ถ้าให้เลือกระหว่าง

A : มีรายได้ปีละ 1.75 ล้านบาท โดยที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ 875,000 บาท
B : มีรายได้ปีละ 3.5 ล้านบาท โดยที่คนอื่นๆ มีรายได้ปีละ 8.75 ล้านบาท

โดยในเหตุการณ์สมมุติทั้งสองสินค้าและบริการทุกอย่างมีราคาเท่ากัน

ซึ่งถ้าให้คิดตามหลักและเหตุผลแล้ว ‘B’ คือคำตอบที่คนควรเลือก เพราะได้เงินเยอะกว่าถึง 2 เท่าจริงไหมครับ?

คนอื่นได้เงินเยอะแค่ไหน ก็ไม่ควรมากระทบกับการตัดสินใจของเรา แม้คนอื่นจะหาเงินได้มากแค่ไหน ทางเลือก ‘B’ เราก็ยังได้เงินมากกว่าเดิมอยู่ดี

ในปี 1998 Sara J. Solnick (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์) และ David Hemenway (ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพ โรงเรียนสาธารณสุขฮาร์วาร์ดบอสตัน) ได้ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยใช้คำถามด้านบนถามผู้เข้าร่วมการศีกษาประมาณ 257 คน

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 50% เลือก ‘A’ ได้เงินน้อยกว่าตราบใดที่เงินตรงนั้นมากกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น

คำกล่าวที่บอกว่า “คนรวยคือคนที่มีรายได้มากกว่าสามีของน้องสาวของภรรยาของเขา 100 เหรียญ” ของ Henry Louis Mencken (นักข่าวชาวอเมริกัน) คงจะเป็นจริงไม่น้อย

เซลล์ประสาทกระจก Mirror Neurons

ในหนังสือ ‘มั่งคั่งด้วยกฎแห่งการลงทุน‘ โดย ดาเนียล ครอสบี้ (Daniel Crosby) อธิบายเอาไว้ว่าเหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะพฤติกรรมมนุษย์ถูกชักจูงด้วยแรงดึงดูดที่ทรงพลังที่เรียกว่า “เซลล์ประสาทกระจก” (Mirror Neurons)

ซึ่งการค้นพบเซลล์ประสาทกระจกนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลี โดยนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นกำลังศึกษาสมองของลิงแสมว่ามันสั่งการเคลื่อนไหวยังไง วันหนึ่งขณะที่นักศึกษานำไอศกรีมเข้ามาทาน แล้วลิงเหล่านั้นที่มีเครื่องตรวจวัดการทำงานของสมองติดอยู่ ปรากฏว่าเซลล์ประสาทของลิงเริ่มทำงาน กระตุกเป็นระยะๆ ตามจังหวะการเลียไอศกรีม

สิ่งที่นักวิจัยเหล่านั้นค้นพบก็คือว่าแม้ลิงจะไม่ได้ถือ ไม่ได้ขยับมือ หรือกินไอศกรีมเลยก็ตาม แต่แค่ได้เห็นคนอื่นกินไอศกรีมเซลล์ประสาทของลิงก็เริ่มทำงานและสะท้อนภาพที่เห็นในสมองทันที

เซลล์ประสาทกระจกเหล่านี้แหละที่เราเมื่อไหร่ที่เราเห็นคนอื่นหาว เราก็มักจะหาวด้วย หรือเวลาเห็นคนอื่นกินอะไรที่น่าขยะแขยงเรารู้สึกพะอืดพะอมปั่นป่วนในท้อง หรือเวลาเราเห็นตัวละครที่อยู่ในซีรีส์ร้องไห้ เราก็จะร้องไห้ไปด้วย

พลังแห่งการเลียนแบบนี้ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมายิ่งขึ้น เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในชุมชน แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน

แต่ครอสบี้อธิบายว่าแม้เจ้าเซลล์ประสาทกระจกนี้จะเป็นสิ่งจำเป็น “แต่ในทางกลับกัน กลไกเดียวกับที่เราใช้สร้างชุมชน ก็ทำให้เรากลายเป็นนักลงทุนที่แย่ และสนใจแต่การเปรียบเทียบกับผู้อื่น”

ข้าพเจ้าสามารถคำนวณทางเดินของดวงดาว แต่ไม่อาจประเมินความบ้าคลั่งของมนุษย์

ย้อนกลับไปช่วงเดือนสิงหาคมปี 1720 เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง และคิดค้นแคลคูลัส ต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งใหญ่เรื่องการลงทุนในหุ้นบริษัท South Sea Company ที่ตอนนี้กำลังร้อนแรงเหลือเกิน

นิวตันเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในช่วงสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ (นักวิทยาศาสตร์หลายคนกว่าจะมีชื่อเสียงก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว) เรียกว่าเป็นอัจฉริยะที่มีเงินทองและฐานะการเงินที่มั่นคงอยู่แล้วในระดับหนึ่ง

