สวัสดีครับ ช่วงนี้ผมอาจจะเขียนบทความ ลงใน Aommoney และ บล็อกภาษีข้างถนน บ่อยสักหน่อยนะครับ (อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ TwT) เนื่องจากช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ มักจะมีคำถามภาษีมาเป็นจำนวนมาก และบางคำถามผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายคนที่กำลังวางแผนภาษีในช่วงปลายปีนี้ครับ

วันนี้.. เลยตัดสินใจหยิบยกบางเรื่องราวมาคำนวณภาษีและใช้เป็นกรณีศึกษาให้ดูครับ พร้อมกับตั้งชื่อเป็นซีรีย์ใหม่ที่มีชื่อว่า "มีรายได้แบบนี้ เสียภาษียังไง" และถ้าใครมีปัญหาภาษีอยากสอบถาม หรืออยากให้ลองทำเป็นกรณีตัวอย่าง สามารถส่งมาได้ที่กล่องข้อความเพจ @TAXBugnoms ได้เลยคร้าบบ

โอเค.. กลับมาว่ากันต่อดีกว่าครับ สำหรับเรื่องวันนี้ที่ยกมาให้ดูกัน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำหรับคนที่มีรายได้หลายทางและอยากทราบวิธีคำนวณภาษีของตัวเองอย่างถูกต้องครับ

Q : สวัสดีครับพี่หนอม ผมขอคำปรึกษาพี่หนอมหน่อยนะครับพี่ ผมอยากทราบกรณีการเสียภาษีนะครับ ตอนนี้ผมทำงานออฟฟิตอยู่ และ เปิดร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีนะครับ อันนี้ ตอนเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคล ต้องยื่นรายได้ ทั้งสองอย่างมารวมกันและคิดเรทภาษี หรือ แยกของใครของมันนะครับแล้วคิดเรทภาษีของแต่ละอันไปนะครับผม ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ครับ

รายได้

- เงินเดือน (10 เดือน) 470,000 บาท
- ยอดขายสินค้า (เริ่มขายตั้งแต่เดือนสิงหาคม) 160,000 บาท 

ค่าลดหย่อน

- บุตรอายุ 8 เดือนจำนวน  1 คน (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)
- เลี้ยงดูคุณพ่อพิการจำนวน 1 คน (อายุไม่ถึง 60 ปี)
- ประกันสังคมจำนวน 7,500 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,875 บาท
- ดอกเบี้ยบ้านจำนวน 45,000 บาท
- ทำบุญในวัดไทยจำนวน 17,800 บาท

และสุดท้าย... ภาษีที่จ่ายไประหว่างปี  (หัก ณ ที่จ่าย) 7,887.37 บาท

เรามาลองคำนวณภาษีกันเถอะ

ทบทวนกันอีกทีครับ สำหรับวิธีการคำนวณภาษีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วิธีเงินได้สุทธิ และ วิธีเงินได้พึงประเมิน สำหรับคนที่ยังงงๆในส่วนนี้ผมขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่องหลักการคำนวณเพิ่มเติมได้ที่ ซีรีย์ภาษีง้ายยง่าย ด้วยนะครับ

วิธีเงินได้สุทธิ คำนวณโดยใช้สูตร
[(เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี

วิธีเงินได้พึงประเมิน คำนวณโดยใช้สูตร
เงินได้(ที่ไม่ใช่เงินเดือน) x 0.5%

โดยวิธีเงินได้พึงประเมินนั้น จะใช้ในกรณีที่เรามีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนเกินกว่า 1,000,000 บาทต่อปี ถึงจะใช้วิธีในการคำนวณและนำมาเปรียบเทียบกับวิธีแรก แล้วเลือกวิธีที่เสียภาษีมากกว่าครับ

แต่เนื่องจากในกรณีนี้เงินได้อื่นนอกจากเงินเดือนเราไม่เกิน 1,000,000 บาท (มีแค่ 160,000 บาท) ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้พึงประเมินครับ

เมื่อได้ข้อมูลและวิธีการครบแล้ว เรามาเริ่มต้นคำนวณภาษีในส่วนแรกกันเลย นั่นคือ ส่วนของเงินได้ - ค่าใช้จ่าย กันก่อนครับ โดยหลักการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทเป็นดังนี้ครับ

  • เงินเดือนถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงสุด 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  • รายได้จากการค้าขายถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ แบบเหมาในอัตรา 80% (อัตรานี้มีที่มาจากอัตราที่กฎหมายกำหนดตามข้อ (25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่น ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต โดยอ้างอิงจาก ตารางแสดงอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8)

เมื่อได้ในส่วนแรกมาแล้ว เราจะมาดูกันต่อที่ ค่าลดหย่อน กันบ้างครับ โดยจากข้อมูลที่ให้มานั้น ผมขอสรุปวิธีการคำนวณเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนได้ตามนี้ครับ

เราจะเห็นว่า เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษี คือ 264,825 บาท และเมื่อคำนวณภาษีแล้วพบว่ามีภาษีที่ต้องเสีย 5,741.25 บาท แต่ได้มีการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปในระหว่างปี 7,887.37 บาท ทำให้ได้ภาษีคืนมา 2,146.12 บาท !! (เย่)

ทีนี้เรามาทบทวนอีกครั้งนะครับว่า หลักการในการคำนวณภาษีของเราต้องนำรายได้ทั้งหมดมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทของเงินได้ และหักค่าลดหย่อนที่เราสามารถใช้ได้ แล้วจึงค่อยนำมาคำนวณภาษีทั้งหมดครับ

ถ้าถามว่ากรณีนี้จะแนะนำให้วางแผนภาษีหรือลดภาษีให้มากขึ้นนั้นจะทำได้อย่างไร ผมแนะนำว่าสิ่งหนึ่งที่ยังสามารถเพิ่มเติมได้ คือ ค่าลดหย่อนประเภทการออมและการลงทุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น LTF, RMF และประกันชีวิต แต่ในส่วนนี้คงต้องดูความเหมาะสมกับรายได้และค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตก่อนครับ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันซื้อเข้าไปเพื่อให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด และต้องพิจารณาเรื่องเงินเก็บเงินออมต่างๆที่จำเป็นว่ามีครบถ้วนแล้วหรือยัง หลังจากนั้นค่อยจัดเพิ่มเติมเข้าไปคร้าบ

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ หลายคนที่มีรายได้หลายประเภท คงจะพอเข้าใจหลักการคำนวณคร่าวๆได้มากขึ้นนะครับ และถ้าหากใครมีปัญหาภาษีหรือข้อสงสัยใดๆ หรือมีกรณีศึกษาที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ สามารถส่งให้ผมได้ที่เพจ @TAXBugnoms ครับ วันนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ในตอนต่อไปของซีรีย์นี้ สวัสดีคร้าบบบ