จากคราวที่แล้ว ที่ผมได้สอนวิธีการคำนวณหาวงเงินการทำ "ประกันชีวิต" ที่เหมาะสมไปเรียบร้อยแล้ว (ตามลิงค์บทความนี้ เราควรจะทำประกันชีวิตเท่าไหร่ ถึงจะพอเหมาะกับตัวเอง) ซึ่งอาจจะทำให้บางคนพบปัญหาของตัวเองว่า ได้ทำประกันชีวิตไว้มากเกินความจำเป็น บางคนอาจจะพบว่า ตัวเองทำผิดประเภท เลือกแบบประกันได้ไม่สอดคล้องกับความจำเป็น จึงไม่อยากจะทำต่อ หรือบางคนอาจจะไม่ได้วางแผนทำประกันชีวิตไว้ล่วงหน้า ทำให้จ่ายเบี้ยหนักเกินไปจนจ่ายต่อไม่ไหว แต่มีทางออกหรือตัวเลือกอะไรบ้าง หากเราคิดจะหยุดจ่ายเบี้ย ไม่ต้องการทำประกันชีวิตตัวนี้ต่ออีกแล้ว ปิดกรมธรรม์ไปเลยดีไหม?

ใจเย็นๆก่อน เพราะแท้จริงแล้ว เรามีทางเลือกมากกว่านั้น และบางทีทางเลือกอื่นอาจจะให้ผลประโยชน์ได้ดีกว่าการยกเลิกกรมธรรม์อีกด้วย!

ซึ่งหากใครก็ตามที่ต้องการหยุดจ่ายเบี้ย บริษัทประกันชีวิต จะมีสิทธิ์ให้เราเลือกใช้อยู่ด้วยกัน 3 สิทธิ์ครับ นั่นก็คือ

  • สิทธิ์การเวนคืนมูลค่าเงินสดกรมธรรม์
  • สิทธิ์การใช้มูลค่าเงินสำเร็จ
  • สิทธิ์การขยายเวลาคุ้มครอง

ซึ่งความหมาย และผลประโยชน์ ที่เราจะได้ของแต่ละสิทธิ์ เมื่อเราตั้งใจจะหยุดจ่ายเบี้ย มีดังนี้

1. เวนคืนมูลค่าเงินสด

คือ การหยุดจ่ายเบี้ย แล้วได้เงินสดก้อนหนึ่งคืนทันที โดยที่เงินสดที่ได้ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไปก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ เงินสดที่ได้ก็จะได้น้อย) และสัญญาถือเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีความคุ้มครองอีกต่อไป (ปิดกรมธรรม์เลย)

2. เงินสำเร็จ

คือ การหยุดจ่ายเบี้ย แต่ยังมีความคุ้มครองต่อไปจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่ความคุ้มครองที่มีอยู่อาจจะลดลง และอาจจะได้เงินก้อนหนึ่งคืนทันทีหรือไม่มีก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ ความคุ้มครองอาจจะลดลงเยอะ และไม่มีเงินคืนทันที) เมื่อครบสัญญาก็จะได้เงินคืนอีกก้อนหนึ่ง จำนวนเท่ากับทุนประกันที่ลดลง

3. ขยายเวลา

คือ การหยุดจ่ายเบี้ย แต่ยังมีความคุ้มครองอยู่เท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองอาจจะลดน้อยลงกว่าเดิม และอาจจะได้เงินก้อนหนึ่งคืนทันที หรือได้เงินตอนครบสัญญาด้วยหรือไม่ก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ ระยะเวลาคุ้มครองก็อาจจะขยายต่อไปจากวันที่หยุดจ่ายเบี้ยไม่นานนัก และไม่ครบสัญญา และไม่มีเงินคืนทันที หรือไม่มีเงินตอนครบสัญญา)

ซึ่งทั้งหมดนั้น จะได้เงินคืนเท่าไหร่ ความคุ้มครองจะลดลงหรือไม่หรือลดเหลือเท่าไหร่ หรือจะคุ้มครองต่อไปอีกกี่ปี ก็ต้องมานั่งคำนวณกัน ตามตารางมูลค่าเงินสด ซึ่งสามารถหาดูได้ในกรมธรรม์ และเนื่องจากในตาราง จะเป็นตัวเลขของ “ผลประโยชน์ ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกัน) 1,000 บาท” เวลาคำนวณ จึงให้เอาตัวเลขผลประโยชน์ ตั้ง หารด้วย 1,000 แล้วนำไปคูณกับทุนประกันภัยที่เราซื้อ

เช่น มูลค่ากรมธรรม์ของการใช้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ ณ ปีที่ 10 เท่ากับ 581 บาท ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท แล้วเราทำทุนประกันไว้ 100,000 บาท หากใช้สิทธิ์เวนคืน เราจะได้เงินสดคืนเท่ากับ (581/1,000) x 100,000 = 58,100 บาท นั่นเองครับ

เอาล่ะครับ เมื่อเราทราบความหมายและผลประโยชน์ของแต่ละสิทธิ์ และวิธีแล้ว ผมจะลองยกตัวอย่าง สักกรณีหนึ่งให้ดูว่า หากหยุดจ่ายเบี้ยแล้ว ผลประโยชน์ของแต่ละสิทธิ์จะคำนวณยังไงและเป็นเท่าไหร่

EX ตัวอย่าง นางสาว B อายุ 32 ปี ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ของบ.ประกันชีวิตที่หนึ่งไว้ ซึ่งเป็นแบบที่จ่ายเบี้ย 15 ปี มีสัญญาคุ้มครอง 30 ปี โดยซื้อไว้ที่ทุนประกัน 300,000 บาท ค่าเบี้ย 24,780 บาทต่อปี แต่จ่ายเบี้ยมาได้แค่ 5 ปี ก็มีเหตุให้ไม่ต้องการจ่ายเบี้ยต่อ จึงกำลังพิจารณาว่าควรจะใช้สิทธิ์ไหนดี โดยแต่ละสิทธิ์มีมูลค่าตามตารางมูลค่าเงินสด ดังนี้

ซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าของสิทธิ์ต่างๆ ณ สิ้นปีที่ 5 ได้ดังนี้

  • เวนคืนเงินสด = (215/1,000) x 300,000 = 64,500 บาท
  • เงินสำเร็จ เหลือความคุ้มครอง = (517/1,000) x 300,000 = 155,100 บาท
    ได้เงินคืนตอนครบสัญญาอีก = 155,100 บาท
  • ขยายเวลา คุ้มครองต่อไปอีก = 25 ปี (ทุนประกัน 300,000 เท่าเดิม)
    ได้เงินคืนตอนครบสัญญาอีก = (421/1,000) x 300,000 = 126,300 บาท

โดยจ่ายค่าเบี้ยมาแล้วทั้งหมด รวมเป็นเงิน 24,780 x 5 = 123,900 บาท

ซึ่งนั่นก็แปลว่า ถ้าใช้สิทธิ์เวนคืนมูลค่าเงินสด จะได้เงินสดคืนทันที 64,500 บาท ขณะที่จ่ายเบี้ยไปทั้งหมด 123,900 เท่ากับขาดทุนไป 59,400 บาท ถ้าใช้สิทธิ์ใช้มูลค่าเงินสำเร็จ จะคุ้มครองต่อไปจนครบสัญญาที่ 30 ปี แต่ความคุ้มครองจะลดลงจาก 300,000 บาท เหลือ 155,100 บาท โดยครบสัญญาได้เงินคืน 155,100 บาท ถ้าใช้สิทธิ์ขยายเวลาคุ้มครอง จะคุ้มครองต่อไปอีก 25 ปี เท่ากับว่าคุ้มครองจนครบสัญญาที่ 30 ปี เช่นเดียวกัน โดยที่ความคุ้มครองยังอยู่ที่ 300,000 บาทเหมือนเดิม แถมได้เงินตอนครบสัญญาอีก 126,300 บาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่า

  • ถ้าไม่รีบร้อนใช้เงิน และไม่ได้เน้นความคุ้มครอง สิทธิ์มูลค่าเงินสำเร็จจะดีที่สุด เพราะได้เงินตอนครบสัญญามากที่สุด
  • ถ้าเน้นความคุ้มครอง สิทธิ์ขยายเวลา จะดีที่สุด เพราะยังได้ความคุ้มครองเต็มๆเท่าเดิม และคุ้มครองจนครบสัญญาเหมือนเดิม
  • ถ้าต้องการเงินก้อนในทันที และไม่ได้เน้นความคุ้มครอง สิทธิ์เวนคืนเงินสด จะเหมาะสมที่สุด เพราะจะได้เงินสดคืนในทันที

ดังนั้น หากถามว่า จะเลือกใช้สิทธิ์ไหนดี ก็ต้องถามตัวเองดูครับ ว่าเรามีความจำเป็นด้านไหนที่สุด ถ้าต้องการเงินสด กรณีฉุกเฉิน หรือไม่ต้องการความคุ้มครองอีกต่อไปแล้ว = ก็เลือกใช้วิธีเวนคืนมูลค่าเงินสด ถ้าไม่ได้มีเหตุจำเป็น ต้องใช้เงินสดสำรองเร่งด่วน หรือยังต้องการความคุ้มครองต่อไป = ก็เลือกวิธีเงินสำเร็จ หรือขยายเวลา ถ้าทั้ง 2 วิธี ยังทำให้เรามีความคุ้มครองไปจนครบสัญญา ก็ควรเลือกแบบขยายเวลา เพราะความคุ้มคร&