ตลาดหุ้นแถบเอเชียถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่เย้ายวนใจนักลงทุนมาก
ถึงแม้ว่าลักษณะตลาดโดยทั่วไปของทวีปนี้อาจจะไม่ได้ใหญ่และแข็งแรงเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่อย่างทางตะวันตก เช่น ตลาด NYSE และตลาด NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา แต่ตลาดหุ้นเอเชียก็มีเสน่ห์อยู่ที่การเติบโตอย่างน่าสนใจในอนาคต เนื่องจากถ้าเทียบกับประชากรโลกแล้ว ประชากรในทวีปเอเชียยังดูมีแนวโน้มการเติบโตได้อีกมาก ทั้งในแง่จำนวนประชากร ค่าอายุเฉลี่ยประชากร รวมไปถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในประเทศ
จากข้อมูลของ worldpopulationreview จะพบว่าค่าเฉลี่ยของการเติบโตของประชากรโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0838 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ยุโรปมีค่าต่ำสุดที่ 0.0389 เปอร์เซ็นต์ อเมริกาเหนืออยู่ที่ 0.7389 เปอร์เซ็นต์ และเอเชียอยู่ที่ 0.9144 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของประชากรของเอเชียจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ถ้าเทียบตัวเลขกับภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือแล้วก็ถือว่าน่าสนใจกว่าอย่างเห็นได้ชัด และถึงแม้ว่าจะเทียบกับภูมิภาคอื่นที่มีการเติบโตของประชากรสูงกว่า แต่ถ้าเทียบในแง่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว เอเชียก็ถือว่ามีความน่าสนใจมากกว่าในแง่ของการลงทุน
นักลงทุนจะสามารถลงทุนในประเทศอื่นในเอเชียอย่างไรได้บ้าง?
การลงทุนในต่างประเทศนั้นเรียกได้ว่าเป็น “ท่ายาก” พอสมควร เพราะนอกจากวิธีการทำธุรกรรมที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่ามากแล้ว การเลือกหุ้นพิจารณาลงทุนก็ยากด้วยเช่นกัน เพราะนักลงทุนต้องเริ่มต้นศึกษาหุ้นที่ไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย ในสภาวะแวดล้อมทางประเพณี วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป หลายครั้งการลงทุนในต่างประเทศก็ยากจนน่าท้อใจ และกองทุนรวมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี
วันนี้ลงทุนศาสตร์หยิบเอากองทุนรวมที่มีพอร์ตการลงทุนในภูมิภาคเอเชียมาแกะไส้ในให้ดู 2 ตัว ได้แก่ ‘SCBAEM’ และ ‘SCBAPLUS’
SCBAEM : กองทุนเน้นการกระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เน้นหุ้นที่มีการเติบโตสูงและผลตอบแทนต่อเงินลงทุนดี
SCBAEM หรือ SCB ASIAN EMERGING MARKETS OPEN END FUND เป็นกองทุนเปิดของบลจ. ไทยพาณิชย์ โดยกองทุนดังกล่าวจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศที่มีชื่อว่า BGF Asian Growth Leaders Fund อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นนโยบายการลงทุนเชิงรุกในบริษัทที่อยู่ในทวีปเอเชียหรือทำธุรกิจอยู่ที่ทวีปเอเชีย โดยไม่รวมประเทศญี่ปุ่น ผู้จัดการกองทุนเน้นไปที่บริษัทที่มีการเติบโตของรายได้ และผลตอบแทนต่อเงินที่สูง
ที่มา : morningstar.co.uk (ข้อมูลวันที่ 31/05/2017)
จากผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีของกองทุนหลักที่ SCBAEM ไปลงทุนต่อ พบว่าพบตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมที่อยู่ในหมวดเดียวกันและดัชนีชี้วัดอย่างเห็นได้ชัด โดยจากช่วงระยะเวลา 5 ปี กองทุนเอาชนะดัชนีได้ถึง 4 ปี คือในปี 2013 ปี 2014 ปี 2016 และปี 2017 ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า MSCI AC Asia Ex Japan ดัชนีที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบกับกองทุนหลักนี้ โดยเฉลี่ย เท่ากับ 1.1 เปอร์เซ็นต์ 11.4 เปอร์เซ็นต์ 25.8 เปอร์เซ็นต์ และ 15.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยมีเพียงปี 2015 ที่น้อยกว่า แต่ผลตอบแทนก็ยังอยู่ในแดนบวก
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงหุ้นไส้ในที่กองทุนรวมนี้ถือพบว่า หุ้น 3 อันดับแรกที่กองทุนรวมนี้ถืออยู่ตามที่ได้ประกาศออกมาล่าสุดคือ
- Samsung Electronics Co Ltd บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์โทรศัพท์มือถือซัมซุงซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของโลกอยู่ในปัจจุบัน
- Tencent Holdings Ltd บริษัทไอทีเจ้าตลาดของประเทศจีน เจ้าของแอพพลิเคชัน WeChat ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารและโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดที่ประเทศจีน
- AIA Group Ltd บริษัทประกันชื่อดังระดับโลกของฮ่องกง โดยภาพรวมเห็นได้ชัดว่ากองทุนเน้นการลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน Megatrend ดูมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่สูง และให้ผลตอบแทนต่อเงินทุนค่อนข้างมาก
SCBAEM เหมาะกับใคร?
