ในสมัยโรมโบราณ เมื่อแม่ทัพออกไปรบแล้วได้ชัยชนะกลับมา พวกเขาจะมีการเดินขบวนแห่ไปรอบ ๆ เมืองตามท้องถนนเพื่อประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่งสร้างความฮึกเหิมและแสดงความยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในขบวนแห่นี้แม่ทัพที่อยู่บนรถแห่จะมีทาสคนหนึ่งอยู่ข้างหลังด้วย

หน้าที่ของทาสคนนี้คือการคอยกระซิบคำเตือนกับแม่ทัพบอกว่า “Memento Mori” หรือที่แปลว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย”

นี่คือวิธีที่เตือนและสอนให้แม่ทัพคนนั้นว่าอย่าหลงระเริงกับชัยชนะที่อยู่ตรงหน้า แต่จงจำเอาไว้ว่าวันหนึ่งความโชคร้ายหรือความพ่ายแพ้ก็จะมาเยือนเขาเช่นเดียวกัน เป็นการชะลอและลด ‘อีโก้’ ของแม่ทัพให้กลับมายังโลกของความเป็นจริง เป็นการเตือนใจไม่ให้แม่ทัพยึดติดกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หลงไปกับคำยกย่องสรรเสริญจนประมาทและพลาดในการรบครั้งต่อไป

ในโลกการลงทุนบ่อยครั้งเราเป็นแม่ทัพคนนี้บ่อยกว่าที่คิด คุยโวโอ้อวดเสมอเวลาได้กำไร บอกว่าวิเคราะห์ไว้แล้ว วางแผนมาก่อน ไม่งั้นจังหวะไม่เหมาะขนาดนี้หรอก แต่พอขาดทุนเราก็บอกว่าช่วงนี้เศรษฐกิจมันห่วย ตลาดมันร่วง ซื้ออะไรก็ตกหมด ในบางมุมมันก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่บ่อยครั้งเราจะตกเป็นเหยื่อของ ‘อคติของความมั่นใจมากเกินไป’ (Overconfidence bias) คิดว่าตัวเองเป็นข้อยกเว้นของตลาด สามารถเอาชนะตลาดได้ เราคือแม่ทัพคนนั้นที่อยู่บนหลังรถที่ตะโกนโหวกเหวกถึงชัยชนะอันหอมหวาน

โชคร้ายที่ว่าในชีวิตเราไม่มีคนคอยมากระซิบข้าง ๆ หูว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย”

ความมั่นใจที่มากเกินไป

วันที่ 14 เมษายน ปี 1995 มีชายคนหนึ่งชื่อว่า แมคอาร์เธอร์ วีเลอร์ (McArthur Wheeler) ปล้นธนาคารสองแห่งที่เมืองพิตต์สเบิร์กกลางวันแสก ๆ แถมไม่พอคนร้ายไม่สวมหน้ากากปกปิดหน้าตาเลยแม้แต่น้อย

เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมงตำรวจก็ไปเคาะประตูหน้าบ้านของวีเลอร์และจับตัวเขาได้ในที่สุด มีหลักฐานจากกล้องวงตรปิดแน่นหนาว่าเขาเป็นหัวขโมยตัวจริง

ระหว่างที่โดนจับเขาก็พูดประโยคหนึ่งว่า “แต่ผมทาน้ำมะนาวแล้วนี่หน่า!!!”

เขาพูดแบบนั้นเพราะเชื่อว่าตัวเขานั้น ‘ล่องหนอยู่’ เพราะเขาได้ทาหน้าด้วยน้ำมะนาวแล้ว ถ้าใครเคยทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ตอนเป็นเด็กจะทราบดีว่าน้ำมะนาวใช้ทำการทดลองหมึกล่องหนได้ เขาเลยคิดว่าน้ำมะนาวเมื่อทาบนใบหน้า ก็ต้องล่องหนเช่นเดียวกับน้ำหมึกสิ!

เรื่องนี้ไปเตะตานักวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม 2 คนชื่อ เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) กับ จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) เข้าให้ พวกเขาเริ่มสงสัยว่าทำไมคนที่ความสามารถเพียงเล็กน้อยหรือมีความรู้น้อยสุด ๆ มักจะคิดว่าตัวเองฉลาดและเก่งกว่าที่เป็นอยู่จริง ๆ

ทั้งคู่เลยทดลองโดยการเอานักศึกษาจำนวน 194 มาทำข้อสอบเชิงตรรกะและแกรมม่า หลังจากสอบเสร็จก็ถามแต่ละคนว่าคิดว่าตัวเองทำได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ อย่างที่คาดครับ คนส่วนใหญ่จะมั่นใจกับทักษะของตัวเองมากกว่าผลลัพธ์ที่ทำได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ความจริงแล้วทำคะแนนได้แย่ มักจะคิดว่าตัวเองดีกว่า 2/3 ของของกลุ่มด้วยซ้ำ

พวกเขาก็สรุปว่าคนมักจะไม่รู้ว่าตนเองไม่เก่ง เพราะพวกเขาไม่มีทักษะมากพอที่จะเห็นความผิดพลาดตรงนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผมเรียนเล่นกีตาร์สักเดือนสองเดือน ผมก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เล่นได้สี่ห้าคอร์ด ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือห่างไกลจากคำว่าเก่งแบบคนละโลก แต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะไม่มีทักษะที่มากเพียงพอจะเห็นว่าตัวเองไม่เก่งนั่นเอง

ความประมาทที่มาพร้อมกับความมั่นใจ

ริชาร์ด ช็อตตัน (Richard Shotton) ที่ปรึกษาที่ด้านพฤติกรรมศาสตร์การตลาดผู้เขียนหนังสือ “Choice Factory” เขียนไว้ในหนังสือว่าอคติความมั่นใจในตัวเองที่มากเกินไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ เขาเคยทำแบบสอบถามกับพนักงานเอเจนซีโฆษณา 117 คน ซึ่งคำถามหนึ่งถามว่าคิดว่าตัวเองทำงานได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ โดยคำตอบคือ 83% บอกว่าตัวเองเก่งกว่าค่าเฉลี่ย

เขาทำการทดลองอีกครั้ง และอีกครั้ง ผลออกมาก็ยังเป็นเหมือนเดิม

ขอบเขตของปัญหาเรื่องความมั่นใจมากเกินไปนั้นไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องของข้อสอบเท่านั้น มันยังส่งผลไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตอย่างการลงทุนอีกด้วย ไมเออร์ สแตทแมน (Meir Statman) เขียนไว้ในหนังสือ “What Investors Really Want” ว่า

“ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์เฟื่องฟูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2000 แกลลอปได้ทำการสำรวจและพบว่า นักลงทุนรายย่อยคาดว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเท่ากับ 13.3% แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของตัวเองจะเท่ากับ 15.5%...สมาชิกของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกันประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนของตนเกินไปเฉลี่ย 3.4% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจริงที่ทำได้ และพวกเขาประเมินผลตอบแทนของตนเกินไป 5.1% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยของนักลงทุนคนอื่น ๆ”

อคติของความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปนั้นทำให้เราปิดโอกาสการเรียนรู้ของตัวเองและไม่มองย้อนกลับไปยังสิ่งที่เราทำ เมื่อหุ้นขึ้นก็คือกว่าเป็นความอัจฉริยะของตัวเอง ส่วนพอหุ้นตกก็โทษนู่นโทษนี้ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย อาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตตัวเองโดยการลงทุนทุ่มหมดหน้าตักก็ได้

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ความมั่นใจที่มากเกินไปของนักลงทุนอาจทำให้ต้นทุนสัมพันธ์สูงขึ้นเพราะซื้อและขายสินทรัพย์บ่อยครั้ง โอมาร์ อากีลาร์ (Omar Aguilar) ซีอีโอและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Charles Schwab Asset Management กล่าวว่ารายงานล่าสุดจาก Financial Industry Regulatory Authority หรือ FINRA แสดงให้เห็นว่านักลงทุนจำนวนมากอาจมีอคติเช่นนี้

นักลงทุนเกือบ 2 ใน 3 หรือ 64% ให้คะแนนความรู้ด้านการลงทุนของตนเองสูง และ 42% รู้สึกสบายใจในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองตามข้อมูลของ FINRA นักลงทุนอายุน้อยที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี มีแนวโน้มที่จะมีความมั่นใจมากกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่ากลุ่มอายุ 35 ถึง 54 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่มีความมั่นใจมากกว่ากลับ “ตอบคำถามเพิ่มเติม” เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนของ FINRA ได้ไม่ถูกต้อง ซึ่งบ่งชี้ว่า “นักลงทุนอายุน้อยจำนวนมากไม่ใช่แค่ไม่รู้ข้อมูล แต่อาจได้รับข้อมูลผิด ๆ ด้วย”

