ในปี 1996 เมื่อแบรนด์นาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) เปิดตัวแคมเปญโฆษณาชื่อ “Generations” นอกจากความคาดหวังในการสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นแล้ว พวกเขาต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับปาเต็ก ฟิลิปป์ ว่ามันไม่ใช่แค่นาฬิกาที่ราคาสูงและมีแต่คนที่มีชื่อเสียงหรือคนรวย ๆ เท่านั้นที่ใส่ได้ แต่มันคือการ ‘สมบัติ’ อย่างหนึ่งที่คู่ควรกับการครอบครองและส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

“คุณไม่เคยได้เป็นเจ้าของ ปาเต็ก ฟิลิปป์ จริง ๆ หรอกนะ คุณเพียงแค่ดูแลมันสำหรับรุ่นต่อไปเท่านั้น” (“You never really own a Patek Philippe. You simply look after it for the next generation”)

นี่เป็นสโลแกนของแคมเปญที่พลิกภาพ ปาเต็ก ฟิลิปป์ จากแค่นาฬิกาหรูแสนแพง สินค้าที่ไม่ได้มีอะไรมากไปว่าแค่สิ่งของนอกกายที่เอาไว้บ่งบอกความร่ำรวยให้กลายเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา ไม่ใช่แค่นาฬิกาแต่เป็นมรดกตกทอด มีประวัติศาสตร์เรื่องราวให้ส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้เชยชม และยิ่งเป็นรุ่นที่หายากหรือมีเรื่องราวที่น่าสนใจ มันก็จะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

ล่าสุด Phillips ผู้นำด้านการประมูลงานศิลปะ การออกแบบ นาฬิกา ฯลฯ (ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า) นำนาฬิกาที่มีชื่อเล่นว่า ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์ของจักรพรรดิ’ (Imperial Patek Philippe) ที่ จักรพรรดิ “ผู่อี๋” จักรพรรดิจีนองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิงใส่ระหว่างอยู่ในคุกโซเวียตในช่วงปี 1945 - 1950 พร้อมกับของใช้ส่วนตัว 11 ชิ้นของมาเปิดประมูล ซึ่งนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ถูกเรือนนี้ประมูลไปด้วยเงินราว 6.2 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 215 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นนาฬิกาที่มีราคาประมูลสูงที่สุดในโลกในปี 2023 และสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นอันดับ 8 ไปเลยทันที

นอกจากราคาประมูลที่สร้างเสียงฮือฮาแล้ว เรื่องราวเบื้องหลังที่มาที่ไปของ ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์ของจักรพรรดิ’ รุ่น Patek Philippe Reference 96 Quantieme Lune เรือนนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย

จากรายงานของสำนักข่าว Chicago Sun-Times บอกว่าการค้นพบนาฬิกาเรือนนี้ต้องขอบคุณนักข่าวที่ชื่อว่า รัสเซลล์ เวิร์กกิง (Russell Working) ที่ได้พบกับนักแปลชาวรัสเซียวัย 83 ปีชื่อ จอร์จี เปอร์มียาคอฟ (Georgy Permyakov) ในปี 2001 ซึ่งตอนนั้นเวิร์กกิงกำลังทำข่าวเรื่องอื่นอยู่และเปอร์มียาคอฟก็เล่าว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นล่ามให้กับจักรพรรดิผู่อี๋จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนด้วย

ในช่วงวัยเด็กจักรพรรดิผู่อี๋ได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ในปี 1908 ได้รับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิเมื่ออายุได้ 2 ขวบกับ 10 เดือนเท่านั้น ถูกรายล้อมไปด้วยบริวารที่พร้อมจะตอบสนองทุกความต้องการแต่ในที่สุดก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งและเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง จักรพรรดิผู่อี๋ก็ถูกจับเป็นเชลยโดยกองทัพแดงของโซเวียตและถูกส่งไปยังเรือนจำโซเวียตตั้งแต่ปี 1945 ถึง 1950 ซึ่งเขาก็ได้พบกับเปอร์มียาคอฟซึ่งทำหน้าที่เป็นนักแปลของเขานั่นเอง

เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์กับจักรพรรดิผู่อี๋กับนักข่าว เปอร์มียาคอฟ ของเขาได้นำสิ่งของบางอย่างของจักรพรรดิผู่อี๋มาให้นักข่าวดู - พัด สมุดบันทึก และ นาฬิกาที่เขียนว่า “Patek Philippe & Co.” บนหน้าปัดด้วย

ตามรายงานของเวิร์กกิงบอกว่าเปอร์มียาคอฟและจักรพรรดิผู่อี๋ได้กลายเป็นเพื่อนที่สนิทกันระหว่างช่วงเวลาในคุกที่โซเวียต แม้ว่าจักรพรรดิผู่อี๋จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่านักโทษคนอื่น ๆ แต่ก็แทบไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกเลย ยกเว้นแต่กับเปอร์มียาคอฟที่เป็นล่ามเท่านั้น เปอร์มียาคอฟก็แนะนำให้จักรพรรดิผู่อี๋เขียนเกี่ยวกับชีวิตในจีนเพื่อช่วยให้เขาผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ (ซึ่งบันทึกนี้ขายด้วยราคาราว ๆ 121,500 เหรียญ หรือประมาณ 4.2 ล้านบาท)

จักรพรรดิผู่อี๋เป็นนักสะสมนาฬิกาคนหนึ่ง แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ Patek Philippe Calatrava 96 Quantieme Lune แพลทินัมของเขาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งระหว่างที่ถูกคุมขังในสหภาพโซเวียตมันก็อยู่ข้าง ๆ กายเขาตลอดด้วย

ถ้าเราดูจากในรูปจะเห็นว่าหน้าปัดครึ่งหนึ่งด้านล่างของนาฬิกาเหมือนมีการถูกขูด ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่าช่วงตอนที่เขายังเป็นจักรพรรดิของจีน วันหนึ่งก็เบื่อมากเลยอยากรู้ว่าหน้าปัดของนาฬิกาที่ตัวเรือนเป็นแพลทินัม หน้าปัดจะเป็นโลหะมีค่าด้วยรึเปล่า ดังนั้นเขาจึงสั่งให้คนรับใช้เริ่มขูดเพื่อพิสูจน์ พอเห็นได้ชัดว่าหน้าปัดทำด้วยทองเหลืองเขาก็เลยหยุด จึงทำให้มันหน้าปัดเป็นรอยแบบนี้นั่นเอง

ตามบันทึกของยวี่เหยียน (Yuyan) หลานชายของจักรพรรดิผู่อี๋กล่าวว่าเขาใส่นาฬิกาทุกวันในช่วงที่เขาอยู่ในคุกโซเวียตก่อนจะมอบมันให้ยวี่เหยียนเป็นของขวัญในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่บอกจักรพรรดิผู่อี๋ในปี 1950 ว่าเขากำลังจะถูกส่งตัวกลับประเทศจีน เขาก็ขอนาฬิกาคืนจากยวี่เหยียนทันที

จากนั้นจักรพรรดิผู่อี๋ก็มอบนาฬิกาให้กับเปอร์มียาคอฟซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและนักแปลของเขา และอยู่ในความครอบครองของเปอร์มียาคอฟจนกระทั่งเขาเสียชีวิต ก่อนจะส่งต่อให้กับทายาทคนต่อไป โดยเวิร์กกิงกล่าวว่าเปอร์มียาคอฟน่าจะไม่ทราบว่านาฬิกาเรือนนี้มีคุณค่าขนาดไหน เพราะตอนที่เจอกันครั้งแรกในปี 2001 เปอร์มียาคอฟก็เก็บนาฬิกาเรือนนี้ไว้ในลิ้นชักไม่ใช่ตู้เซฟ และนาฬิกาเรือนนี้ก็ถูกขายออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2019 ก่อนจะมาอยู่ในมือของ Phillips ในที่สุด

ก่อนการประมูล Phillips ได้ประเมิน Patek 96 Quantieme Lune เรือนนี้ว่ามูลค่า “เกิน 3 ล้านเหรียญ” เพราะนอกเหนือจากประวัติและความเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิผู่อี๋แล้ว มันยังเป็นนาฬิกาที่หายากและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของปาเต็ก ฟิลิปป์ ด้วย เพราะในโลกนี้มีการค้นพบ 1937 Patek Philippe Reference 96 Quantieme Lune ทั้งหมดเพียง 8 เรือน (รวมเรือนนี้) และมีเพียงแค่ 3 เรือนที่ใช้ตัวเรือนแพลทินัมซึ่งอีกสองเรือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของปาเต็ก ฟิลิปป์ อีกด้วย

การประมูลเริ่มต้นที่ 2.2 ล้านเหรียญ (80 ล้านบาท) ก่อนจะเพิ่มเป็น 3.8 ล้านเหรียญ (132 ล้านบาท) อย่างรวดเร็ว หลังจากหยุดการประมูลชั่วคราวเพราะมีคนเสนอราคามาทางโทรศัพท์ แล้วราคาก็พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนมาจบกันที่ 6.23 ล้านเหรียญ หรือราว 215 ล้านบาทเลยทีเดียว

นาฬิกาเรือนนี้แม้มันจะใช้บอกเวลาไม่ได้แล้ว แต่มันยังใช้บอกเรื่องราวของเด็กชายอายุ 2 ขวบที่ขึ้นเป็นจักรพรรดิครองประเทศ ภาวะสงครามและชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จนถึงช่วงเวลาอันเดียวดายและมิตรภาพที่สวยงามระหว่างมนุษย์ในช่วงเวลาอันเลวร้ายของการเป็นเชลยสงครามในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน

สุดท้ายแล้วไม่ว่านาฬิกาเรือนนี้จะไปอยู่ที่ไหน ในพิพิธภัณฑ์หรือการครอบครองของใคร เรื่องราวที่จักรพรรดิผูอี๋จะถูกส่งต่อไปสู่รุ่นต่อไปพร้อม ๆ กับมันด้วย

คนที่ประมูลชนะไปแม้จะได้ครอบครองมันในตอนนี้ แต่ก็ไม่เคยได้เป็นเจ้าของจริง ๆ เพียงแค่ดูแลมันสำหรับรุ่นต่อไปเพียงเท่านั้น

อ้างอิง : 

- https://www.hodinkee.com/.../imperial-patek-philippe-last...

- https://chicago.suntimes.com/.../chinese-last-emperor...

- https://www.hodinkee.com/.../untold-story-patek-philippe...