SCBAEM เหมาะกับนักลงทุนที่สนใจในศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย และยินดีที่จะถือกองทุนรวมได้ในระยะกลางหรือยาว ระหว่างลงทุนกองทุนจะไม่มีการจ่ายปันผล แต่เลือกที่จะสะสมมูลค่าเงินลงทุนเพื่อการเติบโตทบต้นไปแทน ผลตอบแทนของการลงทุนอาจผันผวนได้จากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นแต่ละประเทศ แต่การลงทุนในกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนในหุ้นหลายประเทศก็ช่วยลดความผันผวนไปได้ประมาณหนึ่ง
สามารถดูหนังสือชี้ชวน(FUND FACT SHEET) เพิ่มเติมได้ที่
https://www.scbam.com/medias/fund-doc/summary-prospectus/SCBAEM_SUM.pdf
SCBAPLUS : กองทุนเน้นการกระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เน้นการกระจายความเสี่ยงและการสร้างกระแสเงินสด *กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูง
SCBAPLUS หรือ SCB Asia Pacific Income Plus Fund เป็นกองทุนเปิดของบลจ. ไทยพาณิชย์ โดยกองทุนดังกล่าวจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศที่มีชื่อว่า JPMorgan Funds Asia Pacific Income Fund อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นนโยบายการลงทุนเชิงรุกในบริษัทที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิกหรือทำธุรกิจอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิก โดยไม่รวมประเทศญี่ปุ่น ผู้จัดการกองทุนเน้นไปที่สินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ที่มา : morningstar.co.uk (ข้อมูลวันที่ 31/05/2017)
จากผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีของกองทุนหลักที่ SCBAPLUS ไปลงทุนต่อ พบว่าผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมที่อยู่ในหมวดเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด โดยจากช่วงระยะเวลา 5 ปี กองทุนเอาชนะกองทุนรวมในหมวดเดียวกันได้ทุกปี แม้กระทั่งในปี 2017 ที่ผลตอบแทนจนถึงปัจจุบันของค่าเฉลี่ยกองทุนรวมในหมวดเดียวกันเป็นลบ แต่กองทุนก็ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ได้
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงหุ้นไส้ในที่กองทุนรวมนี้ถือพบว่า หุ้น 3 อันดับแรกที่กองทุนรวมนี้ถืออยู่ตามที่ได้ประกาศออกมาล่าสุดคือ
- Korea Electric Power Corp ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานความร้อนยักษ์ใหญ่ของเกาหลี หันไปดูค่าอัตราส่วนทางการเงินก็น่าสนใจมาก เพราะบริษัทดังกล่าวให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลมากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (PE ratio) ต่ำกว่า 5
- ในขณะที่อันดับสองคือบริษัท HSBC Holdings PLC บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีฐานธุรกิจจำนวนมากอยู่ในเอเชีย
- บริษัท CK Hutchison Holdings Ltd บริษัทโฮลดิ้งในฮ่องกงที่กระจายการลงทุนอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ ธุรกิจบริหารท่าเรือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสาธารณูปโภค ธุรกิจพลังงาน ไปจนถึงธุรกิจโทรคมนาคม
SCBAPLUS เหมาะกับใคร?
SCBAPLUS เหมาะกับนักลงทุนที่สนใจในศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย แต่ต้องการรายได้ที่สม่ำเสมอและผันผวนน้อยกว่า โดยกองทุนรวมจะมีบริการซื้อคืนอัตโนมัติที่ช่วยจ่ายกระแสเงินสดให้กับนักลงทุนตลอดระยะเวลาการลงทุน ซึ่งมีลักษณะคล้ายการจ่ายปันผลที่ผู้จัดการกองทุนจะบริหารช่วงเวลาที่จะซื้อคืนหน่วยลงทุนเพื่อคืนเงินแก่นักลงทุนตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ นักลงทุนดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ก็คือเป็นผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ตามนิยามคณะกรรมการ ก.ล.ต. และเป็นผู้มีเงินลงทุนสูง โดยลงทุนครั้งแรกในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ตั้งแต่ 550,000 บาทขึ้นไป
สามารถดูหนังสือชี้ชวน(FUND FACT SHEET) เพิ่มเติมได้ที่
https://www.scbam.com/medias/fund-doc/summary-prospectus/SCBAPLUS_SUM.pdf
SCBAEM และ SCBAPLUS ต่างกันอย่างไร?
ทั้งสองกองทุนเน้นการกระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเหมือนกัน แต่ SCBAEM จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะหุ้นที่มีการเติบโตสูงและผลตอบแทนต่อเงินลงทุนดี เน้นการสะสมความมั่งคั่งในระยาว ในขณะที่ SCBAPLUS มุ่งเน้นการลงทุนไปในสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลาย ตั้งแต่หุ้น ตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เน้นการกระจายความเสี่ยงและการสร้างกระแสเงินสด
ทั้งสองกองทุนจะเหมาะกับนักลงทุนที่สนใจในการเติบโตของทวีปเอเชียและสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้ แต่ SCBAEM จะเหมาะกับนักลงทุนที่เน้นการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว ไม่เน้นปันผล ชอบลงทุนในหุ้น และรับความเสี่ยงได้มากกว่า ในขณะที่ SCBAPLUS จะเหมาะกับนักลงทุนที่เน้นการกระจายความเสี่ยง สร้างผลตอบแทนในรูปของกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอผ่านการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติที่จะให้เงินสดคล้ายการจ่ายปันผลตลอดการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงเฉพาะจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ลงทุนได้
![[Review] ลงทุนในกองทุนทวีปเอเชีย... ขุมทรัพย์ใหม่ในการลงทุน](https://s3-ap-southeast-1.amazonaws.com/thepublisher/publishers/12/050ab7e4-90e0-4c2e-a6e1-eec457fb5c39__KongtunAsia%20(1).jpg)
ทวีปเอเชียยังคงดูมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก หากสนใจในการเติบโตนี้ ลองศึกษาการลงทุนในทวีปเอเชียไปด้วยกัน ไม่ว่ายังไงก็ตามนักลงทุนอย่าลืมศึกษาข้อมูล เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง และอ่านหนังสือชี้ชวนทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest