ในตอนที่แล้วมีคนถาม @TAXBugnoms มาว่า แล้วหน้าตาของแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 94 นั้นเป็นแบบไหนยังไงล่ะ วันนี้ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา เลยมีรูปแบบแสดงรายการมาฝากให้ดูกันครับ

หลังจากที่รู้จักหน้าตาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือ แบบ ภ.ง.ด. 94 กันไปเรียบร้อยแล้ว ทีนี้เรามาต่อกันด้วย วิธีการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปี กันเลยดีกว่าครับ

สำหรับวิธีการคำนวณนั้น จะใช้หลักการเดียวกันกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีไม่มีผิดเพี้ยนเลยครับ โดยแบ่งวิธีการคำนวณออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีเงินได้สุทธิ  และ วิธีเงินได้พึงประเมิน (0.5% x รายได้) 

รายได้

สำหรับเรื่องของรายได้นั้น เรามีหน้าที่กรอกข้อมูลรายได้แยกตามประเภทของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง หรือที่ได้รับจริงทั้ง 4 ประเภทให้เรียบร้อยครับ

แนะนำให้อ่าน : [ซีรีย์ภาษีครึ่งปี] ตอนที่ 1 : รายได้ 4 ประเภทที่ต้องเสียภาษี

โดยสำหรับการคำนวณภาษีครึ่งปี เราจะกรอกเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม – มิถุนายน เพียงเท่านั้นครับ หลังจากนั้นให้ใช้วิธีคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาที่กฎหมายกำหนด (ตรงนี้ก็ยังคงใช้หลักการเหมือนการคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติเช่นกันครับ)  เอาเป็นว่าหากใครสงสัยเรื่องวิธีการคำนวณภาษี ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านอีกที ในซีรีย์ชุดภาษีง๊ายง่ายยก่อนนะคร้าบบบ

[ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย [1] : เงินได้ของเราต้องเสียภาษีไหม? 
[ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย [2] : เลือกค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องงง
[ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย [3] : ปิดท้ายด้วยค่าลดหย่อน

เมื่อเราจัดประเภทรายได้และค่าใช้จ่ายได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาเราจะนำมาพิจารณาหัก “ค่าใช้จ่ายตามจริง” และ “ค่าใช้จ่ายแบบเหมา” ว่าจะเอาแบบไหนดีครับ

อ้อ..ตรงนี้ขอย้ำนะครับว่า ถ้าหากเรามีเงินได้ประเภทที่ 8 ในส่วนที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กรมสรรพากรได้กำหนดไว้ เราจะต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายได้แบบเดียว คือแบบตามจริงเท่านั้นครับ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบข้อมูลการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของกรมสรรพากร ได้ที่ ตารางแสดงอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8

บอกตรงๆครับว่า.. กลุ่มที่จะผิดพลาดเรื่องนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องยื่นภาษีก็คือ กลุ่มที่ทำธุรกิจค้าขาย ซื้อขายออนไลน์นี่แหละครับที่จะมีปัญหาที่สุด เพราะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเงินได้ประเภทที่ 8 และมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีอีกด้วยครับ

เอาล่ะครับ... ทีนี้ผมขอลองยกตัวอย่างการคำนวณง่ายๆให้ดูกันต่อเลยครับ สมมุติว่าถ้านายเกรย์แมนมีการขายของออนไลน์ในช่วง 6 เดือนแรกจำนวน 1,000,000 บาท นายเกรย์แมนจะต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธีคือการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (ในอัตรา 80% ตามตารางของกรมสรรพากรข้างบนนี้) หรือ เลือกที่จะหักตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ก็ได้ครับ

แต่ด้วยความที่นายเกรย์แมนเป็นคนชุ่ยแถมยังขี้เกียจ แถมยังไม่เคยเก็บเอกสารอีกต่างหาก นายเกรย์แมนเลยเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไปเลย จึงทำให้เหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเพียง 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเห็นไหมครับว่า จากรายได้หลักล้าน เมื่อหักค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือรายได้เพียงนิดหน่อย หรือแค่ 20% เท่านั้นเองครับ

แต่หลักการคำนวณภาษีตามวิธีเงินได้สุทธินั้นยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะนายเกรย์แมนต้องหักพระเอกตัวสุดท้ายที่มีชื่อว่า “ค่าลดหย่อน” ให้เรียบก่อนเสียก่อนจะคำนวณอัตราภาษี ซึ่งเรื่องของค่าลดหย่อนสำหรับภาษีครึงปีนี้ ผมยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายครับ ดังนั้นขออนุญาตยกยอดไปต่อกับซีรีย์กันในตอนที่ 3 กันเลยดีกว่าครับ

สุดท้ายนี้... ถ้าใครมีปัญหาสงสัยเรื่องภาษีครึ่งปี อย่าลืมนะครับว่า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เพจ @TAXBugnoms ตลอดเวลาคร้าบบ