“เราจะพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้คนทำกำไรได้ดีขึ้น ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด” 

นี่คือบทสัมภาษณ์หนึ่งที่คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ (เผ่า) CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ aomMONEY Inspired


“Jitta (จิตตะ)” กลุ่มสตาร์ทอัพคนไทยที่รุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากจะทำกำไรให้นักลงทุนทั่วโลก ผู้สรรสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี AI อัจฉริยะ ช่วยวิเคราะห์หุ้นแนวเน้นคุณค่า จากแนวคิดของ Warren Buffett นักลงทุนหุ้นระดับโลก จนออกมาเป็น “Jitta.com” เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นที่เปิดบริการให้นักลงทุนและกลุ่มคนทั่วไปที่สนใจลงทุนหุ้น เข้าไปใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาหุ้นคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “หุ้นบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม” และพัฒนาต่อยอดแนวคิดนี้สู่ “Jitta Wealth” กองทุนส่วนบุคคลช่วยนักลงทุน บริหารพอร์ตหุ้นด้วยเทคโนโลยี AI นับว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้าน WealthTech แห่งแรกของไทย ที่ได้รับอนุญาตบริหารกองทุนส่วนบุคคล จากทาง ก.ล.ต.

แต่กว่าที่จะมาเป็น “Jitta (จิตตะ)” ที่ช่วยให้นักลงทุนลงทุนกันได้อย่างง่ายๆ สบายๆ ในวันนี้ ที่มาของการสร้างเทคโนโลยี ทั้งกระบวนการคิดและวิธีการทำ ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เราเพียงแค่ใช้นิ้วคลิกเข้าไปใช้บริการ และกลุ่มคนที่เป็นเบื้องหลัง เปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ เขาเหล่านั้น คือ กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “Jittstor” ผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีลงทุนหุ้นอัจฉริยะ Jitta

และในวันนี้ aomMONEY INSPIRED ขอนำเสนอเรื่องราวและแนวคิดของเหล่า Jittsor ให้เพื่อนๆ นักลงทุนทุกท่านได้อ่านกันครับ

แนวคิดการทำเพื่อนักลงทุนของ Jitta

คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ (CEO และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta) : “Core Purpose ของ Jitta คือ เราจะพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้คนทำกำไรได้ดีขึ้น ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด” โดยแนวคิดนี้มีที่มาจากว่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลงทุน เราสามารถ  Multiple การทำงานได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนต่อให้เก่งขนาดไหน แต่การไปนั่งวิเคราะห์หุ้นด้วยตัวเอง ในหนึ่งวันก็อาจจะวิเคราะห์หุ้นได้เพียงแค่ 1-2 ตัวเท่านั้น แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เราสามารถวิเคราะห์หุ้นได้เป็นร้อยเป็นพัน หรือเป็นหมื่นๆ ตัวในเสี้ยวเวลาเพียงวินาที ด้วยข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นที่มาว่า “เทคโนโลยี ทำได้ดีกว่าคน”

ความท้าทายในการสรรสร้างเทคโนโลยี Jitta.com

คุณศิระ สัจจินานนท์ (CTO และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta) :  ความท้าทายในการสร้าง Jitta.com อยู่ที่ว่า เมื่อเราทำโปรดักส์ที่ให้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้น วิเคราะห์การตัดสินใจการลงทุนให้กับลูกค้า สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความถูกต้อง” เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาว่า Process การทำงานของทีมข้างใน นอกจากพัฒนาสูตรแล้ว จำเป็นต้องเพิ่มกระบวนการวิเคราะห์และตรวจสอบให้มากขึ้น เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง

“Jitta เอง…เราใช้ AI เทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า Expert System”

Expert System คือ การให้ “คน” กำหนดว่าระบบจะประมวลผลอย่างไรจากข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ต่างจาก AlphaGo (ปัญญาประดิษฐ์ภายใต้การบริหารของกูเกิล) ที่จะปล่อยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้เอง ตัดสินใจเอง สาเหตุที่ Jitta เลือกเทคนิคนี้ เพราะว่าถ้าเราปล่อยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้หรือตัดสินใจเองทั้งหมด สิ่งที่คอมพิวเตอร์เรียนรู้ออกมา อาจจะไม่ตรงกับปรัชญาหลักการลงทุนของ Jitta ที่ยึดถือแนวคิด “การลงทุนระยะยาวในธุรกิจที่ดีและราคาที่เหมาะสม” ตัวอย่างเช่น เกิดวันหนึ่งคอมพิวเตอร์ไปเจอหุ้นที่ราคาน่าจะขึ้นมา 10 เด้งได้ แต่ว่าเป็นหุ้นที่ไม่ดี ราคาขึ้นมาจากการวาดฝันให้นักลงทุน ไม่ได้มีพื้นฐานกิจการที่ดีมารองรับ แบบนี้ AI ของ Jitta ก็จะไม่ถือว่าเป็นหุ้นน่าลงทุน

เราจึงจำเป็นต้องใช้ “คน” คอยดูว่าคอมพิวเตอร์เรียนรู้อะไรออกมา ถ้าตรงกับแนวคิดการลงทุนของ Jitta เราถึงจะนำไปเขียนเป็นอัลกอริทึมเพื่อให้คอมพิวเตอร์นำไปจัดการต่อ แต่ถ้าสิ่งที่คอมพิวเตอร์เรียนรู้มา ไม่ตรงกับหลักการลงทุนของเรา เราก็จะไม่ใส่เป็นอัลกอริทึมลงไปในระบบ ซึ่งทาง Jitta เราก็ไม่ได้ปิดกั้นในการที่ต้องใช้เทคโนโลยีเดียว หรือใช้โปรแกรมภาษาเดียวเท่านั้น อะไรที่ตอบโจทย์และรองรับความรวดเร็ว และที่สำคัญคือมีความถูกต้อง เราพร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลงตลอด

“ไม่ใช่แค่คนเขียนโค้ด ทุกคนได้ดูแลประสบการณ์ของผู้ใช้...”  

ตอนนี้เรามี Engineer อยู่ประมาณเกินครึ่ง ประมาณ 20 กว่าคน หลักๆ Engineer ที่ Jitta จะดูแลตั้งแต่ End to end คือ ตั้งแต่เริ่มดู Requirement จน Deliver เพราะเราอยากให้ Engineer ทุกคน ได้ดูแลประสบการณ์ของผู้ใช้จริงๆ  

ใน Culture Jitta เราใช้ high Trust คือ เชื่อมั่นในตัวเขา เพราะฉะนั้น Engineer ทุกคนจะได้รับความเชื่อมั่นว่า “เขาไม่ใช่แค่คนเขียนโค้ด เขาจะได้ดูแลตั้งแต่ฟีเจอร์แรก ได้ไปเจอกับ User จริงๆ” ได้ถามความต้องการ ได้คุยกับ Business เท่ากับว่าฟีเจอร์นี้มาจากความคิดของเขาที่เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย ไม่ใช่แค่คำสั่ง นี่คือข้อแตกต่าง สิ่งที่ดี คือ Engineer เราจะมีความสนุก มีความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์จริงๆ เกิดการอยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตลอดไป เพราะว่าตัวเขาเองเป็นคนที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่ต้น  

ทำอย่างไรก็ได้ให้ User ได้ประโยชน์จากการใช้ Jitta สูงสุด

คุณยุทธะวัฒน์ มโนภานนท์ (Jitta Intel Team Lead) : “ทีม Intel จะมีเป้าหมายของทีมที่ชัดเจนและตรงกัน นั่นก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ User ได้ประโยชน์มากที่สุด ขาดทุนน้อยที่สุด กำไรมากที่สุด” เป้าหมายในส่วนนี้ จะแยกส่วนออกมาเป็นเป้าหมายย่อยๆ คือ การทำ Data ให้ถูก นำไปประมวลผลได้เร็ว และพัฒนาอัลกอริทึมให้ดี เพราะว่า Intel เปรียบเสมือนเป็นแกนสมองของ Jitta ทำหน้าที่วิเคราะห์งบการเงินออกมา เป็น Jitta Score Jitta Line ให้ดูง่ายๆ

“ตอนนี้ข้อมูล Jitta มีประมาณ 50,000 กว่าหุ้นทั่วโลก เป็นข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 10-20 ปี เพราะฉะนั้นขนาดมันก็จะใหญ่มาก”

เพราะฉะนั้นความท้าทายในเรื่อง Data ที่มีจำนวนอย่างมหาศาล จะมี 3 ส่วน คือ 1. ทำอย่างไรให้เร็ว 2. ทำอย่างไรให้ Cost น้อยที่สุด 3. ทำอย่างไรให้ถูกต้องแม่นยำที่สุด

ในพัฒนาอัลกอริทึมของ Jitta.com ส่วนที่สำคัญ คือ การทดสอบวัดผลของอัลกอริทึม นั่นคือ การทำ Back Test ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง หลักๆ คนทั่วไปอาจจะดูแค่ว่า Run ออกมาได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ แต่ก็ไม่รู้รายละเอียดว่าข้อมูลผ่านการคิดมาอย่างไร มีอะไรที่ทำให้ผลคลาดเคลื่อนบ้าง ซึ่ง ระบบ Back Test ในอุตสาหกรรมปัจจุบัน ก็ยังไม่มีที่ไหน ครอบคลุมทุกอย่างที่เราต้องการได้ หมายความว่าเราต้องการจะวัดทุกๆ มิติ ทุกๆ  Metric ที่วัดได้

