จากที่ผมศึกษาข้อมูลมาประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ในโลกออนไลน์ถึง 3.4 แสนคนและเป็นอันดับที่ 8 ของโลก สถิตินี้ทาง zocialinc.com ได้สำรวจไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นสถิติเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (บทความนี้เขียนในปี 2560) เชื่อว่าถ้ารวมวิถีชีวิตทุกรูปแบบในกลุ่ม LGBT ก็น่าจะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นอีกนะครับ
แต่ยังไงก็อยากจะขออัพเดทกันซักนิดนึง เดี๋ยวเขาเพิ่มตัว Q เข้าไปด้วยนะ โดยสมัยหลังเขาจะเรียกว่า LGBTQ นะครับ คือ Lesbian Gay Transgendered Bisexual และที่เพิ่มมาคือ Queer ซึ่งเป็นวิถีชีวิตทางเพศที่ไร้กรอบของเพศทางเลือกทั้งหมด
เดิมทีตัวผมเองก็มีความเชื่อว่า วิถีชีวิตแบบ LGBTQ นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น ‘โสด’ มากกว่า ‘มีคู่’ (ก็แอบเห็นเพื่อนโสดกันทั้งนั้นเลย) แต่ช่วงหลังมานี้หลายคนเลือกที่จะคบหาเพศเดียวกันอย่างจริงจังและอยู่กินด้วยกันเป็นคู่รักอย่างเปิดเผย คำถามที่ตามมาจากเพื่อนๆ น้องๆ ก็คือ
LGBTQ สามารถวางแผนการเงินสำหรับสร้างครอบครัวได้มั้ย?
คำตอบก็คือ สามารถทำได้ครับ! พื้นฐานสำคัญของการวางแผนการเงินสำหรับสร้างครอบครัวของ LGBTQ โดยภาพรวมแล้วคล้ายคลึงกับคู่รักทั่วไปในเรื่องของการตั้งเป้าหมาย วางแผน บริหารการเงิน ออมเงินและการลงทุน แต่จะมีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างไปบ้าง หลักๆ แล้วเป็นในส่วนของเรื่องข้อกฎหมายครับ แม้สังคมจะเปิดรับเกี่ยวกับเรื่องรสนิยมทางเพศมากขึ้น แต่กฎหมายบางข้อก็ยังไม่เอื้อต่อคู่รัก LGBTQ เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสร่วมกันได้ จึงทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินยังมีข้อจำกัดอยู่ ตัวอย่างมีดังนี้ครับ
1. การกู้เงินซื้อบ้านร่วมกัน
โดยปกติแล้วหากผู้ชาย 2 คนจะเดินจูงมือไปซื้อบ้านและขอยื่นกู้เงินกับทางธนาคารแล้ว อาจจะเจออุปสรรค์บ้างเพราะธนาคารบางแห่งอาจจะมีนโยบายว่า ผู้ที่กู้เงินร่วมกันนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน เช่น สามี-ภรรยา พ่อ-แม่ พี่-น้อง ธนาคารถึงจะให้กู้สินเชื่อบ้านได้ แต่เท่าที่ผมสังเกตในระยะหลังมานี้ บางธนาคารก็ได้ให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น โดยหากเราสามารถแสดงหลักฐานให้ธนาคารได้เห็นว่าเป็นคู่รักกัน เช่น มีสัญญาเช่าบ้านร่วมกันมาเป็นระยะเวลายาวนานมาก่อน หรือหลักฐานทางการเงินที่ทำให้ธนาคารมองได้ว่าเป็นคู่รักกัน ธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้สินเชื่อได้ครับ หรืออีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ หากเป็นแฟนกันแล้วและมีการทำธุรกิจภายใต้บริษัทร่วมกันด้วย ก็สามารถใช้นิติบุคคลของเราในการยื่นกู้บ้านได้เหมือนกันครับ
2. วางแผนภาษีบุคคลธรรมดาแยกกัน
ถ้าเรามองข้อกฎหมายในเรื่องของการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี จะเห็นได้ว่ากรณีที่เป็นคู่รักสามี-ภรรยา ชาย-หญิง จะมีทางเลือกในการยื่นภาษีได้ทั้งแบบยื่นร่วมหรือแยกยื่น และหากมีลูกก็จะใช้ในการลดหย่อนบุตรได้อีกด้วย สำหรับกลุ่ม LGBTQ นั้นไม่มีสิทธิในการลดหย่อนในส่วนนี้ ต้องแยกกันวางแผนนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือ แม้เราจะมีการใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ในเรื่องทางกฎหมายหลายๆ อย่างเรายังต้องรับผิดชอบตัวเองอยู่
