TCAP หรือ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจเป็น Financial Holding Company ที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจการเงิน ทั้งธนาคาร หลักทรัพย์ ประกันภัย ประกันชีวิต เช่าซื้อ-ลิสซิ่ง และ บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจหลักที่ทำให้นักลงทุนรู้จัก TCAP ก็คือ TBANK หรือ ธนาคารธนชาต ที่ทุนธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่นั่นเอง

ในช่วงปีที่ผ่านมา TCAP กลับมาเป็น Talk of the Town ในตลาดหุ้นอีกครั้ง

ด้วยข่าวที่คิดกันว่าเป็นข่าวลือกลายเป็นมติที่ประชุมของคณะกรรมการจริง ๆ โดย TCAP อนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มธนชาต และแผนการรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562

และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ทีเอ็มบีได้รายงานการได้มาซึ่งหุ้นธนาคารธนชาตต่อตลาดหลักทรัพย์  ในขณะที่ ทุนธนชาต หรือ TCAP ก็ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ถึงการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีเอ็มบี เช่นเดียวกัน

โดย TCAP ได้ขายหุ้นธนาคารธนชาต ให้กับ TMB และมีเงินรับเข้ามาประมาณ 85,000 ล้านบาท 

ในเงินจำนวนนี้ประมาณ 16,000 ล้านบาท TCAP นำไปซื้อบริษัทย่อย และเงินลงทุนจากธนาคารธนชาตออกมา (บมจ.ราชธานี บริษัทธนชาตประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต) ซื้อหุ้นเพิ่มทุน TMB ประมาณ 41,000 ล้านบาท และนำไปลงทุนเพิ่มในบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่น ๆ ที่จะซื้อต่อจาก Scotiabank อีกประมาณ 12,000 ล้านบาท 

หลังการรวมกิจการ โครงสร้างการถือหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไป

"สมเจตน์  หมู่ศิริเลิศ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ TCAP เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB แล้วจะย้ายความเป็นเจ้าของธนาคารธนชาต ที่เคยถือหุ้นในสัดส่วน 51% เป็นผู้ถือหุ้น TMB ในสัดส่วนประมาณ 20% เศษ รองจากกลุ่ม ING ที่ถือในสัดส่วน 21-22% และกระทรวงการคลังอีก 18-19% ซึ่งตามที่ขออนุมัติธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ กำหนดควบรวม 2 ธนาคาร เป็นธนาคารแห่งใหม่ภายในปี 2564 ซึ่ง ช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ ยังคงเดินหน้าภายใต้ 2 ธนาคาร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งเพื่อรวมกิจการ

ธนชาตยังคงรักษาจุดแข็งในการทำธุรกิจเอาไว้อย่างครบถ้วน

ภายใต้ธนาคารแห่งใหม่นั้นนอกจากโฟกัสเรือธงในธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์แล้วต่อไปพยายามจะเพิ่มธุรกิจรายย่อยเช่นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิตเพื่อให้มีความหลากหลาย โดยยุทธศาสตร์ TCAP ยังครองตลาดเช่าซื้อครบทั้งแผงไม่ว่ารถใหม่  รถเก่า รถแลกเงิน รถบรรทุก หัวรถลาก ซุปเปอร์คาร์ บิ๊กไบค์ทั้งนี้ TCAP ไม่ละทิ้งโอกาสด้านธุรกิจเช่าซื้อยังคงเป็น "ผู้นำ" เพียงแต่เปลี่ยนรูป

การรวมกิจการจะเป็นเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งที่ได้มากกว่าสอง

"สมเจตน์" ขยายความถึงอนาคตว่า แม้ TCAP จะถือหุ้นธนาคารแห่งใหม่ในสัดส่วนที่น้อยลง แต่ธนาคารแห่งใหม่จะมี economy of scale ที่ใหญ่เป็น 2 เท่าซึ่งสินทรัพย์มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 6 ใกล้เคียงอันดับที่ 5 มากขึ้น มีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 10 ล้านรายจากเดิมอยู่ที่ 4 ล้านราย โดยเฉพาะลูกค้าจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งมีเครือข่าย และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จึงมีโอกาสจะเติบโตก้าวกระโดดมากขึ้น ในส่วนของพนักงานก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีความก้าวหน้าในการทำงานจากสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้นและฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น

เรื่องของการ Synergy จะกลายเป็นวาระที่เข้มข้นในอนาคต

จากนี้ไปเป็นเรื่องทีมงานต้องเข้มข้นในการทำให้ Synergy เกิดขึ้น ซึ่งการรวมธนาคารถ้าทำได้ดีจริง ๆ จะทำให้ความแข็งแกร่งมากขึ้น ศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและธนาคารใหม่ ก็จะเจริญเติบโตมากกว่าแต่ละธนาคารเดี่ยว ๆ และ มีโครงสร้างรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น 

จะมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษหลังจากดีลควบรวมนี้ด้วย

ภายหลังจากการปรับโครงสร้าง การขายหุ้น TBANK และการลงทุนในหุ้น TMB แล้ว TCAP จะมีเงินคงเหลือประมาณ 14,000 ล้านบาท คณะกรรมการจึงมีมติกำหนดแนวทางการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าว โดยจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษ 4 บาทต่อ และซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่ออันเก่าที่จะครบกำหนดคงจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นของ TCAP ไม่ลดลงโดยพยายามรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ใกล้เคียงระดับ 12%

"หน้าที่เราคือการทำให้รายได้และผลกำไรมีการเจริญเติบโต ที่ยั่งยืนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนตลอดเวลา ฉะนั้นการไม่อิงกับรายได้แหล่งใดแหล่งหนึ่งตลอดเวลาน่าจะเป็นผลดีกับบริษัทในระยะยาว"  สมเจตน์ ย้ำ

สำหรับแนวโน้มรายได้นั้นจะมาจากธุรกิจหลักโดยเฉพาะธนาคารแห่งใหม่ในสัดส่วน 50-60% ที่เหลือจะมาจากบริษัทลูกได้แก่ บมจ.ราชธานี  ธนชาตประกันภัย หลักทรัพย์ธนชาต นอกจากนี้ TCAP มีแผนจะสร้างรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL และ NPA) และการขายบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core)  

หลังจากนี้ตามกฎหมาย TCAP ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) แม้จะไม่เป็นกลุ่มการเงินของสถาบันการเงิน ไม่ต้องขออนุญาตธปท.ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำธุรกิจ ประกอบกับในอนาคต TCAP จะมีเงินสดเข้ามามากขึ้นจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าจะลงทุนในธุรกิจอะไร เพื่อให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว 

ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อจะเลือกลงทุนในสิ่งที่เชี่ยวชาญและต้องยึดหลักธรรมาภิบาลที่ทุนธนชาตพิสูจน์ตัวเองมากว่า 40 ปี

เรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับนักลงทุนทุกคนเลย

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

บทความนี้เป็น Advertorial