“และที่สำคัญคือ Bias ทั้งหมดในการทำ Back Test จะต้องไม่มี เพราะฉะนั้น Jitta เราก็เลยต้องสร้างระบบ Back Test ขึ้นมาเอง เพื่อให้การ Back Test สมจริงที่สุด ยิ่งสมจริงเท่าไร ก็ยิ่งมีประโยชน์กับลูกค้ามากเท่านั้น” 

สร้าง Jitta ให้ใช้งานง่ายที่สุดสำหรับ User

คุณญาณิน ท้วมสุข (Product Team Lead) : “มุมมองของคนทั่วไป จะมองว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มันต้องเป็นอะไรที่ซับซ้อนหรือใช้งานยาก แต่ Jitta เราพยายามนำเสนออะไรที่ง่าย พยายามทำให้โปรดักส์ ตรงกับความต้องการของ User ให้ได้มากที่สุด”

“User First” ของ Jitta คือ เวลาเราทำงานอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เราจะถามตัวเองเสมอว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตอนนั้นเราทำสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ User อยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงมี User อยู่ในกระบวนการทำงานของเราด้วย มีการ Interview User พูดคุยหาความต้องการของเขา ทำออกไปให้ทดลองใช้ เสร็จแล้วเราก็มาดู Feedback

เมื่อก่อนใน 1 ปี เราแทบจะนับฟีเจอร์ที่ออกของ Jitta ได้ คือ ค่อนข้างน้อยมากๆ เราใช้เวลาคุยกันนาน วางแผนนาน พอเริ่มใช้ Scrum framework เข้ามาช่วย เราก็มีเวอร์ชั่น Release ออกได้บ่อยขึ้น “สิ่งที่สำคัญ ก็คือเราจะไม่แค่หยุดตรงนี้ เราจะทำออกไปเรื่อยๆ”

Jitta อยากมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เราเรียกตัวเองว่า “Jittstor” 

คุณยุทธนา กังวล (Culture Evangelist Team) : “ที่นี่มีความยืดหยุ่นในการทำงานค่อนข้างสูงมาก เราเชื่อว่าทุกคนสามารถ Handle งานได้ดี มีความรับผิดชอบสูง ทุกคนจะมีความเป็นเจ้าของโปรดักส์ เขาจะเอาใจตัวเองลงไปอยู่ในโปรดักส์ แล้วก็จำลองตัวเองเป็นลูกค้าหรือนักลงทุน เพื่อจะได้สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ส่งออกไปยังนักลงทุนของจริง”

“Culture Evangelist” เกิดขึ้นมา เพราะเราอยากให้ Jitta มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ที่นี่เราจะเรียกว่า Jittstor ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้ มันไม่ใช่การทำงานในลักษณะที่เป็นขั้นบันไดจากขั้นบนลงสู่ด้านล่าง แต่ทุกคนสามารถมี Feedback กลับขึ้นไปยัง CEO , CTO , COO ได้ทุกคนเลย

อนาคตสำหรับ Jitta

คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ (CEO และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta) : “ปัจจุบัน Jitta จะตอบโจทย์ เฉพาะการลงทุนในหุ้น หลายๆ คนถามว่า Jitta วิเคราะห์อย่างอื่นได้ไหม บางคนอยากให้เราวิเคราะห์พันธบัตรบางคนอยากให้วิเคราะห์อสังหาฯ อยากให้การลงทุนของเราเป็นแบบ Asset Allocation หรือบางคนบอกว่าช่วยมาดูแลการออมเงินให้ตั้งแต่ต้นต้นจนจบ เราก็จะมองว่าโปรดักส์ในอนาคตข้างหน้า น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ก็ยังคงจะอยู่ใน Core Concept เดิม คือ Core Purpose การทำให้เขาได้กำไรที่ดีขึ้น ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด”

https://youtube.com/watch?v=ASlkcQa9RA0%3Fwmode%3Dopaque

รู้จักกับ Jitta มากกว่านี้  

และนี่คือเบื้องหลังแนวคิดและวิธีการสร้างเทคโนโลยีลงทุนหุ้นอัจฉริยะฝีมือคนไทยอย่าง Jitta ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “Jittstor” ที่ทาง aomMONEY Inspired นำมาฝากเพื่อนๆ กันนะครับ ฟังแล้วก็อดภาคภูมิใจแทนทีมงานไม่ได้เลยนะครับยอมรับเลยครับว่า “คนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก” และก่อนจากกันไปในวันนี้ เพื่อนๆ ที่อ่านบทความของเราแล้วชื่นชอบ อย่าลืมช่วยกันแชร์บทความเพื่อเป็นความรู้ต่อๆ กันนะครับ ส่วนใครที่อยากดูรายการสัมภาษณ์แบบ VDO สามารถคลิกเข้าไปชมได้ที่วิดีโอด้านบนครับ

สำหรับวันนี้ลากันไปก่อนครับ 

ทีม aomMONEY INSPIRED