นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยไม่เคยลดลง ล่าสุดเฉลี่ยครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 22,372 บาทต่อครัวเรือน

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่าภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ที่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2552 โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408.70 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711.84 บาทต่อครัวเรือน

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76% ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน และ 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2% กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง

จากภาระหนี้สินและการใช้จ่ายเกินตัว มีคำถามตามมาว่าหากต้องการมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือเหลือเงินแบ่งไปเก็บออม ควรทำอย่างไร คำตอบ คือ เก็บเงินก่อนนำไปใช้จ่าย อย่างน้อยๆ เดือนละ 10-15%

ตัวอย่าง เก็บเงิน 15% ของเงินเดือนแต่ละเดือน

➡️เงินเดือน 15,000 บาท เก็บ 2,250 บาท
➡️เงินเดือน 20,000 บาท เก็บ 3,000 บาท
➡️เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 4,500 บาท
➡️เงินเดือน 50,000 บาท เก็บ 7,500 บาท

สมมติว่า สิ้นปีที่จะถึงนี้ต้องการมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนอาจมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเหลืออีกเพียง 4 เดือนคงไม่ทันการณ์ แต่ในความจริง “ไม่สายเกินไป” ที่จะเริ่มต้นเก็บเงิน ที่สำคัญถ้าทำได้รับรองมีเงินเก็บเต็มกระเป๋าแน่นอน

1. รู้เส้นทางการเงินของตัวเอง

หลายคนไม่รู้ว่าเงินเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้อยู่ ควรเริ่มจากจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายประจำวัน จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไร
วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ บางคนถึงกับตกใจ “ซื้อไปได้อย่างไร” “ซื้อตอนไหน” ก็ทำให้เกิดอาการเสียดาย

2. ลดความอยากได้อยากมี

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้ หรือใช้เงินเกินตัว คือ การใช้จ่ายไปกับข้าวของฟุ่มเฟือย เช่น ช้อปปิ้งทุกเดือน ดังนั้น หากแก้พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ ด้วยการถามตัวเองว่า “ซื้อแล้ว จะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน

หรือพูดง่ายๆ คือ ประหยัด แต่การที่ประหยัดมากขึ้นไม่ได้ทำให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นหนทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่วางเอาไว้วิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะเพียงแค่ประหยัดได้มากขึ้น เท่ากับมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเท่านั้น

คำว่าประหยัดในที่นี้ หมายถึง การใช้เงินเท่าที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ปีที่แล้วเพิ่งซื้อมือถือ ปีนี้มีรุ่นใหม่ออกมาก็ซื้อทันที ซึ่งเคล็ดลับการลดความฟุ่มเฟือย ให้เริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองมีการประหยัดแค่ไหน จากคำถาม “ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินมากขึ้นหรือไม่” “ซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเท่านั้นหรือไม่” หรือ “ที่ผ่านมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นหรือไม่”

สมมติว่า นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี (4 เดือน) หยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า อาจมีเงินเก็บถึง 4,000 บาท

3. หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง

สำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบบวกกับบัตรกดเงินสด ควรพิจารณาหยุดการใช้จ่ายผ่านบัตรเหล่านี้ เพราะเมื่อไหร่ที่รูดผ่านบัตรเหล่านี้และชำระหนี้ด้วยวิธีขั้นต่ำ และหากงวดไหนไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ก็จะใช้วิธีกดจากบัตรใบแรก เพื่อชำระหนี้หนี้บัตรใบที่สอง ผลลัพธ์คือ มีดอกเบี้ยจ่ายสูงและไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 16% ส่วนดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดอยู่ที่ระดับ 17%

ดังนั้น ถ้าต้องการจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรใช้เท่าที่จำเป็นและชำระหนี้เต็มจำนวน เพื่อป้องกันการเสียดอกเบี้ย หรือหากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ต้องใช้จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น

4. ยกเลิกการเป็นสมาชิกที่ไม่จำเป็น

ทุกวันนี้ เจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ มีวิธีโฆษณาโปรโมท ให้ผู้คนสนใจสมัครสมาชิกรายปีอย่างง่ายดาย มารู้ตัวอีกทีก็กดสมัครสมาชิกไปเรียบร้อย แน่นอนว่าค่าสมาชิกรายปีก็หลายร้อยบาทหรือระดับพันบาท
ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น คือ การยกเลิกการเป็นสมาชิกบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็น หรือเข้าไปใช้บริการน้อยมากจนไม่มีความคุ้มค่า สมมติว่ายกเลิก 1 ประเภทที่มีค่าสมาชิกเดือนละ 1,000 บาท เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 4,000 บาท

5. เก็บเงินแบบอัตโนมัติ

ทุกๆ วัน ผู้คนมักจะเจอหลุมพรางเรื่องการใช้จ่ายง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ กลยุทธ์การประหยัดมาต่อสู้ ซึ่งเทคนิคที่ได้ผลที่สุดและลงมือทำได้ทันที คือ เก็บเงินแบบอัตโนมัติ (DCA) โดยเมื่อเงินเดือนถูกโอนเข้าบัญชี ก็ให้ตัดเงินไปเก็บออมโดยอัตโนมัติ เช่น เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 4,500 บาท (เก็บ 15% ของเงินเดือน) เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 18,000 บาท

จากตัวอย่าง หากหยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า, หยุดเดินตลาดนัดก็มีเงินเก็บ, ยกเลิกการเป็นสมาชิกรายเดือน 1 ประเภท และเก็บเงินแบบอัตโนมัติ เมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีเงินเก็บรวมทั้งหมด 26,000 บาท (4,000 + 4,000 + 18,000) ซึ่งเงินเก็บจำนวนนี้ถือว่ามากพอสมควร และหากเริ่มต้นทำแบบนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม (12 เดือน) ก็จะมีเงินเก็บถึง 78,000 บาท

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้ว อยู่ที่การบริหารจัดการและการตัดสินใจของเราด้วยว่า อยากให้เป้าหมายนี้สำเสร็จได้ในปีนี้เลยหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้ลงมือเริ่มต้นทำด้วยการ “เก็บก่อนใช้” จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะมีวินัยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้หรือเปล่า?