับบริษัทประกันด้วย เพื่อให้ทางบริษัทส่งข้อมูลการใช้สิทธิ์ของเราไปยังกรมสรรพากรนั่นเอง หรือหากเพื่อนๆ มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามกับบริษัทประกันได้เลยครับ