วางแผนการเงิน วางแผนชีวิต

 

     ‘แผนการเงิน’ คือสิ่งที่กูรูด้านการเงินทุกคนบอกว่า นี่คือสิ่งที่ขาดไม่ได้หากต้องการประสบความสำเร็จทางด้านการเงินได้ จึงทำให้เหล่าคน (อยาก) รวยหลายคนหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าแผนการเงิน หลายคนไม่รู้ว่าจริงๆแล้วถ้าต้องการวางแผนการเงิน ต้องเริ่มจากตรงไหน? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแผนที่วางไว้ประสบความสำเร็จหรือตรงตามเป้าหมาย

     การวางแผนการเงิน สิ่งสำคัญคือ สามารถนำไปใช้ได้จริงและตรงตามไลฟ์สไตล์ของเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นสิ่งแรกก่อนวางแผนการเงินนั่นคือ ตอนนี้คุณอยู่ตรงไหนและเป้าหมายสุดท้ายของแผนคืออะไร จากนั้นทุกคนจึงจะสามารถเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดให้สอดคล้องกับแผนที่วางเอาไว้ได้

     ข่าวดีของการวางแผนการลงทุนคือ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการวางแผน เพื่อทำให้แผนสำเร็จ และเพื่อสร้างเงินสำรองสำหรับในอนาคต การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อม แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้!!!และทำต่ออย่างต่อเนื่องไปเรื่อยจะกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

     สิ่งสำคัญอันดับแรกของการวางแผนการเงินนั่นคือ ต้องรู้ว่าตัวของเราอยู่ตรงจุดไหน เพื่อเลือกการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุ หากตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงอายุ 20 ปี สามารถเน้นการลงทุนไปที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงได้ เช่น ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นที่มีความเสี่ยง แต่หากช่วงอายุยิ่งเข้าใกล้ช่วงเกษียณมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องปรับแผนการลงทุนให้รอบคอบมากขึ้นเช่น เลือกลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหุ้นเป็นหลักเพื่อรักษาเงินต้น เพราะคนในวัยนี้ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้มากเท่ากับช่วงวัยหนุ่มสาว

     เมื่อเลือกแผนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องรู้ต่อมาคือ สถานการณ์ทางการเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง ต้องรู้ว่าเราสามารถลงทุนได้เท่าไหร่จากจำนวนรายได้ทั้งหมดที่มี โดยการตั้งงบรายจ่ายและตัดสินใจว่าจะนำเงินมาลงทุนเท่าไหร่ในแต่ละเดือน และก่อนลงทุนอย่าลืมตรวจเช็คว่าตัวเองมีเงินสำรองฉุกเฉินเตรียมพร้อมอย่างน้อย 3-6 เดือนของรายจ่ายทั้งหมดรึยัง? ถ้าไม่ ควรเริ่มต้นเก็บเงินส่วนนี้ก่อนเริ่มลงทุน

     เมื่อคุณวางแผนการเงิน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ จัดทำรายการความเสี่ยง เพราะยิ่งรู้ว่าความเสี่ยงของคุณมีอะไรบ้าง ก็ช่วยให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ดีมากขึ้น หากคุณเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มาก และยิ่งการลงทุนมีความเสี่ยงมากก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก นี่คือสิ่งที่นักลงทุนมือโปรทุกคนต่างก็รู้ดี

     หลังจากประเมินตัวเองเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การวางเป้าหมายการลงทุน การวางเป้าหมายนั้นก็เพื่อให้นักลงทุนรู้ว่า ตัวเองจะนำเงินที่ได้จากการลงทุนไปทำอะไร ต้องการเก็บไว้สำหรับการเกษียณเร็ว? ต้องการนำไปซื้อบ้าน? หรือต้องการซื้อรถ? แต่ไม่ว่าเป้าหมายคืออะไรก็ตาม ก็ควรลงทุนให้หลากหลาย อย่าลืมว่าการลงทุนนั้นจะต้องเติบโตยาวนานเพียงพอให้คุณสามารถจ่ายเงินลงทุนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเป็นเป้าหมายพิเศษและจำเป็นต้องลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง ก็เลือกทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการสร้างวินัยการลงทุนให้กับตัวเอง

     การวางเป้าหมายการลงทุน นอกจากจะต้องชัดว่าเป้าหมายคืออะไร ก็ต้องชัดเจนในเรื่องการวางเวลาด้วย ตั้งเป้าหมายเลยว่าจะทำให้บรรลุแผนเมื่อไหร่ เพราะนี่คืออีกตัวช่วยที่จะทำให้รู้ว่าการลงทุนแบบไหนที่ใช่เรา

     เมื่อเราวางเป้าหมายและวางเวลาเพื่อการลงทุนแล้วอีกสิ่งที่ต้องนึกถึงคือ สภาพคล่องของการลงทุน หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเช่น หุ้น ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้สะดวกและสามารถใช้เป็นเงินสดยามฉุกเฉินได้ แต่หากเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ก็ต้องแบ่งสรรเงินเพื่อใช้สำรองยามฉุกเฉินแยกต่างหาก

     เมื่อรู้ว่าเป้าหมายของการลงทุนคืออะไร ก็มาเริ่มวางแผนได้เลย ก่อนอื่นก็แบ่งสรรเงินว่าจะนำไปลงทุนในอะไรบ้าง จำไว้ว่าการลงทุนเงินทั้งหมดในสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวมีความเสี่ยงอย่างมาก สำหรับวัยหนุ่มสาวที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากให้เลือกลงทุนซัก 30% ในหุ้น, อีก 30% ในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ แล้วเก็บเงินที่เหลืออีก 40% ไว้ในบัญชี แต่หากเรานำเงินทั้งหมดลงทุนในหุ้นทุกๆเดือน เมื่อหุ้นในตลาดราคาตกลง คุณก็จะสูญเสียเงินเกือบทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือดูว่าความเสี่ยงของการลงทุนอยู่ภายในกรอบที่ตั้งไว้

     แต่หากคุณไม่ชำนาญเรื่องการบริหารความเสี่ยง ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญสามารถบอกคุณได้ว่าควรลงทุนกับอะไรและด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน ก่อนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญควรตรวจสอบว่าผู้เชี่ยวชาญนั้นได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง

     เมื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว สิ่งต่อมาคือ สืบหาแหล่งลงทุน สำหรับคนที่มีเป้าหมายทางการเงินหลายอย่าง ควรเลือกแหล่งลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายเช่น เปิดบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถถอนได้สะดวกที่สุด สำหรับเก็บเงินฉุกเฉินจำนวน 3-6 เดือนของรายจ่ายทั้งหมดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด, ลงทุนในกองทุนรวมแบบ LTF เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือการเกษียณ, หรือการฝากเงินในบัญชีฝากเงินประจำดอกเบี้ยสูงก็เหมาะสำหรับคนที่วางแผนเรียนต่อ

     เมื่อลงทุนตามแผนแล้ว ก็ต้องหมั่นตรวจสอบว่าผลตอบแทนได้ตรงตามที่คาดไว้หรือไม่ หากไม่ก็จำเป็นต้องปรับแผนทางการเงินใหม่เพื่อให้ลงทุนได้เหมาะสมกับความเสี่ยง หรือแม้แต่การปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้รับความเสี่ยงได้น้อยลงä