สวัสดีครับ เผลอแปบเดียวก็เข้าสู่ช่วงปลายปีอีกแล้ว ดังน้ัน @TAXBugnoms ขอฝากซีรีย์ดีๆก่อนจะข้ามพ้นปีใหม่ให้อ่านกันสักหน่อยนะครับ (มันเกี่ยวกันตรงไหนฟระ - -" ) เพราะว่ามีคนถามเข้ามามากๆเลย เกี่ยวกับเรื่องการขายของผ่านอินเตอร์เน็ตว่าจะต้องเสียภาษีอย่างไร แบบไหน  อย่างไร ยังไงดี ไม่เสียจะโดนจับไหม ฯลฯ ดังนั้นคราวนี้เลยถือโอกาสเขียนซีรีย์เพื่ออธิบายวิธีการให้เข้าใจง่ายๆกันเลยดีกว่าครับ

สำหรับคนที่กำลังทำการค้าขายในบนโลกออนไลน์นั้น ขอบอกชัดๆเลยครับว่า “รายได้ส่วนนี้ต้องเสียภาษี” และการหลบหนีไม่จ่ายนั้นก็แปลว่าเราทำผิดกฎหมายอยู่นั่นเองครับ และทีสำคัญกรมสรรพากรได้พยายามตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อจัดการกับคนหนีภาษีกลุ่มนี้อยู่ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

ถ้าเพื่อนๆพีๆน้องๆ เป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจ ผมอยากจะแนะนำให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า “เสียภาษีให้ถูกต้อง” ดีกว่าไม่เสียเพราะว่าถูกใจ เพราะสุดท้ายถ้าพี่สรรพากรเค้ามาเจอเมื่อไร พูดสั้นๆได้คำเดียวว่า “บรรลัย” แน่นอนล่ะครับ พี่น้องงงง

แต่ในตอนแรกนี้ ก่อนที่เราจะหักโหมเรื่องภาษี ขอเริ่มต้นเบาๆที่เรื่องความรู้ในธุรกิจ E-Commerce กันก่อนดีกว่าครับ โดยลำดับแรกนั้นเราเข้าใจนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” กันก่อนดีกว่าครับ

คำว่า ผู้ประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น หมายถึง ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการโดยผ่านคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือแปลว่าง่ายๆว่า “ใครที่ประกอบธุรกิจผ่านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต” นั่นเองครับ

โดยการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อธุรกิจนั้น ถือว่าเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็วและว่องไวอยู่มาก เรียกได้ว่าถ้ามาถูกที่ถูกเวลาและถูกจังหวะ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้แน่นอนครับ โดยผู้ประกอบการที่ว่ามานี้ ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป และเราสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

สร้างเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร

เป้าหมายของกลุ่มนี้ ต้องการแค่บอกว่ากิจการทำอะไร หากใครสนใจก็หาทางติดต่อมาเองละกันนะ

สร้างเว็บไซต์เพื่อแสดงสินค้าในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น

1. แคตตาล็อค

ให้รายละเอียดสินค้า หรือโชว์ผลงานต่างๆลงเว็ปไซด์ เพื่อความสะดวกสบายในการนำเสนอผลงานผ่านออนไลน์

2. โชว์รูม

เพื่อไว์โชว์สินค้าหลักและสินค้าใหม่บางส่วนที่ต้องการนำเสนอให้ลูกค้า

3. งานแสดงสินค้า

เป็นการรวบรวมเว็บไซต์ หรือสินค้าประเภทเดียวกันมาจัดแสดงไว้ในเว็บไซต์เดียวกัน เช่น พวก Web Directory ต่างๆ

สร้างเว็บไซต์เพื่อการค้า หรือ e-Commerce

สำหรับกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่แสดงรายการสินค้าไว้พร้อมกับระบบที่ให้ผู้เข้าเว็บสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง เช่น เวปขายของออนไลน์ต่างๆ

สร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขาย  หรือe-Marketplace / e-Marketexchange

เพื่อให้ผู้ซื้อได้พบผู้ขาย และมีระบบต่างๆ เช่น ระบบการจ่ายเงิน ระบบการขนส่งสินค้า ไว้บริการลูกค้าเพิ่มเติม

สร้างเว็บไซต์เป็นเครือข่าย

เพื่อใช้เฉพาะผู้ขายที่เป็นตัวแทนในเครือข่ายของตนเองเข้ามาใช้งาน

สร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางการขาย

หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขาย

เอาล่ะคร้าบบบ
หลังจากที่รู้จักประเภทเว็ปไซด์ตามวัตถุประสงค์กันแล้ว
ต่อมาเรามารู้จักประเภทของธุรกิจกันต่อดีกว่า

ประเภทของการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. B2C (Business to Customer)

คือ การขายโดยตรงของผู้ขายสู่ผู้บริโภค เช่น เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ โดยมีกลุ่มลูกค้าผู้ที่สนใจซื้อหนังสือ มีบริการส่งของ ชำระเงิน ตัดบัตรเครดิต ฯลฯ

2. B2B (Business to Business)

คือ การขายระหว่างผู้ขายกับผู้ขาย เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน หมายความรวมถึงการขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Management) หรือแม้แต่เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า/ บริการ กับผู้ให้บริการธุรกิจ รถเช่า ดำน้ำ สปาร์ กอล์ฟ สวนสนุก เป็นต้น

3. C2C (Customer to Customer)

เป็น การขายระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง เช่น การติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารในกลุ่มคนที่มีการบริโภค หรือบุคคลทั่วไปอาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสอง เป็นต้น

4. B2G (Business to Government)

คือ การประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เรียกว่า e-Government Prcurement

5. G2C (Government to Customer)

คือ การบริการของภาครัฐสู่ประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่นการเสียภาษีผ่านอินเตอร์เน็ตของเวปไซด์กรมสรรพากร

สำหรับวันนี้ @TAXBugnoms ขอแนะนำให้รู้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ และในตอนต่อไป เราจะมาค่อยๆเจาะลึกลงไปเรื่องภาษีกันอีกครั้ง รับประกันได้เลยว่าซีรีย์นี้อ่านแล้วคุ้มสุดๆครับ และถ้าใครมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถ Comment ถามไว้ได้เลยนะคร้าบบบบ

สามารถอ่านซีรี่ย์ ขายของออนไลน์ สบายใจเรื่องภาษี ต่อได้ที่

ขอบคุณข้อมูล : ความรู้เกี่ยวกับอีคอมเมอซ์ จากเวปไซด์กรมสรรพากร