ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่ง หรือโลจิสติกส์นั่นเอง

ในยุคก่อนหน้านี้ ธุรกิจโลจิสติกส์อาจจะมีผู้ประกอบการอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น และส่วนมากก็มักจะเป็นเจ้าตลาดที่อยู่มาอย่างยาวนาน หรือไม่ก็ให้บริการเฉพาะการจัดส่งสินค้าระหว่างบริษัทด้วยตนเอง ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปมีตัวเลือกการจัดส่งสินค้าไม่มากนัก

แต่ทุกสิ่งก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ เมื่อโลกของอีคอมเมิร์ซเข้ามาเขย่าตลาดธุรกิจของไทย ผู้คนเริ่มนิยมสั่งสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น รวมถึงค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่ต่ำลงจนแทบจะฟรีแบบ 100% ก็ยิ่งทำให้การค้าขายผ่านโลกออนไลน์ได้รับความนิยมมากเข้าไปอีก

สิ่งที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับตลาดอีคอมเมิร์ซ ก็คือตลาดของการจัดส่งพัสดุด่วน เพราะใคร ๆ ก็อยากสั่งของแล้วได้ของทันที ดังนั้น บริษัทใดก็ตามที่สามารถจัดส่งพัสดุได้ไวที่สุด ย่อมเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจนั้นไม่ยาก หนึ่งในนั้นคือ Kerry Express ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

และวันนี้บริษัทจัดส่งพัสดุด่วนแห่งนี้กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในชื่อหุ้น KEX

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “KEX” ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน โดยให้บริการทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าภาคองค์กร เป็นบริษัทแรกที่ดำเนินธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนแบบ Next Day Service ที่สามารถจัดส่งสินค้า ถึงปลายทางวันถัดไป หรือภายในวันเดียวก็ทำได้ด้วย Sameday Service

KEX เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับตลาดของอีคอมเมิร์ซในไทยที่เติบโตขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อไม่กี่ปีก่อน การสั่งสินค้าอาจต้องใช้เวลารอมากกว่า 1 สัปดาห์กว่าที่สินค้าจะถูกจัดส่งถึงปลายทาง รวมถึงความปลอดภัยของสินค้าที่ยังไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ KEX คือผู้เปิดโลกใหม่แห่งการจัดส่งพัสดุด่วนที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้วงการอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยเติบโตยิ่งกว่าเดิมอีก เพราะผู้บริโภคกล้าสั่งของมากขึ้น มั่นใจว่าได้ของไวและไม่เสียหาย

ในปัจจุบัน KEX ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนแก่ลูกค้าสามกลุ่ม

กลุ่มแรก คือลูกค้ากลุ่มที่ส่งของถึงลูกค้าด้วยกันเอง (C2C) KEX เป็นผู้บุกเบิกการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในภาคธุรกิจ C2C ในประเทศไทย และยังให้บริการเก็บเงินปลายทาง Payment-on-Delivery เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าธุรกรรม โดยในกลุ่ม C2C ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่คือผู้ค้าปลีกออนไลน์และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Kerry Express เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ เช่น เรียกรถเข้ารับพัสดุ ตรวจสอบสถานะปัจจุบันของการจัดส่ง เข้าถึงสิทธิประโยชน์จาก Kerry Express Loyalty Program เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือลูกค้ากลุ่มบริษัทที่ส่งของถึงลูกค้าทั่วไป (B2C) รวมถึงอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยมีสัญญาให้บริการที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนหรือเป็นสัญญาระยะยาว นอกจากนั้นยังให้บริการจัดการพัสดุที่รับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินพิธีการศุลกากร และการให้บริการจัดส่งสินค้าจากร้านค้าส่งถึงผู้บริโภคปลายทาง (Last-Mile Delivery) การให้บริการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (E-Fulfillment) การให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน การส่งคืนพัสดุ (เปลี่ยนหรือคืนสินค้า) และบริการจัดส่งพัสดุโดยเก็บเงินปลายทาง ลูกค้ารายใหญ่มักจะเป็นบริษัทที่หลายคนรู้จักกันดี เช่น Shopee Lazada JD Central รวมถึงผู้ใช้บริการช่องทางการขายสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย

กลุ่มที่สาม คือลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่ส่งของถึงลูกค้าธุรกิจด้วยกัน (B2B) ให้บริการทั้งลูกค้าองค์กร รวมถึงธนาคาร และสถาบันการเงินอื่น ๆ สำนักงานกฎหมาย บริษัทจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ กลุ่มร้านค้าภายใต้เครือข่ายบริษัทเดียวกัน (chain stores) บริษัทค้าปลีกสมัยใหม่ บริษัทขายตรง บริษัทโทรคมนาคม บริษัทเทรดดิ้ง และสำนักงานทั่วไป

เทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริการลูกค้าของ KEX เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ซึ่ง KEX ก็เน้นการลงทุนในเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน โดยการใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นมาเองนั้นทำให้ KEX สามารถปรับปรุงการให้บริการจัดส่งพัสดุได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้าของ KEX

ระบบเทคโนโลยีของ KEX ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจทุกด้าน ตั้งแต่การเข้าถึงลูกค้า การจัดส่งพัสดุตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง และการชำระค่าจัดส่งพัสดุ ซึ่งรวมถึงบริการเก็บเงินปลายทาง (Payment-on-Delivery) การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ ส่งผลให้ KEX ได้เปรียบจากการเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์และพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพของ KEX หน่วยงานการจัดส่งพัสดุและการดำเนินธุรกิจยังมีทีมเทคโนโลยีในหน่วยงานของตนเองซึ่งส่งผลให้แต่ละหน่วยงานสามารถเข้าถึงและติดต่อทีมเทคโนโลยีได้โดยตรง นอกจากนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายยังส่งผลให้การให้บริการจัดส่งพัสดุของ KEX มีประสิทธิภาพตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้คือกลุ่มลูกค้าที่ KEX ให้บริการเป็นหลัก นับจากจุดเริ่มต้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทุกวันนี้ KEX มีจุดให้บริการรับส่งพัสดุแล้วกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 63)  และมีรายได้ในปีล่าสุดที่สูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว (ข้อมูล ปี 62)

งบการเงิน KEX

ปี 2560

รายได้ 6,626 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท

ปี 2561

รายได้ 13,565 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 1,185 ล้านบาท

ปี 2562

รายได้ 19,782 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 1,329 ล้านบาท

งวดเก้าเดือน ปี 2562

รายได้ 14,655 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 900 ล้านบาท

งวดเก้าเดือน ปี 2563

รายได้ 14,689 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 1,030 ล้านบาท

หากพิจารณาจากงบการเงิน จะเห็นว่าทั้งรายได้และกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยล่าสุดในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้นั้น แม้ว่าสภาวะภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน แต่ KEX ก็ยังสามารถรักษาระดับรายได้ ขณะที่ฝั่งกำไรสุทธิก็ยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ทุกวันนี้มีบริษัทอื่นอีกมากมายที่เข้ามาทำธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนเช่นเดียวกับ KEX และเมื่อมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น สงครามราคาคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างที่เห็นได้จากทุกวันนี้ที่บริษัทจัดส่งหลายแห่งจัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างหนัก ทำให้ธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนที่แต่เดิมแทบจะไม่มีคู่แข่ง กลายเป็นตลาดน่านน้ำสีเลือดที่ทุกคนห้ำหั่นราคากันอย่างน่ากลัว

ถึงแม้การแข่งขันจะสูงขึ้น แต่ KEX ไม่ได้เข้าไปร่วมในสงครามราคาแบบเต็มตัวแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายต้องไม่ลืมว่าการจัดส่งพัสดุด่วนนั้น สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ราคาที่ถูกก็คือ การจัดส่งที่ไวและความปลอดภัยของสินค้า นั่นคือจุดแข็งของ KEX และเป็นชื่อเสียงที่สร้างมาอย่างยาวนานมากกว่าบริษัทอื่น ที่สำคัญคือ ทุกวันนี้ KEX มีการจัดส่งพัสดุเฉลี่ยต่อวันทำการกว่า 1.2 ล้านชิ้น นั่นหมายความว่า KEX มีการรับมือกับจำนวนออเดอร์มหาศาลได้ดีกว่า และทำให้ลูกค้าเชื่อถือใน KEX ได้ไม่ยากเลย

ที่สำคัญที่สุด หากพิจารณาดี ๆ แล้วความเป็นมืออาชีพของ KEX ที่ทำธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนมาอย่างยาวนาน สุดท้ายแล้วไม่ได้มีแต่บริษัทหรือลูกค้าเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ผู้ใช้บริการจัดส่งของ KEX ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าแบบครัวเรือนก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะถ้าสินค้าส่งไปถึงปลายทางช้า หรือไปถึงแล้วสินค้าเสียหาย คงไม่มีใครอยากซื้อของ แต่การขนส่งที่ไวและเชื่อถือได้นี้เอง ทำให้คนทั่วไปกล้าสั่งของมากขึ้น กลายเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก

สำหรับการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ KEX จะนำเงินที่ได้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ ใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ และใช้สำหรับการขยายธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนของตนเอง 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=305545 และ https://th.kerryexpress.com/

ลงทุนศาสตร์

บทความนี้เป็น Advertorial