หากพูดถึงแบรนด์รถยนต์แห่งความไว้ใจ Subaru น่าจะต้องเป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ที่ติดอันดับต้น ๆ ในใจของผู้บริโภค Subaru เป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะไปรุกเติบโตจนเป็นแบรนด์ระดับโลกในฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ความน่าสนใจ ณ ขณะนี้ คือ Subaru มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว และกำลังจะบุกตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง

กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์อย่างเป็นทางการแห่งแรกในประเทศไทยที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยมีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท

TCIL เกี่ยวข้องกับ Subaru อย่างไร?

บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) คือ บริษัทผู้ลงทุนเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยในครั้งนี้ โดย TCSAT เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่าง TCIL (Tan Chong International – HKSE: 0693) บริษัทอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ชื่อดังที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ในสัดส่วนการถือหุ้นรวม 74.9% และ Subaru หรือ ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 25.1%

TCSAT จะเริ่มต้นกับ Subaru Forester รุ่นที่ 5

รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ รุ่นที่ 5 คือ รถยนต์แบบน็อคดาวน์ (completely knocked-down หรือ CKD) รุ่นแรกที่ถูกประกอบขึ้นภายใต้การดูแลของ TCSAT ซึ่งแน่นอนว่าฐานการผลิตที่แตกต่างไปในแต่ละภูมิภาคไม่ได้มีผลต่อคุณภาพรถยนต์ของซูบารุแต่อย่างใด ทุกโรงงาน ทุกสายพานการผลิตของบริษัทยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยมาตรฐานระดับสูงที่ซูบารุยึดถือเป็นหัวใจหลักตลอดมา

Go Local, Act Global!

ถึงแม้ว่าซูบารุจะมีการกระจายฐานการผลิตไปยังระดับภูมิภาค แต่มาตรฐานการผลิตก็ยังรักษาไว้ในระดับสูงเหมือนในทุกโรงงานทั่วโลก โดยการขยายฐานการผลิตในไทยในครั้งนี้ TCSAT ได้ว่าจ้างทีมงานชาวญี่ปุ่นในการควบคุมมาตรฐานและกระบวนการผลิตเพื่อคงไว้ซึ่งความเข้มงวดในระดับเดียวกันกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการใช้หุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงเข้ามาใช้ในการผลิตหลายขั้นตอนเพื่อคุณภาพที่สูงกว่าและการปราศจากข้อบกพร่องอีกด้วย

คงไว้ซึ่งความสม่ำเสมอและพิถีพิถัน

การทำสีของ Subaru ใช้ระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมผิวรถล่วงหน้า ระบบ Electrical Deposit การลงสีชั้นรองพื้น และการเคลือบผิวชั้นบนสุด จุดเชื่อมต่อ ที่สำคัญระหว่างของตัวถังรถกับชิ้นส่วนกระจกก็ใช้วิธีการอัตโนมัติเพื่อให้ได้ความสม่ำเสมอทั่วทั้งตัวรถ นอกจากนี้ ระบบการผลิตยังถูกควบคุมด้วยระบบควบคุมคุณภาพตลอดทุกขั้นตอน มีการประเมินสภาพของรถทุกคันก่อนออกจากโรงงาน สิ่งเหล่านี้รวมเป็นความปลอดภัย มั่นใจ และเชื่อถือได้ของ Subaru

รักษาไว้ซึ่งคุณภาพและประสิทธิภาพดังเดิม

ด้วยมาตรฐานเดียวกับประเทศญี่ปุ่น รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ที่ถูกประกอบขึ้นในประเทศไทย จะยังคงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งและพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางสำหรับทุกคนในครอบครัว พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีหลักทั้ง 4 ของซูบารุ ได้แก่ 

(1) เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ที่มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำเพื่อความเสถียรและการควบคุมรถยนต์ที่ดีขึ้น 

(2) ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Subaru Symmetrical All-Wheel Drive) ที่ถ่ายทอดพลังไปยังล้อทั้งสี่เพื่อให้ผู้ขับขี่อุ่นใจในทุกสภาวะถนน

(3) Subaru Global Platform ที่ยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพโดยรวม มีการออกแบบตัวถังและแชสซีส์ใหม่ 

(4) เทคโนโลยี EyeSight Driver-Assist ช่วยเตือนผู้ขับขี่ถึงความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดและช่วยป้องกันอุบัติเหตุ

Subaru เตรียมปักธงเติบโตครั้งใหญ่ในไทยและอาเซียน

รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ รุ่นที่ 5 ภายใต้การดูแลของ TCSAT ช่วงแรกจะถูกจัดจำหน่ายในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมอเตอร์ อิมเมจ กรุ๊ป (Motor Image Group) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ TCIL โดยรถยนต์ที่ประกอบจาก TCSAT ได้ถูกส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ในงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 40 ที่ผ่านมา มอเตอร์ อิมเมจก็สามารถทำยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของซูบารุ ฟอเรสเตอร์อีกด้วย

มร.เกลน ตัน รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL)  เปิดเผยว่า...

“การที่เราสามารถผลิตรถยนต์ซูบารุในประเทศไทยได้ด้วยตนเองนั้นถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จครั้งสำคัญ   โดยที่ผ่านมาเราดูแลธุรกิจในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดจำหน่าย การแต่งตั้งผู้จำหน่าย และการบริการหลังการขาย แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลการผลิตรถยนต์ซูบารุได้แล้ว การวางแผนธุรกิจระยะยาวอย่างมียุทธศาสตร์ของเราจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของเราได้ดีขึ้น สามารถขยายสายการผลิตได้มากขึ้น ทำการตลาดในระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น พึ่งพาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นน้อยลง และสามารถตอบสนองความต้องการรถยนต์ซูบารุของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีมากขึ้น นั่นหมายถึงเรามีโอกาสขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นได้ด้วยในอนาคต”

ไม่ได้มองแต่ยอดขาย แต่ Subaru สนใจทุก Stakeholders

การขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยในครั้งนี้ Subaru คำนึงถึงทุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่พนักงานในสายการผลิตที่จะได้รับความปลอดภัยจากระบบควบคุมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมที่ถูกดูแลด้วยระบบชีวอนามัยที่ดี เศรษฐกิจในชุมชนที่จะดีขึ้นจากการเข้ามาของโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพ ในขณะที่ผู้บริโภคยังสามารถได้รับรถยนต์สมรรถนะสูงที่การันตีด้วยมาตรฐานระดับโลก และบริษัทก็ยังได้ถือโอกาสขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง เพิ่มโอกาสการส่งมอบสินค้าที่ไว้ใจได้ให้กับการใช้งานในครอบครัวอย่างมีความสุข

ยินดีต้อนรับ Subaru สู่แดนขวานทองของไทย !

ลงทุนศาสตร์

บทความนี้เป็น Advertorial