สวัสดีครับกับ @TAXBugnoms กลับมาพบกันอีกครั้งกับซีรีย์เรื่อง ภาษีง้ายง่าย ในตอนที่ 2 หลังจากที่เรารู้จักกับเรื่องของเงินได้ไปแล้วใน [ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย [1] : เงินได้ของเราต้องเสียภาษีไหม? ในตอนที่ 2 นี้ เรามาทำความรู้จักและลงลึกกันไปถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายกันดีกว่าครับ

แต่เดี๋ยวก่อน!! ผมขอเน้นอีกทีนะครับว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการคำนวณภาษี คือ วิธีการเลือกประเภทเงินได้ให้ถูกต้อง พอพูดแบบนี้หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราต้องรู้จักเรื่องของเงินได้ก่อน เพราะจริงๆมันเกี่ยวพันกันอย่างแน่นเหนียวเลยล่ะคร้าบ

เพราะว่าการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น กฎหมายได้กำหนดให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทโดยอ้างอิงจากประเภทเงินได้ของเราครับ ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน บางประเภทหักได้ม็ากกกมาก บางประเภทหักได้น้อยแบบสุดๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญของการเลือกค่าใช้จ่ายให้ได้ดีที่สุด คือ การเลือกประเภทของเงินได้ให้ถูกต้องนั่นเองงงงง

เริ่มต้นที่การจัดประเภทเงินได้

คำถามแรกที่ผมอยากถามเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคน คือ รู้ไหมครับว่ารายได้ที่เรามีนั้นถือเป็นเงินได้ประเภทไหนทางภาษีกันแน่ บางคนอาจจะรู้ บางคนอาจจะไม่รู้ เรามารู้กันไปพร้อมๆกันดีกว่าครับว่า เงินได้ทั้งหมดทางภาษีนั้น มี 8 ประเภท และเงินได้แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง

เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ

เงินได้ประเภทที่ 2 คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราวไป

เงินได้ประเภทที่ 3 คือ เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

เงินได้ประเภทที่ 4 คือ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ

เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ

เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภทที่ว่ามา

ถ้าใครยังไม่รู้ว่าตัวเองมีเงินได้ประเภทไหน ผมแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความในบล็อกภาษีข้างถนน เรื่อง [ภาษี] เข้าใจเงินได้ทั้ง 8 ประเภทใน 2 นาที ครับ

และเมื่อเรารู้จักประเภทของเงินได้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเรามาดูกันครับว่า เงินได้แต่ละประเภทนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายนั้นก็จะมีทั้งแบบเหมา คือ กฎหมายได้กำหนด % ในการหักค่าใช้จ่ายไว้ให้เรียบร้อย กับ แบบตามจริง (ตามจำเป็นและสมควร) ซึ่งต้องใช้เอกสารหลักฐานประกอบเพื่อให้พี่ๆสรรพากรพิสูจน์ว่าเรามีค่าใช้จ่ายเช่นนั้นจริงๆ

โดยเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องของ % ในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ การเลือกใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายทั้งแบบเหมาหรือตามจริง อีกด้วย เช่น เงินได้ประเภทที่ 1 เงินเดือนสามารถเลือกหักได้แต่ค่าใช้จ่ายแบบเหมาเท่านั้นในอัตรา 40% และสูงสุดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อปีครับ

จากรูปนี้ เราจะเห็นว่า ถ้าหากเราเป็นมนุษย์เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1)มีรายได้ 1  ล้านบาทต่อปี เราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายสูงสุดได้แค่ 60,000 บาทต่อปีเท่านั้น หรือคิดง่ายก็เดือนละ 5,000 บาทนั่นเอง แหมคุณพี่ทำไมชีวิตมันโหดร้ายแบบนี้คร้าบบ #เศร้าแป๊บ

แต่ในทางเดียวกัน ถ้าเราขายของแบบซื้อมาขายไป (เงินได้ประเภทที่ 8) รายได้ 1 ล้านบาทที่ว่ามานี้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ถึง 800,000 บาท กันเลยทีเดียว แถมยังมีโอกาสในการเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้อีกด้วย

อ้าวว.. แบบนี้คุณหนอมกำลังบอกให้ไปขายของออนไลน์ใช่ไหมครับ #ตึงโป๊ะ ไม่ใช่คร้าบบบ ผมกำลังบอกว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนประเภทของเงินได้เป็นประเภทที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เราจะยิ่งมีโอกาสในการลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นนั่นเองครับ

ยกตัวอย่างเช่น ฟรีแลนซ์คนหนึ่งทำงานมีรายได้ต่อปี 1,000,000 บาท ถ้าไม่เปลี่ยนประเภทเงินได้ จะกลายว่ารายได้ส่วนนี้ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเพียงแค่ 60,000 บาท

แต่ถ้าฟรีแลนซ์คนนี้สามารถเปลี่ยนประเภทเงินได้ของตัวเองเป็นประเภทที่ 7 (ถ้าลักษณะงานคือการรับเหมาและเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ด้วยตัวเอง) หรือ เงินได้ประเภทที่ 8 (ถ้าลักษณะงานมีการเปิดหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง มีป้าย มีลูกจ้าง และดำเนินการแบบพาณิชยกรรม) ลองคิดดูสิครับว่าจะสามารถจะเพิ่มค่าใช้จ่ายได้เท่าไร?

ถ้าเป็นเงินได้ประเภทที่ 7 ฟรีแลนซ์คนเดิมจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงถึง 700,000 บาท หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือ ถ้าเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเช่นกันครับ (ถ้าหากลักษณะงานของฟรีแลนซ์รายนี้ไม่ได้มีกำหนดอัตรา % ในการหักเหมาไว้ตามกฎหมาย ทำให้ต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงเพียงอย่างเดียวครับ)

นั่นคือเรื่องของการเปลี่ยนประเภทเงินได้ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายทางภาษีมากขึ้นครับ ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำหรับการหักค่าใช้จ่ายที่หลายๆคนชอบถามผมก็คือ แล้วเราควรเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบไหน ถ้าสามารถเลือกหักได้แบบเหมาและตามจริง