ทุกครั้งที่เห็นเราเห็นคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือชีวิต เชื่อว่าตามธรรมชาติของมนุษย์แล้วเรามักจะพยายาม ‘ถอดรหัสความสำเร็จ’ และเรียนรู้บทเรียนจากบุคคลเหล่านั้น

แต่นั่นอาจนำมาซึ่งปัญหา เพราะสิ่งที่เรามองเห็นคือคนที่ประสบความสำเร็จและรอดชีวิตมาจนถึงจุดที่ทุกคนเรียกเขาว่าผู้ชนะเท่านั้น ถ้าเปรียบก็คงเหมือนกลาดิเอเตอร์ที่ฟันฝ่าจนสามารถกลายเป็นแชมเปียนได้

เราเห็นถ้วยรางวัล เหรียญทอง ชื่อเสียง เพราะมันสวยงาม

สิ่งที่เราไม่เห็นคือคนที่พ่ายแพ้ระหว่างทางและคนที่พยายามแล้วแต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน และถ้าให้เทียบสถิติกันแล้ว คนที่ไปถึงดวงดาวนั้นมีเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

เอาอย่างธุรกิจสตาร์ตอัปหรือการเป็นศิลปินนักร้องก็ได้ อัตราการล้มเหลวเมื่อเลือกเดินอาชีพนี้สูงถึง 90% พูดง่าย ๆ ทำไปสิบครั้งจะล้มไป 9 เหลือรอดมาเจิดจรัสฉายแสงและบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จแค่ 1 คนเท่านั้น ส่วนอาชีพหรือเส้นทางอื่นก็โหดร้ายไม่แพ้กันหรอกครับ มีคนสำเร็จก็มีคนร่วงหล่นไปตามทางเช่นกัน

ในแต่ละวันเราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับความสำเร็จตลอด เคล็ดลับความสำเร็จจากเศรษฐีคนนั้น นักรับเทรดหุ้นยูทูบเบอร์มือทองเทรดได้วันละแสนสองแสน ซื้อรถเงินสดสามสี่ล้าน นักร้อง ศิลปิน หรือแม้แต่นักเขียน ชัยชนะถูกนำเสนออย่างเด่นชัด จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะรู้สึกว่า “ฉันก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน” เริ่มประเมินตนเองสูง เข้าข้างตนเองไปโดยอัตโนมัติ เหมือนคนนอกมองแล้วหลงกับภาพมายาของความสำเร็จและไม่รู้เลยว่าโอกาสมันน้อยมากขนาดไหน

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Survivorship Bias” หรือ “อคติจากการเห็นผู้อยู่รอด” ซึ่งเป็นความเอนเอียงจากการให้น้ำหนักการตัดสินใจโดยมองแค่ด้านเดียวหรือในที่นี้คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้มองว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีมากขนาดไหน

สื่อในปัจจุบันเชิดชูผู้ประสบความสำเร็จเพราะมันขายง่าย แต่มันก็เป็นอันตรายทำให้คุณมีอคติจากการเห็นผู้อยู่รอดแล้วพยายามเลียนแบบหรือทำตาม มักทำให้คุณประเมินว่าตัวเองนั้นน่าจะประสบความสำเร็จสูงเกินไปอย่างไม่รู้ตัว

และสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วอคตินี้ยิ่งอันตรายมากกว่าอีก เพราะคุณจะประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินไป คิดว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้เพราะความสามารถ ทั้ง ๆ ที่บางทีอาจมีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีส่วนด้วย

มีตัวอย่างหนึ่งในหนังสือ “Psychology of Money” ที่ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ (Jesse Livermore) นักเทรดหุ้นสร้างรายได้ภายในวันเดียวถึง 3000 ล้านเหรียญจากการช็อตตลาดหุ้นช่วง Great Depression ในปี 1929 เขารู้สึกฮึกเหิมมากเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสามารถของตัวเองล้วน ๆ

เขาประเมินตัวเองสูงเกินไป ต่อมาแค่ 3 ปี เขาก็สูญเงินตรงนั้นไปทั้งหมด สุดท้ายก็เลือกจบชีวิตตัวเองเพราะรับความจริงไม่ได้

อคติจากการเห็นผู้อยู่รอดสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้เพราะ

1. ผลักดันให้เรามองโลกในแง่ดีมากเกินไป

เมื่อเรามองแค่คนที่ประสบความสำเร็จในสถานการณ์ใดก็ตาม มันจะทำให้ความเชื่อของเราบิดเบี้ยวไปจากความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็น ‘เรื่องง่าย’ และน่าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าที่มันจะเกิดขึ้นจริง ๆ จะทำให้เราเสี่ยงมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินหรือเรื่องของชีวิตส่วนตัวก็ตาม