ในหนังสือ “Laws of Wealth” ที่เขียนโดย ดาเนียล ครอสบี้ (Daniel Cosby) บอกว่า

“อันตรายใหญ่หลวงของการเข้าข้างตัวเองจึงไม่ใช่การทำให้เราเอาแต่อวดกำไรที่ได้ แต่คือการทำให้เราประมาทการขาดทุนของเรา ความเชื่อในความพิเศษของตัวเราจะทำให้เรามองข้ามความเป็นไปได้ของความเสียหาย และนั่นก็คือหนทางสู่หายนะของการตัดสินใจด้านการลงทุนอย่างแน่นอน”

มั่นใจว่าตัวเองโชคดี

มีการทำการศึกษาชิ้นหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคุ้กคอลเลจที่ขอให้ผู้เข้าทดลองให้คะแนนความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ที่ดี (เช่นการถูกหวย หรือ การมีคู่ชีวิตที่อยู่กันไปจนแก่เฒ่า) กับเหตุการณ์ร้าย ๆ (เช่นอุบัติเหตุ ป่วยเป็นมะเร็ง หรือแต่งงานแล้วต้องหย่าร้าง) จะมีผลกับชีวิตของตัวเอง

สิ่งที่ได้ (ถึงตอนนี้ก็อาจจะไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่แล้ว) คือผู้ร่วมวิจัยประเมินว่าความเป็นได้ของเหตุการณ์ที่ดีเกินจริงไป 15% และประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์แย่ ๆ ต่ำเกินจริงไป 20%

มีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ทำเรื่องทำนองเดียวกัน โดยจะให้ผู้ร่วมวิจัยรับฟังตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ดีในชีวิต 6 เรื่อง และเหตุการณ์ที่ร้ายอีก 6 เรื่อง พร้อมทั้งบอกตัวเลขความเป็นไปได้ของเหตุการณ์นั้น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนทั่วไปด้วย ปรากฏว่าโดยสรุปแล้วผู้ร่วมวิจัยส่วนใหญ่จะคิดว่าเหตุการณ์ดี ๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเอง 4.75 เหตุการณ์จาก 6 เหตุการณ์ที่จะมีผลกับชีวิตของตัวเอง เทียบกับเหตุการณ์ที่ไม่ดีเพียง 2.4 เหตุการณ์เท่านั้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเรามักจะรับเอาเรื่องดี ๆ มาใส่ตัว (เช่นถูกหวย) และโยนเรื่องร้าย ๆ ไปให้คนอื่น (เช่นคนอื่นป่วยเป็นมะเร็ง) เมื่อฉันแต่งงานจะครองคู่ไปตลอดชีวิต ส่วนคนอื่นคงหย่าร้างกัน หรือถ้าในมุมของการลงทุนก็เป็น คนอื่นต้องทำตามกฎที่วางเอาไว้ ส่วนฉันใช้ทักษะความสามารถและความรู้สึกก็ได้แล้ว

สรุปแล้วทำยังไงดี

เจ.เค. แกลเบรธ (John Kenneth Galbraith) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เคยบอกว่า

“อย่างที่เขาว่ากัน ไม่ช้าก็เร็วคนโง่จะสูญเงิน อนิจจาเช่นเดียวกันกับผู้ที่ตอบสนองต่ออารมณ์มองโลกในแง่ดีที่ติดกับดักความฉลาดทางการเงินของตัวเอง มันเป็นเช่นนั้นมาหลายศตวรรษและในอนาคตอันยาวไกลก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย”

ความมั่นใจไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่ความมั่นใจเกินไปต่างหากที่ทำให้เราอาจจะประมาทในชีวิตและการลงทุนของเราได้

สิ่งที่เราควรทำเมื่อไม่มีใครคอยมากระซิบข้างหูว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย” เราก็ควรกระซิบให้ตัวเองฟังบ่อย ๆ ไม่ได้หมายถึงการด้อยค่าผลงานหรือสิ่งที่เราทำ แต่ให้ตระหนักเสมอว่า “เราก็มนุษย์คนหนึ่ง” เราสามารถฉลองความสำเร็จได้ มันไม่ได้แปลก จะโห่ร้องยินดีก็ได้ มันคงไม่มีใครว่า แต่ให้เตือนตัวเองถึงความเป็นจริงตรงนี้ด้วยว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนและไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ

พูดอีกอย่างคือชนะได้ ดีใจได้ และควรเรียนรู้ที่จะวางมันลงให้ได้ อย่ายึดติดกับชัยชนะ อย่าหมดหวังกับความพ่ายแพ้

เราไม่ใช่ ‘ข้อยกเว้น’ เราคือนักลงทุนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง และนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว