สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับตอนที่ 3 ของซีรีส์ความรู้ด้านประกันชีวิตกันนะครับ จากเมื่อครั้งตอนที่ 1 ที่ผมเคยได้อธิบายและให้ความรู้ในส่วนของประกันชีวิตแต่ละแบบไปแล้ว (อ่านตอนที่1 ได้ที่ [ซีรีย์] ซื้อประกันอย่างให้ให้ถูกต้องและสบายใจ (ตอนที่1) ) มาตอนนี้ ผมจะขอยกเอาประกันชีวิตแบบพิเศษขึ้นมาอธิบายให้ความรู้กันแบบเจาะลึกกันซักหน่อย เพราะเชื่อว่า หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังไม่คุ้นเคยกับประกันชีวิตแบบนี้กันซักเท่าไหร่ ซึ่งนั้นก็คือประกันชีวิตแบบ “ควบการลงทุน” หรือแบบ Unit-Linked นั่นเองครับ
ความแตกต่างระหว่าง โครงสร้างประกันชีวิตแบบทั่วไป และแบบควบการลงทุน
ก่อนจะไปรู้จักกับประกันชีวิตควบการลงทุน (ต่อไปนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า “ยูนิตลิงค์” (Unit-Linked) นะครับ) ผมอยากจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ หรือโครงสร้างเบื้องหลังของการทำประกันชีวิตทั่วไปกันสักหน่อย เพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่างของประกันชีวิตแบบทั่วไป กับแบบยูนิตลิงค์กันนะครับ
สำหรับประกันชีวิตทั่วไป (แบบตลอดชีพ, สะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ) โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไป บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นการทำประกันชีวิตให้เรานั่นแหละครับ) กับ 2) ส่วนที่เอาไปบริหารจัดการ โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (ตามนโยบายบริหารของแต่ละบริษัทประกัน) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา แล้วบริษัทจะดึงเอาผลตอบแทนที่ได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็น “เงินคืน” ตามสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกัน หรือสะสมเป็น “มูลค่าเงินสด” อยู่ในกรมธรรม์ สำหรับประกันชีวิตโดยทั่วไป ส่วนใหญ่บริษัทจะมีนโยบายลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากนัก (เช่นลงทุนในเงินฝาก, ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก อาจจะมีลงทุนในหุ้นบ้าง เป็นส่วนน้อย) เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายผลตอบแทนที่เป็น เงินคืน ซึ่งมีการ “การันตีผลตอบแทน” (เป็น % ของทุนประกัน) ให้กับผู้เอาประกัน ดังนั้น บริษัทจะไปลงทุนอะไรที่เสี่ยงต่อการขาดทุนมากไม่ได้
ซึ่งสัดส่วนของเงินทั้ง 2 ส่วน คือส่วนที่ 1) กับส่วนที่ 2) นี้เองครับ ที่ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่างๆ ที่มีผลตอบแทน และทุนประกันคุ้มครองชีวิตที่ได้ที่แตกต่างกัน ดังนี้
แต่สำหรับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แล้ว แทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 2) ไปลงทุนแทนเรา โดยต้องลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำๆอย่างเดียว บริษัทก็จะให้เราสามารถ “เลือก” ลงทุนด้วยตัวเอง ผ่าน “กองทุนรวม” ที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เราต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปเลยครับ
ถึงจุดนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วมันต่างจากการไปลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปยังไง?” หรือ “แล้วทำไมต้องมาซื้อยูนิตลิงค์ ไปซื้อกองทุนรวมทั่วไป ไม่ดีกว่าเหรอ?” คำตอบก็คือ เราไม่สามารถเอายูนิตลิงค์กับกองทุนรวมมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงครับ เพราะยูนิตลิงค์แม้จะมีการลงทุนด้วย แต่สุดท้ายหัวใจของมันก็คือการทำประกัน ที่มีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้หากดูเฉพาะแค่ผลตอบแทน มันย่อมน้อยกว่าการไปลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น จะเปรียบเทียบกันเฉพาะแต่ในแง่ของผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องดูในแง่ของการคุ้มครองชีวิตด้วย เช่น สำหรับคนที่เอาเงินไปลงทุนเอง หากเสียชีวิตกะทันหัน ในช่วงที่ผลตอบแทนขาดทุนอยู่พอดี ลูกหลานก็จะได้รับมรดกเท่ากับมูลค่าการลงทุนที่กำลังขาดทุนอยู่ แต่หากเป็นยูนิตลิงค์ แม้ผู้เอาประกันจะจากไปขณะที่มูลค่าเงินสด หรือมูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์ลดต่ำลงจากผลการลงทุนที่ขาดทุน ลูกหลานหรือผู้เอาประกัน ก็จะได้รับเป็นเงินเอาประกันที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(ที่กำลังขาดทุนอยู่) แน่ๆ จึงถือเป็นการทำประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงหากเสียชีวิต ตรงนี้ด้วยที่ทำให้ต่างจากการลงทุนทั่วไปอย่างชัดเจน
นอกจากจะสามารถให้เราเลือกบริหารการลงทุนในเงินส่วนที่ 2) เองได้แล้ว ยูนิตลิงค์ยังสามารถให้เรา “กำหนดสัดส่วน” ระหว่างความคุ้มครองตามกรมธรรม์ กับส่วนของเงินลงทุนเองได้ (กำหนดสัดส่วนระหว่างเงินส่วนที่ 1) กับ 2) ด้วยตัวเองนั่นแหละครับ) ว่าจะให้มีสัดส่วนของความคุ้มครองชีวิตหรือการลงทุนมากกว่ากัน ถ้าเราเลือกให้สัดส่วนของความคุ้มครองสูงขึ้น ก็จะทำให้เราได้ทุนประกันที่สูงขึ้น (หรือมองอีกมุมหนึ่งคือ ถ้าเราเลือก/ปรับให้ทุนประกันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยของเราก็จะสูงขึ้น) แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้สัดส่วนของเงินที่นำไปลงทุนลดลง ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ลดลงตาม มูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(จากการลงทุน)ของเราก็จะโตช้าลง ดังนั้น เราสามารถปรับเพิ่ม/ลด ทุนประกัน/เงินลงทุน ตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุเองได้ ช่วงอายุไหนที่เรามีความต้องการคุ้มครองชีวิตมาก (เช่น มีลูก หรือมีหนี้สินเพิ่ม) เราก็เลือกปรับทุนประกันสูงขึ้น หรือช่วงไหนที่เราไม่มีภาระทางการเงินแล้ว เราก็ปรับลดทุนประกันให้ต่ำลง เพื่อให้มีสัดส่วนของเงินลงทุนมากขึ้น มูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์จะได้เพิ่มสูงขึ้น เอาไว้ถอนใช้ยามจำเป็นตามเป้าหมายทางการเงินของชีวิต (เช่น เป็นค่าเล่าเรียนลูก หรือใช้ตอนเกษียณอายุ) ที่เราต้องการได้ครับ
ประเภทของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์และความแตกต่าง
โดยส่วนใหญ่ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์จะมีอยู่ 2 ประเภทครับ คือแบบ “จ่ายเบี้ยรายงวด” หรือ RP (Regular Premium) และแบบ “จ่ายเบี้ยครั้งเดียว” หรือ SP (Single Premium) ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้ครับ
เพราะฉะนั้น อาจจะพอสรุปได้คร่าวๆว่า RP จะผลตอบแทนต่ำกว่า SP (เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า) แต่จะทำทุนประกันได้สูงกว่า RP จึงเหมาะกับการทำประกันควบการลงทุนที่เน้นการคุ้มครองชีวิตมากกว่า SP ที่เหมาะกับการทำประกันควบการลงทุนที่เน้นเรื่องของผลตอบแทนมากกว่าครับ
สรุปข้อดี / ข้อเสีย จุดเด่น / จุดด้อย ของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์
ข้อดี / จุดเด่น
ข้อเสีย / จุดด้อย
ตัวอย่างประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์
ปัจจุบันนี้มีบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งที่มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกมาบ้างแล้ว ตัวอย่างของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แบบนี้ก็เช่น “เมืองไทย ยูนิตลิงค์ 1” ทั้งแบบ RP และแบบ SP ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งก็จะมีลักษณะและรูปแบบของแบบประกันตามที่ได้อธิบายไป โดยหากเป็นแบบ RP จะสามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อปี และสามารถเลือกทุนประกันขั้นต่ำได้ไม่ต่ำกว่า 15 เท่าของเบี้ยประกัน ขั้นสูงได้ไม่เกิน 80 เท่าของเบี้ยประกัน ส่วนแบบ SP เลือกจ่ายเบี้ยประกันได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 75,000 บาท สามารถเลือกทุนประกันขั้นต่ำได้ไม่ต่ำกว่า 1.25 เท่าของเบี้ยประกัน ขั้นสูงได้ไม่เกิน 12.5 เท่าของเบี้ยประกัน (ซึ่งขั้นต่ำขั้นสูงของทั้ง 2 แบบเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อายุไม่เกิน 40 ปี เท่านั้น ยิ่งอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งได้จำนวนเท่าน้อยลง)
ในส่วนของกองทุนรวมที่บริษัทคัดเลือกมา จะมีทั้งประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้, กองทุนรวมแบบผสม (ตราสารหนี้ + หุ้น), กองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น), กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ (หุ้นต่างประเทศ) รวมถึงกองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก อย่างทองคำ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนจาก บลจ. กสิกรไทย เป็นหลัก เช่น กองทุน K-CBOND (ตราสารหนี้), K-2500 (แบบผสมหุ้นไม่เกิน 20%), K-CHINA (หุ้นจีน) นอกจากนั้นก็มีกองทุนยอดนิยมจากบลจ.อเบอร์ดีน อย่างเช่น กองทุน ABSM (อเบอร์ดีสมอลแค็พ : หุ้นขนาดกลาง-เล็ก) และจากบลจ.กรุงศรี อย่างกองทุน KFSDIV (หุ้นปันผล) มาให้เลือกด้วยเช่นกัน
สรุปความเห็น
ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ ถือเป็นสินค้าทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการประกันชีวิตในไทย ที่จับเอาประโยชน์ของการคุ้มครองชีวิต มาผสมกับประโยชน์ของการลงทุนในรูปแบบของกองทุนรวม เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความยืดหยุ่น ที่ผู้ทำประกันมีอิสระที่จะเลือกสัดส่วนของการคุ้มครองชีวิต และการลงทุน รวมถึงบริหารจัดการการลงทุนเองได้ แต่นั่นก็คือข้อควรระวัง เพราะคนที่คิดจะซื้อประกันชีวิตแบบนี้ก็ควรจะต้องมีความรู้เรื่องการลงทุน, การจัดพอร์ตการลงทุน และการบริหารพอร์ตการลงทุน รวมถึงความเข้าใจเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุนอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้น อาจเกิดความเสียหายต่อมูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์ของตัวเองได้ ดังนั้น หากใครสนใจ ก็ขอให้ศึกษารายละเอียดให้ดี และหากคิดว่าตัวเองมีความรู้เรื่องของการลงทุนไม่มากพอ ก็ต้องศึกษาข้อมูลจากตัวแทนที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant) มาช่วยให้คำแนะนำในการลงทุนให้เรา หรือถ้าจะให้ดีก็ควรเป็น ที่ปรึกษาหรือนักวางแผนทางการเงินที่มีความรู้เรื่องการบริหารพอร์ตการลงทุนเป็นอย่างดี มาคอยให้คำแนะนำ ถึงจะอุ่นใจครับ ก็ขอให้เลือกตัวแทน หรือนักวางแผนฯ กันให้ดีนะครับ ^^
© 2017 LikeMe Co., Ltd. All Right Reserved.