มนุษย์เราต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายบนโลก ไม่ว่าจะเป็นไอร้อน ฝนตก หรือลมหนาว หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ซึ่งร่างกายของมนุษย์วิวัฒนาการมาอย่างยาวนานจนสามารถปรับตัวและอยู่รอดกันมาหลายชั่วอายุคน

แต่ทว่า…สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น เกิดอากาศหนาวเพียงไม่กี่วันในช่วงฤดูร้อน หรือสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (extreme weather event) เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมหนัก รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ปกคลุมเต็มท้องฟ้าจนแทบไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและความเป็นอยู่ของเราเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบแง่ของเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมทำให้บ้านเรือนจำนวนมากได้รับความเสียหาย ถนนหนทางถูกตัดขาด ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ยาก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนต้องหยุดชะงักลง ขณะที่ฝุ่นละอองทำให้ผู้คนมากมายล้มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) ซึ่งผลิตภาพแรงงานที่ลดลงมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบขนาดไหน

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาถือว่ารุนแรงอยู่ไม่น้อย เมื่ออ้างอิงจากรายงาน Global Climate Risk Index ฉบับปี 2021 ที่จัดทำโดย Germanwatch พบว่าไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

โดยตั้งแต่ปี 2000-2019 เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วในไทยถึง 146 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจราว 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 260,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินลงทุนในโครงการในรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีมูลค่าราว 220,000 ล้านบาทเสียอีก

นอกเหนือจากรายได้ที่ประเทศสูญเสียไปในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติแล้ว รัฐบาลยังต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมากในการเยียวยาผู้ประสบภัย ดังนั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงทำให้ไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ในการจัดสรรงบประมาณที่มีจำกัดไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศอีกด้วย

ผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกัน

แม้ความเสียหายในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทยจะฟังดูมีมูลค่ามหาศาล แต่ผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มกลับไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นลองดูสองตัวอย่างนี้

1. ภัยแล้งและน้ำท่วม

ปกติแล้วภัยธรรมชาติเหล่านี้มักเกิดเพียงบางจุด ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และบริเวณที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะในเขตชนบทตามต่างจังหวัด ทำให้คนที่อาศัยในเขตเมืองหรือไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วม

โดยคนกลุ่มดังกล่าวจะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบมากขึ้นก็ต่อเมื่อผลผลิตทางการเกษตรลดลงมากจนดันให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าวัตถุดิบในการปรุงอาหารปรับเพิ่มขึ้นตาม ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนจึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้สูงก็สามารถทนทานต่อสภาวะเช่นนี้ได้นานกว่าครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย

2. ฝุ่น PM 2.5

ตรงกันข้ามกับกรณีภัยแล้งและน้ำท่วม ฝุ่น PM 2.5 มักปกคลุมหนาแน่นในเขตเมือง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีตึกสูงหรือมีการจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน แต่ระดับของผลกระทบนั้นรุนแรงไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าพิจารณาในมิติใด เช่น

  1. มิติของกลุ่มอาชีพ : คนที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือคนที่ไม่สามารถทำงานจากบ้าน (work from home) และต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะมาทำงานทุกวันย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ทำงานอยู่เฉพาะในออฟฟิศหรือที่บ้าน
  2. มิติของกลุ่มอายุ : เด็กและผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าคนวัยทำงาน และ
  3. มิติของกลุ่มรายได้ : เมื่อเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินแลกมา คนรายได้สูงจึงมีความสามารถในการปกป้องตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าคนรายได้น้อย นอกจากนี้ คนรายได้สูงที่มีเงินออมมากยังเลือกที่จะหลบไปพักผ่อนในบริเวณมีอากาศปลอดโปร่งได้ในยามที่มีเวลาว่าง ขณะที่คนรายได้น้อยที่ใช้เงินเดือนชนเดือนไม่มีทางเลือก จึงต้องอยู่ในพื้นที่แออัดและมีมลพิษตลอดเวลา

ถ้าอย่างนั้นใครควรเป็นคนลงมือแก้ปัญหานี้

คำตอบที่ดูซ้ำซากแต่ก็เป็นเรื่องจริง ก็คือคนไทยทุกคนนั่นแหละ แม้บางส่วนจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ตาม โดยรัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทหลักในการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มรายจ่ายลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูล Government Finance Statistics ของ IMF ชี้ว่าตั้งแต่ปี 2017-2021 รัฐบาลไทยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเฉลี่ยเพียง 0.3% ของรายจ่ายทั้งหมด น้อยกว่าอินโดนีเซียที่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนและอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับไทย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเฉลี่ยราว 1.4% ขณะที่ประเทศในกลุ่มรายได้สูง เช่น ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงในอดีตมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% ของรายจ่ายทั้งหมด

โดยแนวทางการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมควรครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้ง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รวมถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือปัญหาในอนาคต เช่น การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ของประเทศ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากฝากให้ทุกท่านเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่คงไม่ยากเกินกว่าความสามารถ และหากคนไทยร่วมกันผลักดันให้เกิดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศเราได้สำเร็จ ก็สามารถขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคอาเซียน เหมือนเช่นที่ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปทำอยู่ในปัจจุบัน

-----------------------------------

ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ

เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


อ้างอิง

• Global Climate Risk Index 2021 โดย Germanwatch [https://www.germanwatch.org/.../Global%20Climate%20Risk...]

• ข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจาก website ของ EEC [https://www.eeco.or.th/.../high-speed-rail-connecting-3...]

• ข้อมูล Government Finance Statistics โดย IMF [https://data.imf.org/...]