กองทุนรวมผสม

กองทุนรวมผสม ผสมอย่างไรให้ใช่กับตัวตน

 

กองทุนรวมผสม ในประเทศไทยรูปแบบหนึ่งที่เราคุ้นหูกันดีในช่วงนี้ คือ “Multi Asset Income” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ลงทุนศาสตร์เองก็ติดตามผลงานกองทุนรวมประเภทนี้อยู่บ่อยๆ เพราะชอบลักษณะนโยบายของกองทุนประเภทนี้มาก

 

ว่าแต่ “กองทุนรวมผสม รูปแบบ Multi Asset Income” คืออะไร?

กองทุนรวมผสม คือ กองทุนรวมแบบที่ผู้จัดการกองทุนสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างหลากหลายและยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ โดยสามารถเลือกลงทุนได้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารอนุพันธ์

ข้อดีของกองทุนรวมผสม คือ ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับกลยุทธ์ได้ตามสภาวะตลาดโดยอิสระ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนี้ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ผู้จัดการกองทุนก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้ ในขณะที่ช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง ผู้จัดการกองทุนอาจเปลี่ยนมาถือตราสารหนี้เป็นจำนวนมากแทน โดยความยืดหยุ่นนี้จะมีข้อดีเหนือกว่ากองทุนรวมที่เฉพาะเจาะจงอย่างกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องคงการถือสินทรัพย์ตามประเภทของกองทุนไว้ตามที่กฎเกณฑ์กำหนด

ในขณะที่ข้อสังเกตก็มีเช่นกัน อย่างที่เล่าว่า ‘กองทุนรวมผสม’ คือการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทผสมกัน ดังนั้นผลตอบแทนโดยทั่วไปมักจะเกาะค่าเฉลี่ยกลางของสินทรัพย์โดยภาพรวม เช่น กองทุนรวมผสมที่ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้นก็มักจะได้ผลตอบแทนของกองทุนรวมอยู่ตรงกลางระหว่างกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมหุ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของการลงทุนเป็นหลัก

 

ทีนี้นักลงทุนจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมได้อย่างไร? เพราะ ‘กองทุนรวมผสม’ ชื่อก็บอกว่าเป็นการลงทุนแบบผสม แล้วผสมแบบไหนถึงจะเหมาะกับนักลงทุนแต่ละประเภท? ผสมแบบไหนถึงจะเหมาะกับนักลงทุนแต่ละคน?

คำตอบคือ “พิจารณาจากสินทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุนเป็นหลัก” 

 

เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นกองทุนรวมผสม แต่ละกองทุนก็มีสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นเลือกจะลงทุนแตกต่างกันออกไป โดยขออนุญาตยกตัวอย่างกองทุนผสมทั้ง 3 กองของบลจ.ไทยพาณิชย์ อันได้แก่ SCBMPLUS, SCBGIN และ SCBGMT มาอธิบาย เพราะถึงแม้จะเป็นกองทุนรวมผสมเหมือนกัน แต่ก็มีรายละเอียดการลงทุนที่แตกต่างกันอยู่มาก

 

SCBMPLUS : นักลงทุนที่ต้องการเสี่ยงน้อยหน่อยเลือกกองทุนที่เน้น “ตราสารหนี้และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” 

SCBMPLUS
ข้อมูลจาก Fund Fact Sheet  บลจ.ไทยพาณิชย์ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

 

SCBMPLUS หรือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ มัลติ อินคัมพลัส เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย ดูจากพอร์ตการลงทุนจะเห็นว่าเน้นการลงทุนเงินฝากและตราสารหนี้ ในขณะที่บางส่วนถือลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อย่างกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน ภาพรวมจึงออกมาเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย โดยกองทุนรวมจะเป็นแบบสะสมมูลค่า คือมูลค่าหน่วยลงทุนจะโตไปเรื่อยๆ ตามเวลา หากนักลงทุนต้องการเงินสดเมื่อไหร่ก็สามารถแบ่งขายหรือขายหน่วยลงทุนทั้งหมดได้ตามความเหมาะสม

เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวน ปล่อยให้หน่วยลงทุนค่อยๆ โต ไม่เน้นสินทรัพย์เสี่ยงมากนัก

สามารถดูหนังสือชี้ชวน(FUND FACT SHEET) ได้ที่ goo.gl/tF7XHx

 

SCBGIN : นักลงทุนที่รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่มีกระแสเงินสดระหว่างลงทุน

SCBGINR
ข้อมูลจาก Fund Fact Sheet  บลจ.ไทยพาณิชย์ ณ 
วันที่ 31 มีนาคม 2560

 

SCBGIN หรือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัม เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ตราสารหนี้ หุ้น รวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ ดูจากพอร์ตการลงทุนจะเห็นว่าเน้นลงทุนในกองทุนรวมอย่าง DWSMOII:LX และ DIMOURD:LX ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ก็เน้นการลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นจากทั่วโลก สังเกตว่า SCBGIN จะเน้นการสร้างผลตอบแทนจากหลายประเทศซึ่งลดความเสี่ยงจากการกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคที่กว้างขึ้น มุมมองของ SCBGIN จึงมีลักษณะเป็นการบริหารทรัพย์สินแบบ absolute return โดยมีความผันผวนคาดการณ์ 5 – 8% ต่อปี จากการบริหารสินทรัพย์ที่หลากหลาย

โดยกองทุนรวม SCBGIN เป็นลักษณะรับซื้อคืนอัตโนมัติ คือผู้จัดการกองทุนจะมองภาพจังหวะเวลาและซื้อคืนหน่วยลงทุนตามความเหมาะสม เพื่อให้นักลงทุนมีกระแสเงินสดไปใช้ระหว่างที่ถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะมีการซื้อคืนอัตโนมัติปีละไม่เกิน 12 ครั้ง และการซื้อคืนอัตโนมัติแบบนี้มีข้อดีกว่าการปันผลคือเงินที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี 

เหมาะกับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ ต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น  และมีรายได้เป็นกระแสเงินสดตลอดการลงทุน

สามารถดูหนังสือชี้ชวน(FUND FACT SHEET) ได้ที่ goo.gl/Mm2Bjt

 

SCBGMT : นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและเน้นการเติบโตแบบทบต้น

SCBGMT หรือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลมัลติสตราทิจีส์ เพื่อผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ได้แก่ ตราสารหนี้ หุ้น รวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ สังเกตว่ากองทุนรวมแบบนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการบริหารกองทุนที่มุ่งเน้นผลตอบแทนที่มากขึ้น และต้องการความเข้าใจในการลงทุน SCBGMT มีนโยบายการลงทุนที่กว้างและหลากหลาย
นอกจากนี้ยังสามารถเลือกลงทุนได้จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ลักษณะการลงทุนน่าสนใจมาก แต่ด้วยความเสี่ยงที่สูงจากการลงทุน SCBGMT จะจำกัดการลงทุนเฉพาะผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย (มีข้อกำหนดว่าต้องมีสินทรัพย์หรือรายได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ หากสนใจสามารถสอบถามได้โดยตรงที่บลจ.ไทยพาณิชย์) รวมไปถึงกำหนดระยะเวลาการซื้อขายหน่วยลงทุนไว้ถี่น้อยกว่าปรกติ เพราะจะให้ซื้อขายเป็นรายเดือนเท่านั้น สังเกตได้ว่าสินทรัพย์ในขอบเขตที่ SCBGMT ลงทุนได้นั้นจะกว้างมาก ไล่ตั้งแต่ตราสารความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ไปจนถึงตราสารความเสี่ยงสูงอย่างตราสารอนุพันธ์ นักลงทุนที่สนใจการลงทุนที่หลากหลายและตื่นเต้นมากขึ้น กองทุนรวมผสมแบบนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดี เพราะปรกติจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นกองทุนรวมที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้กว้างขนาดนี้เลย 

โดยภาพรวม SCBGMT มีลักษณะคล้าย SCBGIN แต่จะเน้นบริหารเชิงรุกเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยมีเป้าหมายประมาณผลตอบแทนที่ 6 % ต่อปี นอกจากนี้ SCBGMT ยังเป็นกองทุนรวมชนิดสะสมมูลค่า นักลงทุนสามารถปล่อยให้มูลค่าหน่วยลงทุนโตไปเรื่อยๆ เพื่อสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวได้ หรือหากต้องการกระแสเงินสดมาใช้ นักลงทุนก็สามารถทยอยขายออกมาบ้างได้ตามความต้องการ

เหมาะกับนักลงทุนที่สนใจมองหาผลตอบแทนที่สูงจากสินทรัพย์ที่หลากหลาย และต้องการให้ผลตอบแทนทบต้นต่อไป SCBGMT ก็เป็นตัวเลือกที่น่าเก็บไปพิจารณามากทีเดียว

สามารถดูหนังสือชี้ชวน(FUND FACT SHEET) ได้ที่ goo.gl/B8NeGA

กองทุนรวมผสม

เล่ากันมายาวสิ่งที่จะสรุปคือ กองทุนรวมประเภทเดียวกันก็ใช่ว่าจะเหมาะกับนักลงทุนประเภทเดียวกัน

ยิ่ง กองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายการลงทุนที่กว้างมากอาจจะมีความเสี่ยงสูง กลาง หรือต่ำก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้และความเข้าใจในการลงทุนที่นักลงทุนต้องศึกษาก่อนเลือกกองทุนรวมทุกครั้ง

 

อย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวน อย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวน อย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวน มันสำคัญมากจริงๆ นะ !

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

 

บทความนี้เป็น Advertorial