2. เสียงที่สำคัญจะถูกกรองออกไป

เมื่อเรามองแค่ผลลัพธ์ทางด้านดี เสียงเตือนจากคนรอบข้างที่ผ่านมาแล้วหรือล้มเหลวนั้นจะถูกกรองออกไปโดยไม่ได้รับการเหลียวแล

3. เข้าใจผิดเรื่องความเกี่ยวพันกับสาเหตุ

บางครั้งเมื่อเราอ่านเรื่องราวของความสำเร็จเยอะ ๆ อาจจะเริ่มความเกี่ยวพันกันบางอย่าง (Correlation) แต่ดันไปเข้าใจผิดว่ามันคือสาเหตุ​ (Causation) ของความสำเร็จ

ยกตัวอย่างเช่นเมื่ออ่านเรื่องราวความสำเร็จของสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จเป็นร้อยล้านพันล้านอาจจะเห็นว่าซีอีโอของบริษัทเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยกันซะส่วนใหญ่ ซึ่งอย่าลืมนะครับว่า...คนที่เรียนไม่จบแล้วไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตมีมากขนาดไหน ต้องดูสถิติตรงนี้ด้วยอย่ามองแค่ด้านเดียว

นักสถิติ อับราฮัม วาล์ด (Abraham Wald) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทำการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อดูว่าควรที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครื่องบินตรงส่วนไหนบ้าง ทีมงานของเขาตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ไปสู้รบแล้วรอดกลับมา ระบุตำแหน่งบนเครื่องบินที่พวกเขาถูกยิงมากที่สุด ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่านอาจจะเป็นเป้าใหญ่เพราะฉะนั้นต้องเสริมความแข็งแกร่งตรงจุดนี้เพื่อให้สามารถรองรับการโดนยิงให้ได้เยอะขึ้น แต่มันเป็นความคิดที่ผิด

วาล์ดตระหนักดีว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่คืออคติจากการเห็นผู้อยู่รอด เขามองว่านี่เป็นจุดที่เครื่องบินสามารถรองรับการถูกยิงได้ในระดับหนึ่งและยังรอดกลับมาได้ ส่วนเครื่องบินที่ถูกยิงตกไปก็ต้องถูกยิงที่จุดอื่น เขาเลยแนะนำให้ทีมงานเสริมความแข็งแกร่งให้กับส่วนที่ไม่ถูกยิงของเครื่องบินที่รอดกลับมา ส่งผลให้เครื่องบินรบรุ่นต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยชีวิตคนอีกหลายคนเลยทีเดียว

วิธีรับมือกับอคติจากการเห็นผู้อยู่รอดที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือถามตัวเองว่า “มีข้อมูลอะไรบ้างที่ขาดไป” เมื่อมองข้อมูลที่ได้รับ ลองคิดว่ามีอะไรอีกบ้างที่ยังไม่รู้ ข้อมูลของคนที่ผิดพลาด คนที่ล้มเหลว คนที่เริ่มต้นพร้อม ๆ กับคนที่ประสบความสำเร็จแต่ไปไม่ถึงดวงดาวแล้วเอามาประกอบการตัดสินใจ

เอาล่ะ...พูดมาถึงตรงนี้ก็ไม่ได้อยากให้ท้อใจอะไรหรอกนะครับ ไม่ได้อยากให้คุณเลิกวิ่งตามความฝันหรือหยุดทำในสิ่งที่ต้องการทำหรอกนะครับ เพียงแต่อยากบอกว่าเวลาจะทำอะไร ลงทุนในตลาดหุ้น ในธุรกิจ เลือกสายงาน หรืออะไรก็ตามในชีวิต ขอให้ลองดูหลาย ๆ ด้านเข้าไว้ ลองดูคนที่ล้มเหลว คนที่พลาด ว่าเกิดอะไรขึ้น ลองหาเหตุผลเบื้องหลังดู แม้มันจะดูหดหู่ แต่เชื่อว่าจะช่วยทำให้อคติตรงนี้ลดลงได้ไม่น้อยเลยหล่ะครับ

อ้างอิง :

- https://matt-rickard.com/survivorship-bias

- https://mcdreeamiemusings.com/.../survivorship-bias-how...

- https://www.masterclass.com/articles/survivorship-bias