3. วางแผนมรดกยิ่งต้องทำอย่างยิ่ง
กฎหมายของเมืองไทยนั้นยังเป็นกฎหมายในลักษณะจารีตประเพณีแบบดั่งเดิมอยู่ หากคู่เกย์ 2 คนอยู่ร่วมกันแล้วคนที่เป็นเจ้าของบ้านเป็นอะไรไปก่อนโดยไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรมเอาไว้ สมบัติจะตกไปอยู่ที่พ่อแม่พี่น้องของเขาเลยนะครับและมันชอบธรรมตามกฎหมายด้วย ถ้าพ่อแม่ฝ่ายแฟนไม่ให้เราอยู่ต่อ เราก็ไปเรียกร้องอะไรไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วหากมีการซื้อทรัพย์สินอะไร ต้องเขียนพินัยกรรมเอาไว้ตลอดนะครับว่าส่วนไหนจะให้แฟนเรา ส่วนไหนจะให้พ่อแม่พี่น้องเรา จะเป็นรูปแบบเขียนเองลงชื่อเองก็ได้ แต่ถ้าอยากให้ทางราชการเก็บเอาไว้ให้ก็ทำเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อนายอำเภอได้เช่นกันครับ
สิ่งหนึ่งที่ต้องอย่าลืมในเรื่องมรดกก็คือการวางแผนการเงินด้วยประกันชีวิตครับ หากเราเป็นอะไรไปแฟนเราก็จะได้ค่าสินไหมด้วยเขาจะได้ไม่ลำบาก ซึ่งค่าสินไหมทดแทนเนี่ยมันจะไม่เกี่ยวข้องกับกองมรดกนะครับ จะจ่ายให้ผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์เท่านั้น แต่เท่าที่ผมสอบถามบริษัทประกันมา คู่ชีวิตเพศเดียวกันนั้นจะต้องมีการทำประกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยมอบประโยชน์ให้กันและกัน ทางบริษัทประกันถึงจะทำให้ทั้งคู่ครับ
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นหลักที่เราอยากจะพูดถึงซะที เชื่อได้ว่าคู่รักหลายคู่คงมีความใฝ่ฝันที่อยากจะมีบ้านร่วมกัน ซึ่งปัจจุบัน ตามที่ได้กล่าวมาข้างตน กฎหมายของประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อคู่ชีวิต LGBTQ เฉกเช่นคู่สามี-ภรรยา ชาย-หญิง จึงทำให้การวางแผนการเงินและครอบครัวมีวิธีการที่แตกต่างออกไป วันนี้ผมจึงขอยกตัวอย่างขั้นตอนการวางแผนการเงินเพื่อเป็นแนวทางให้กับคู่ชีวิต LGBTQ ที่เลือกเติมความสุขให้ชีวิตด้วยการซื้อบ้าน เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ
ตัวอย่างการซื้อบ้านให้อยู่กันไปจนแก่
Step 1 : เลือกบ้านและทำสัญญากู้
เมื่อตัดสินใจร่วมกันแล้วว่าอยากมีบ้านเพื่อเติมเต็มความฝัน สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือเลือกบ้านที่ทั้งสองคนชอบ และควรเป็นบ้านที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงินของตัวเองทั้งคู่ แล้วจึงยื่นกู้เงินกับทางธนาคารร่วมกัน ทั้งนี้ไม่ควรให้ภาระในการผ่อนบ้านต่อเดือนเกิน 40% ของรายได้ เช่น เงินเดือนทั้งสองคนรวมกัน 50,000 บาท ไม่ควรผ่อนต่อเดือน 20,000 บาท ในกรณีที่ธนาคารไม่ให้กู้ร่วมกัน ก็ลองดูว่าฐานะทางการเงินของฝ่ายไหนสามารถยื่นกู้ได้ประโยชน์ที่ดีกว่า ก็ให้เป็นฝ่ายที่กู้เงิน โดยอีกฝ่ายจะต้องวางแผนการชำระเงินกู้ร่วมกันเพื่อแบ่งเบาภาระในการรับผิดชอบ
Step 2 : จัดเก็บเอกสารและทำพินัยกรรมของบ้าน
ต้องอย่าลืมว่าหลักฐานในเรื่องทรัพย์สินควรจะเก็บเอาไว้ให้ดีเพราะกลุ่ม LGBTQ นั้น ในทางกฎหมายทรัพย์สินจะไม่ถูกมอบเป็นพินัยกรรมอย่างอัตโนมัติมาให้อีกฝ่ายเหมือนสามี-ภรรยาตามที่จดทะเบียนสมรสร่วมกัน ในกรณีที่มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านร่วมกัน หากแฟนเราเสียชีวิตไปก่อน เราจะเป็นเจ้าของบ้านเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นของทายาทของแฟนเรา เช่น พ่อแม่ พี่น้องเขานะครับ เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อเราซื้อบ้านมาเมื่อไหร่ เราจะต้องทำพินัยกรรมเพื่อมอบบ้านให้กันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตครับ รวมถึงทรัพย์สินอื่นด้วยนะ
Step 3 : ป้องกันความเสี่ยงหากใครจากไปก่อน
นอกเหนือจากการทำพินัยกรรมแล้ว เราจะต้องคิดร่วมกันเสมอว่า การผ่อนบ้านนั้นเป็นภาระร่วมกันทั้ง 2 คน ดังนั้นจึงควรนำค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระร่วมกันมาดูด้วยว่า หากใครคนใดคนหนึ่งเป็นอะไรไปก่อน อีกฝ่ายจะเกิดปัญหาทางการเงินหรือไม่ เช่น หากเราผ่อนบ้านร่วมกันเดือนละ 20,000 บาท (คนละ 10,000 บาท) แต่แฟนเรานั้นมีรายได้ 25,000 บาท ซึ่งถ้าเขาต้องมารับภาระผ่อนบ้านจากการที่เราจากไปก่อนถึงเดือนละ 20,000 บาท (เหลือใช้จ่ายเดือนละ 5,000) มันทำให้เขามีปัญหาทางการเงินตามมาอย่างแน่นอน
ดังนั้นจึงควรทำประกันชีวิตให้กันและกันไว้ หากใครจากไปก่อนแล้ว ประกันจะได้ช่วยคุ้มครองและจ่ายเงินให้อีกคนที่ยังอยู่ เพื่อนำไปผ่อนภาระบ้านที่ยังมีร่วมกัน และอย่าลืมด้วยว่า นอกจากนี้แล้วเราควรมีทุนประกันเผื่อไว้ให้อีกฝ่ายสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างน้อย 6 เดือนเพื่อเตรียมตัวในการใช้ชีวิตคนเดียว
Step 4 : แบ่งเงินไว้ 3 กองในการดูแลกันและกัน
การมีบ้านนั้น ไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านเท่านั้น ยังมีในเรื่องของการดูแลบ้านและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา ข้อแนะนำคือให้แบ่งเงินมา 3 ส่วน ได้แก่ เงินเรา, เงินเขา และ เงินกองกลาง โดยดูว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางเท่าไหร่ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ สมมติรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้านต่อเดือนแล้วคือ 5,000 บาท ให้เราสำรองเงินไว้กองกลางอย่างน้อย 3-6 เดือนเผื่อเกิดค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น การซ่อมบ้าน ซื้อของเข้าบ้านด้วย
ในส่วนเงินของเรานั้นเราก็ต้องมาวางแผนให้กับตัวเองครับ โดยเงินก้อนนี้หลักๆ แล้วเราจะจะใช้เพื่อความสุขของตัวเองและเป็นส่วนที่เราจะนำไปวางแผนเพื่อดูแลพ่อแม่ของเราด้วย คิดอย่างง่ายเลย ออมเงิน อย่างน้อย 10% ต่อเดือนเอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และอีก 10% สำหรับสร้างอนาคตโดยการลงทุนซื้อหุ้น กองทุนรวม นอกนั้นก็จะเป็นเงินที่เรานำไปใช้จ่ายส่วนตัวครับ หากใครมีเป้าหมายในการออมหรือลงทุนได้มากกว่านี้ก็ลองทำได้นะครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ กลุ่ม LGBTQ นะครับ โดยสรุปก็คือการมีชีวิตคู่นั้นอาจจะแตกต่างกับคู่ชาย-หญิงในเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ทางกฎหมาย แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรที่เป็นจุดที่ต้องระวังและกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมสิทธิให้เรา ก็ต้องจัดการด้วยตัวเราเองอย่างมีประสิทธิภาพครับ
เราก็ได้แต่ตั้งความหวังนะครับว่าในอนาคต กฎหมายต่างๆ เช่น พรบ.คู่ชีวิต จะออกมาประกาศให้เพื่อให้สิทธิทางสังคมในความเป็นอยู่ของชาว LGBTQ ให้สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกับทุกเพศในสังคมครับ