สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน กลับมาพบกับผมอีกครั้งครับ ช่วงนี้ต้องถือว่าเป็นช่วงที่ดีของตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 1,700 จุด และยังคงความร้อนแรงอยู่ต่อเนื่อง ท่านไหนที่เป็นนักลงทุนในหุ้น หรือว่าถือกองทุนหุ้นไว้ ก็คงจะหน้าชื่นตาบานกันเลยทีเดียวใช่ไหมละครับ
ในทางกลับกันเมื่อตลาดหุ้นขึ้นมาสูงขนาดนี้ การลงทุนเองก็ย่อมที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปด้วย ดังนั้น นักลงทุนเองก็ควรที่จะมีการบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นมาค่อนข้างสูงแบบนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่การจัดพอร์ตการลงทุนนั้น เราก็มักจะแบ่งเงินที่ลงทุนกับหุ้นออกมาบางส่วน เพื่อมาลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่สูงมาก เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตลาดเงิน แต่กระนั้น ผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนตราสารหนี้ หรือว่ากองทุนตลาดเงินนั้นก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ อยู่ราวๆ 2-3 % กว่าๆ เท่านั้นครับ ซึ่งอาจจะเหมาะเป็นที่พักเงินชั่วคราวมากกว่า
แต่หากนักลงทุนท่านไหนที่อยากจะได้ผลตอบแทนกลับติดมือกลับมาด้วย และเป็นการกระจายความเสี่ยงเพื่อการลงทุนระยะยาว ผมเองก็มักจะบอกนักลงทุนอยู่เสมอครับว่า จริงๆ แล้วมีสินทรัพย์อีกอย่างที่น่าสนใจ หากนักลงทุนเองชอบกระแสเงินสดที่ได้มาระหว่างการลงทุนไปด้วยเรื่อยๆ นั่นก็คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ / REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานครับ
เนื่องจากกองทุนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะให้รายได้ที่สม่ำเสมอกว่ากองทุนประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นปันผล หากนักลงทุนลองพิจารณาดูว่าการลงทุนส่วนใหญ่นั้นจะเน้นไปที่การเก็งกำไรของผู้จัดการกองทุน หากช่วงไหนที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ ติดลบมากๆ เข้า กองทุนไม่มีกำไรสุทธิที่จะจ่ายปันผลได้ แต่ว่ากองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐานนั้น รายได้ที่เข้ามาในกองทุนจะเกิดจากการ “เช่า” หรือว่า “ใช้บริการ” บนอสังหาฯ หรือว่าสินทรัพย์นั้นๆ ครับ
นี่จึงเป็นที่มาของรายได้ที่สม่ำเสมอ หากอสังหาฯ หรือว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในโครงสร้างพื้นฐานนั้น ยังคงถูกใช้งานจากผู้เช่าอย่างสม่ำเสมอนั่นเองครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ น่าสนใจใช่ไหมละ หลายๆ คนเองก็น่าจะคุ้นเคยกับการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯ (REITs) หรืออาจจะเคยได้ยินชื่อกันมาบาง แต่สำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อาจจะมีไม่กี่คนที่รู้จัก หรือว่ารู้จักแต่อาจจะไม่เคยลงทุนกัน วันนี้ผมจะพาไปรู้จักกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจกันนะครับ
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับ มันคือการจับเอาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มามัดรวมกัน เพื่อให้กับนักลงทุนได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นเจ้าของได้ยาก เช่น สนามบิน โรงไฟฟ้า รถไฟฟ้า ทางด่วน และเสาสัญญาณต่าง ๆ ครับ
ข้อดีมากๆ ของการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั่นคือ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้นั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า รถไฟฟ้า สนามบิน ท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ นอกจากนี้ธุรกิจยังสามารถปรับค่าบริการขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อ จึงไม่เสียโอกาสด้านการเติบโตอีกด้วย นี่จึงเป็นที่มาของรายได้ที่สม่ำเสมอนั่นเองครับ
นอกจากนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ถือหน่วยอีกด้วย โดยผู้ถือหน่วยที่เป็นนักลงทุนรายย่อยนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษีจากเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุน ส่วนนักลงทุนสถาบันจะได้รับการยกเว้นภาษีจากเงินปันผลทั้งหมด
โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่เป็นยุค 4.0 เรื่องการใช้ข้อมูลต่างๆ ของคนทั่วไปเป็นเรื่องจำเป็นมาก ดังนั้น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสาสัญญาณมือถือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งข้อมูลที่เป็นดิจิทัลต่าง ๆ เองจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในยุคนี้ไปแล้วครับ
ประเด็นสำคัญ คือ หากเราได้เป็นเจ้าของเครือข่ายที่ใหญ่มากๆ ก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่เราจะได้รายได้ที่สม่ำเสมอไปด้วย เนื่องจากมีคนมาเช่าสินทรัพย์ที่เราเป็นเจ้าของอยู่นั่นเองครับ
พอพูดถึงตรงนี้ หลายๆ คนน่าจะรู้แล้วว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้น คือกองทุนไหนกันแน่ กองทุนที่ผมจะมาเล่าในวันนี้ คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล หรือ ดีไอเอฟ (DIF) นั่นเองครับ
เนื่องจากว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE นั้นได้ประกาศแผนที่จะขาย หรือ ให้เช่าสิทธิรายได้ และสิทธิ์ให้เช่าเสาโทรคมนาคม และระบบใยแก้วนำแสงให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF นั่นก็หมายความว่า กองทุนนี้จะมีสินทรัพย์ที่จะไว้เพื่อเก็บกินค่าเช่าเพิ่มเติมขึ้นอีกนั้นเองครับ
เป็นผลทำให้กอง DIF ต้องทำการเพิ่มทุน เพื่อซื้อสินทรัพย์จาก TRUE เข้ามาเพิ่มเติมในกองทุน คำถามคือแล้วทำไม DIF ต้องเพิ่มทุนด้วย ลองนึกภาพตามดูนะครับ ถ้าหากว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ใน DIF นั้นมีเพียง 100 บาท อาจจะประกอบด้วย เสาสัญญาณต่างๆ และสร้างรายได้จากค่าเช่าให้กับเราได้ 20 บาท
ดังนั้น หากมีสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้ามาในกองทุนกลายเป็น 200 บาท และได้เสาเพิ่มเติม สามารถเก็บค่าเช่าได้เพิ่มเติมมากขึ้นเป็น 50 บาท ซึ่งดูแล้วน่าสนใจใช่ไหมละครับ กองทุนใหญ่ขึ้นเก็บค่าเช่าได้มากขึ้นไปด้วย ในทางกลับกันทาง TRUE เอง ก็ได้เงินจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน DIF ไปด้วยครับ
เลยเป็นที่มาของประกาศจาก บริษัท TRUE ที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าคณะกรรมการมีมติอนุมัติให้บริษัทย่อย 4 แห่ง ประกอบด้วย
บริษัท เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (AWC)
บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด(TUC)
บริษัท ทรู มูฟ จำกัด(TMV)
บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC)
ทั้งหมดนี้ ขายทรัพย์สิน + รายได้จากทรัพย์สิน + การให้สิทธิในการเช่า DIF ครับ ส่วนทาง DIF เองในรอบนี้ก็จะมีการลงทุน 2 ครั้ง แบ่งเป็น
การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นครั้งที่ 2 โดยมีราคา 12,898 ล้านบาท ด้วยการระดมทุนจะใช้วิธีการกู้เพียงอย่างเดียวครับ (โดยมีแผนกู้ผ่านธนาคารใหญ่ๆ เช่น KTB, SCB, BBL) โดยสินทรัพย์ที่ได้ก็อยู่ในตารางนี้เลยครับ
คือ ได้เสาโทรคมนาคมจาก AWC 149 เสา และจาก TUC ประมาณ 350 เสา รวมสินทรัพย์ทั้งหมดหลังการเพิ่มสินทรัพย์เป็น 12,000 กว่าต้นครับ และได้ระบบใยแก้วนำแสง + อุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณต่างๆ จาก TUC ยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร และจาก TMV + TICC อีกประมาณ 542 + 670 กิโลเมตร รวมเป็นแล้วเกือบ 63,000 กิโลเมตรเลยครับ
ส่วนการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานครั้งที่ 3 จะเป็นการกู้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และจะใช้วิธีเพิ่มทุนจากผู้ถือกองทุนเดิมฯ รวมเงินทุนไม่เกิน 58,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนหน่วยเพิ่มทุนแล้วไม่เกินคือ 4,300 ล้านหน่วย ครับ
สิ่งที่จะได้จากการลงทุนครั้งที่ 3 คือ ได้เสาจาก TUC ประมาณ 2,600 เสา และยังได้ใยแก้วนำแสงจาก TUC เพิ่มอีก 8,000 กว่ากิโลเมตร จาก TMV 6,000 กว่ากิโลเมตร และ TICC อีก 13,000 กว่ากิโลเมตร รวมใยแก้วนำแสงทั้งหมดประมาณ 90,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว
การลงทุนเพิ่มทั้ง 2 ครั้งนี้ ทำให้ทรัพย์สินกิจการของกองทุน DIF ครอบคลุมพื้นที่ไปทั่วประเทศ โดยมีทรัพย์สินทั้งหมด เป็นเสาโทรคมนาคมกว่า 15,000 เสา และใยแก้วนำแสงกว่า 90,000 กิโลเมตร ซึ่งพร้อมรองรับการขยายตัวทางเทคโนโลยีในอนาคต และเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับกอง DIF ที่ในอนาคตจะมีคนใช้สัญญาณต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ตามเทรนด์ของยุค 4.0 ครับ
แล้วผลตอบแทนละจะเป็นอย่างไร ?
เนื่องจาก DIF เองมีรายได้สม่ำเสมอจากค่าเช่า โดยหลังจากการขายแล้ว TRUE จะขอเช่าเสาจาก DIF เป็นระยะเวลา 15 - 16 ปี คิดเป็นค่าเช่า 5,900 ล้านบาทต่อปี ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีพอสมควรครับ จึงมีโอกาสที่จะจ่ายปันผลได้สูง หลายๆ บริษัทหลักทรัพย์เองได้คาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลอยู่ที่ประมาณ 7% ครับ
จะเห็นได้ว่าการขายสินทรัพย์ของ TRUE เข้ากองทุน DIF นั้นก็ เพื่อนำเงินไปลงทุนต่อยอดธุรกิจ และพัฒนาโครงข่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเงินสดในกระเป๋าพร้อมที่จะเก็บไว้ประมูลคลื่นจาก กสทช. เพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการชำระคืนหนี้ โดยอาจจะนำเงินที่ได้ไปลดหนี้จำนวน 3-3.5 หมื่นล้านบาท เอาเป็นว่าลดภาระหนี้ และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไปได้เยอะทีเดียว ส่วนค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้กับกอง DIF ก็ยังลดภาษีได้เหมือนกับที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร
ซึ่งทางผู้ถือหน่วยลงทุนจากการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่นั้น นอกจากเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของสัดส่วนการถือหน่วยแล้ว ยังได้รับการประมานการว่า จะได้เงินปันผลต่อหน่วยลงทุน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 สตางค์จากการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 และอย่างน้อย 6 สตางค์ ถ้าการเพิ่มทุนทั้งครั้งที่ 2 และ 3 สำเร็จอีกด้วย
ผมคิดว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ น่าจะทำให้กลุ่มธุรกิจของ TRUE ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน DIF ก็ได้รับค่าเช่าเสาสัญญาณต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น หรือพูดว่าได้แหล่งที่มาของรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วยนั่นเองครับ
นอกจากนี้ระยะเวลาสัญญาเดิม (ขายรายได้ + เช่า) ที่จะทยอยหมดลงในช่วงปี 2568 - 2570 ก็ขยายต่อไปถึงปี 2576 หรือเพิ่มอีก 6 - 8 ปี ซึ่งหมดสัญญาการใช้คลื่น 1800 MHz พอดีครับ และการเพิ่มทุนก็ยังช่วยเรื่องการเพิ่มหน่วยลงทุน จึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายกองทุน DIF เรียกได้ว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ถือหน่วยเดิม เพราะว่าเป็นการเพิ่มโอกาสที่ให้นักลงทุนใหม่ๆ เข้ามาซื้อขายเพิ่มขึ้นด้วยครับ
ผมหวังว่า บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าใจแนวคิดการลงทุนกับกองทุนลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นนะครับ ส่วนคนที่สนใจอยากได้กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอนั้น นี่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจครับ
แต่ทั้งนี้เวลาที่เราลงทุนกับกองทุนอสังหาฯ (REITs) หรือกับโครงสร้างพื้นฐาน เราเองก็ควรที่จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยมีการกระจายการลงทุนไปยังกองทุนหลายๆ กองทุนที่มีความแตกต่างกัน เช่น โรงไฟฟ้า ทางด่วน รถไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้รายได้จากเงินปันผลมีความสม่ำเสมอมากขึ้น และถ้าหากนักลงทุนยังไม่มีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเสาสัญญาณแล้วละก็ กองทุน DIF ถือว่าเป็นอีกกองทุนที่น่าสนใจครับ
วันนี้ผมขอลาไปก่อน แล้วพบกันครั้งหน้านะครับ สวัสดีครับ
หมายเหตุ: Review นี้ทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจธุรกิจ และโอกาสการเติบโต เพื่อที่จะโปรโมทกองทุนในสไตล์ของ คลินิกกองทุน
บทความนี้เป็น Advertorial