จึงหาวิธีที่จะนำเงินที่มีไปลงทุนให้มันงอกเงยมากยิ่งขึ้น โดยการไปลงทุนกับบริษัทที่ชื่อว่า “South Sea Company” ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษที่อาศัยเงินจากนักลงทุน ในการทำธุรกิจที่เป็นความร่วมมือกับรัฐเพื่อลดหนี้ของประเทศ

โดยก่อนหน้านี้อังกฤษมีการทำสงครามจึงก่อหนี้เอาไว้มาก

บริษัท South Sea Company เสนอว่าจะจ่ายหนี้ก้อนนั้นให้รัฐ โดยเจ้าหนี้เอาหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายมาแลกกับหุ้น และสิ่งที่บริษัทจะได้คือสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการค้าขายที่อเมริกาใต้

แน่นอนถ้าทำสำเร็จก็ดี แต่ปัญหาคือธุรกิจไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่

แต่ราคาหุ้นกลับไม่ลดลงตามผลประกอบการ เมื่อคนเห็นว่าบริษัทผูกขาดการค้า ทำให้เกิดการเก็งกำไรและดันราคาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ มีคนมีชื่อเสียงมากมาย ชนชั้นสูง ประชาชนทั่วไป พนักงานรัฐ และรวมไปถึง เซอร์ไอแซค นิวตัน ของเราด้วย

ในเดือนมีนาคม 1970 ด้วยราคาของหุ้นบริษัท South Sea Company ที่ถูกดันขึ้นมาเรื่อยๆ นิวตันรู้สึกว่ามันขึ้นมาเยอะแล้ว ตลาดดูร้อนแรงเกินไป จึงตัดสินใจขายหุ้นของเขาไปทั้งหมดเพราะได้กำไรมาแล้ว 100% เป็นเงินราวๆ 7,000 ปอนด์​ (ตีเป็นเงินตอนนี้ก็ประมาณ 1.7 ล้านเหรียญหรือประมาณ 60 ล้านบาท)

ปัญหาก็คือว่าหลังจากที่นิวตันขายหุ้นแล้ว ราคาหุ้นกลับไม่หยุดขึ้นต่อ แถมยังขึ้นแบบร้อนแรงสุดๆ ด้วย จากหุ้นละ 200 ปอนด์ เป็น 300 ปอนด์ เป็น 400 ปอนด์ และช่วงเดือนกรกฎาคม ก็ขึ้นไปเป็น 800 ปอนด์

แม้ตอนนั้นนิวตันจะถือว่าเป็นคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว เพราะความสำเร็จทางหน้าที่การงาน ได้กำไรจากการขายหุ้นไปแล้วรอบแรกไปแล้วมากโข แม้จะเป็นอัจฉริยะที่ชาญฉลาด แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เขาก็ไม่อาจต้านทานความรู้สึกที่เห็นคนอื่นๆ ร่ำรวยมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ครอสบี้อธิบายไว้ในหนังสือว่า “แม้นิวตันมีความมั่นคงทางการเงินอยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่อาจรับความจริงที่ว่าเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านของเขากำลังร่ำรวยมากกว่าเขา”

สุดท้ายเขาเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท South Sea Company อีกรอบที่ใกล้จุดพีคที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม และหลังจากนั้นไม่นาน ฟองสบู่ก็แตก

ในหนังสือการลงทุนสุดคลาสสิกอย่าง The Intelligent Investor เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

“ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ด้วยความร้อนแรงของตลาดจนทนไม่ไหว นิวตันกระโดดเข้าไปซื้อในราคาที่สูงกว่าเดิมเยอะมาก และเสียเงินไปกว่า 20,000 ปอนด์ หรือราวๆ 3 ล้านเหรียญ ในปี 2002 [ตีเป็นเงินปัจจุบันก็ราวๆ 5 ล้านเหรียญหรือประมาณ 180 ล้านบาท] ตลอดชีวิตของเขาหลังจากนั้นเขาก็ไม่อนุญาตให้ใครเอ่ยคำว่า ‘South Sea’ ต่อหน้าเขาอีกเลย”

และนี่ก็เป็นที่มาของวลีคลาสสิกของนิวตันที่พูดว่า “ข้าพเจ้าสามารถคำนวณทางเดินของดวงดาว แต่ไม่อาจประเมินความบ้าคลั่งของมนุษย์”

นิวตัน ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ การตัดสินใจผิดพลาดจึงเกิดขึ้น นี่คือความท้าทายทางพฤติกรรมและหลุมพรางทางอารมณ์ ซึ่งเกิดได้กับทุกคนเมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงทุนโดยเปรียบเทียบหรืออยากทำเหมือนหรือชนะคนอื่น โดยไม่ได้มองเป้าหมายของตัวเองอย่างแท้จริง การกระทำตรงนั้นอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวได้

ก็คงเหมือนที่ เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์และบิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า เคยพูดเอาไว้ว่า

“ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนและศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของพวกเขาก็คือตัวของพวกเขาเอง”