เชื่อหรือไม่ว่า...พฤติกรรมการใช้จ่ายบางอย่างเพื่อภาพลักษณ์ทางสังคม ที่บ่อยจนเกินไป อาจบั่นทอนเงินในกระเป๋าของคุณแบบไม่รู้ตัว มาทำความเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ และหาทางปรับเปลี่ยนกันเถอะ

ใครเคยเป็นบ้าง? เวลาเข้าร้านหรูๆ มีสายตาคนจับจ้อง เรามักจะยอมจ่ายเงินแพงกว่าปกติได้
แต่พอไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครสนใจใครอย่างตลาดสด เรากลับต่อราคาเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุดซะงั้น

ลองมาดูกันดีกว่าว่าอะไรอยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านี้ โดย #aomMONEY ได้รวบรวมเหตุผลมาฝาก จะมีข้อไหนที่ตรงกับคุณบ้าง มาดูกันเลย

1. อยากสร้างความประทับใจให้คนอื่น

จากผลทดสอบทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม พบว่า บ่อยครั้งที่คนเรามีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่น ดังนั้น การได้จ่ายเงินมากกว่า หรือ ใช้ของที่หรูหรา ก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความประทับใจเมื่อเราคิดว่า กำลังมีคนมองเราอยู่ แต่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย ไม่มีใครสนใจใคร เราก็มักจะกล้าแสดงความเป็นตัวเองออกมา และเอ่ยปากขอต่อรองราคานั่นเอง

2. ไม่ต้องการให้คนอื่นมองเราแย่

หลายครั้งพออยู่ในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหารสุดหรู หรือ ร้านคาเฟ่สุดฮิต เรามักจะให้ทิปกับเด็กเสิร์ฟโดยไม่รู้ตัว เพราะจิตใต้สำนึก สั่งว่า ถ้าเราไม่ให้จะถูกมองไม่ดี เราจึงยอมจ่ายเพื่อภาพลักษณ์ทางสังคม ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้นก็ตาม

3. รู้สึกผ่อนคลายในสถานที่หรูหรา

เคยสังเกตมั้ย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ช็อปสินค้าแบรนด์เนม มักถูกออกแบบให้มีความหรูหราดูดี เพื่อทำให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำและเพลิดเพลินไปกับความไฮโซ จนลืมความกังวลเรื่องการใช้จ่ายเงินในอนาคต เผลออีกทีเงินก็แทบหมดกระเป๋าแล้ว

4. รู้สึกยินดีที่จะจ่ายเพื่อความพอใจของตัวเอง

โดยธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเราเลือกได้ เรามักจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขเสมอ อีกทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ บอกไว้ชัดเจนว่า คนเราต้องการความพึงพอใจสูงสุดบนเงื่อนไขที่มี ยิ่งถ้าราคาที่ต้องจ่าย ไม่ได้เกินกำลัง เรามักยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับความพอใจและความสุขได้

มาถึงตรงนี้ มีข้อไหนที่ตรงกับคุณบ้างไหมครับ ถ้าไม่ ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะการศึกษาทางจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมสมัยใหม่จำนวนมาก ได้เปิดเผยแล้วว่า จริงๆ มนุษย์ไม่ได้ทำทุกอย่างด้วยเหตุผลเสมอไป มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ซื้อสินค้าแบบฟุ่มเฟือย โดยไม่สอดคล้องกับฐานะทางการเงินที่จะสามารถซื้อได้

อีกทั้งงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ Gerald Zaltman จาก Harvard University ที่ศึกษาพฤติกรรมและสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ผ่านหนังสือ "How Customers Think: Essential Insights into the Mind of the Market" ชี้ชัดว่า 95% ของการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคมาจาก “จิตใต้สำนึก” ส่วนอีก 5% มาจากเรื่องของ “เหตุผล“

สุดท้ายแล้ว การใช้เงินเพื่อรักษาภาพลักษณ์ หรือ เพื่อสนองความพึงพอใจของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาห้ามปรามกันนะครับ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราวางแผนการใช้จ่ายไม่ดี ใช้จ่ายเกินกำลัง และเกินความจำเป็น พฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจทำให้เงินในกระเป๋าของคุณหมดโดยไม่รู้ตัวได้ อาจจะลองปรับเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มวางแผนก่อนใช้จ่าย เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยใช้ฟุ่มเฟือย เป็นเงินออม และนำไปลงทุนคุณอาจจะได้เห็นเงินก้อนใหญ่ให้ชื่นใจก็ได้นะครับ