1. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด

สิ่งแรกและเร็วที่สุดที่สามารถทำได้ นั่นคือการ “ลดค่าใช้จ่าย” โดยเราต้องรู้ว่า สิ่งไหนที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายจำเป็น” และสิ่งไหนคือ “ค่าใช้จ่ายที่ต้องการ”  ซึ่งวิธีการหลักง่ายๆคือการลดความต้องการให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้นนะคร้าบ

2. จดๆจ้องๆมองหาหนทางเพิ่มรายได้

ในระยะยาวแล้ว การลดค่าใช้จ่ายทำได้เพียงระดับนึง เพราะเราไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นได้ ข้าวปลาอาหาร ค่าเดินทาง ยังไงก็ลดไปไม่ได้จริงไหมครับ ดังนั้นทางต่อมาเราต้องมองหาวิธีการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

3. ได้รับเงินเมื่อไร อย่าลืมออมทุกครั้ง

วินัยในการออมถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อเราได้รับเงินมาทุกครั้งอย่าลืมแบ่งขั้นต่ำ 10% ไว้เพื่อ “ออม” หรืออาจจะใช้วิธีหักเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการออมโดยตรงเลยก็ได้ ง่ายๆสบายๆชิวๆ จริงไหมครับ (หรอ???)

4. ตั้งใจวางแผนการลดหย่อนภาษีแต่เนิ่นๆ

รายจ่ายที่ถึงตายก็หนีไม่พ้นนั่นคือ “ภาษี” ดังนั้นเราต้องวางแผนการลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วน รู้ก่อนว่าตัวเองมีรายได้อะไรบ้าง มีค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง และถ้าให้ดีก็ลงทุนศึกษาความรู้เรื่องภาษีไปด้วยกันเลย

5. เชิญนายจ้างให้นำส่งประกันสังคม

อย่าลืมบอกนายจ้างหรือบริษัทที่สังกัดอยู่ให้นำส่งประกันสังคมให้ด้วย เพราะเป็นการออมเพื่อลดหย่อนภาษี อีกทั้งคุณยังได้รับสิทธิประโยชน์ดีๆ จากภาครัฐอีกด้วยครับ

6. สมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบเต็มอัตรา

โดยปกติแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละองค์กรจะมีอัตราขั้นต่ำให้สมทบ แต่ถ้าเราอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ขอเพิ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มอัตรากันไปเลย รับประกันได้ว่าเมื่อเกษียณ คุณจะมีเงินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยที่คุณแทบจะไม่เชื่อเลยล่ะครับ

7. หาจังหวะเวลาซื้อ LTF

การซื้อ LTF คือการลดหย่อนภาษีที่ดีอีกหนทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามการซื้อ LTF จะหมดอายุภายในปี 2559 แล้วนะครับ ดังนั้นช่วงนี้หากใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี อย่างนี้ต้องจัดเต็ม!!

8. ใช้ RMF เก็บเงินออมส่วนที่เหลือ

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ RMF เพราะคิดว่าเป็นเงินออมเพื่อเกษียณ แต่จริงๆ แล้ว RMF นี่แหละคือการฝึกวินัยในการออมอย่างแท้จริง แถมคุณยังมีโอกาสสับเปลี่ยนเพื่อทำกำไรระหว่างกองทุนได้อีกด้วยนะ เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนแบบทวีคูณ แต่ก็ต้องระวังเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง จากทวีคูณอาจจะกลายเป็นศูนย์ก็ได้นะคร้าบ

9. ถ้าเป็นคนชอบเผื่อ อย่าลืมซื้อประกัน

ประกันชีวิต คือ การป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด หากคุณมีคนที่อยู่ข้างหลัง หรือมีภาระ การทำประกันชีวิตคือทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง แถมยังลดภาษีได้อีกด้วย

10. หมั่นตรวจสอบแผนการเงินอยู่เสมอ

อย่าลืมคอยตรวจสอบ ตรวจเช็ค เปลี่ยนแปลงการลงทุนต่างๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ เพือให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้

เมื่อมาถึงตรงนี้หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าหากเป็นคนที่มีรายได้น้อยมากๆ เช่น แรงงานขั้นต่ำ จะทำอย่างไรดีเรื่องการเก็บออมดีล่ะ เนื่องจากคนเรามีหลายระดับ การวางแผนการเงินคงแบบเดียวอาจไม่เหมาะกับทุกระดับ

สำหรับเรื่องนี้ @TAXBugnoms มองว่า สิ่งสำคัญคือต้อง "เริ่ม" เก็บออมให้ได้ก่อนครับ สมมุติว่าแรงงานขั้นต่ำ 9,000 บาท เค้าอาจจะบอกตัวเองว่าเก็บไม่ได้หรอกแค่ใช้หมดแล้ว แต่ทุกครั้งผมมักจะถามว่าแล้วเก็บแค่ 100 บาทต่อเดือนไหวไหม ให้เริ่มต้น... เอาเท่าที่ไหวครับ เพื่อฝึกวินัยในการออม เพราะเมื่อไรก็ตามที่สร้างวินัยเรื่องนี้ได้ คุณจะเปลี่ยนตัวเองได้ครับ

คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากคำว่า "เก็บเงินไม่ได้"  ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนทัศนคติตัวเองว่า “เราสามารถเก็บเงินได้” เป็นลำดับแรก และเมื่อคุณเก็บเงินได้จริงๆไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม หลังจากนั้นเราจะมีความมั่นใจขึ้นมาว่า จริงๆแล้ว “เราก็สามารถหารายได้เพิ่มได้ด้วยนะ” และถ้าเป็นแบบนี้แล้ว อิสรภาพการเงินก็คงไม่หนีหายไปไหน จริงไหมล่ะคร้าบบบ