สังเกตมั้ย? ทุกครั้งที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อย่างเช่น แบงก์ชาติมีทิศทางปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายชัดเจน เราจะเห็นสัญญาณอันหนึ่งที่มาพร้อมกับแนวโน้มดอกเบี้ยขึ้นเสมอ ก็คือ การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน

เหตุผลก็เพราะผู้ออกหุ้นกู้ อยากจะลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น จึงมักจะออกหุ้นกู้อายุยาวๆ เพื่อล็อคต้นทุนของตนเองให้ต่ำให้มากที่สุด และเมื่อออกหุ้นกู้มา ก็อยากให้มีคนซื้อเยอะๆ วิธีพื้นฐานเลย คือ ให้ดอกเบี้ยสูงๆ อย่างหุ้นกู้บางตัวให้ดอกเบี้ยสูงถึง 7% กว่าเลยทีเดียว

ปกติแล้วการซื้อ “หุ้นกู้” คนซื้อจะมีสถานะต่อบริษัทที่ออกหุ้นกู้ คือเป็น “เจ้าหนี้” ต่างกับการซื้อ “หุ้นสามัญ” ที่เราจะมีสถานะเป็น “เจ้าของ” บริษัทนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วความเสี่ยงจากหุ้นกู้ จะน้อยกว่าหุ้นสามัญ เมื่อหลายคนเห็นดอกเบี้ยจากหุ้นกู้เยอะๆ แบบนี้ก็อยากซื้อ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำ เงินเฟ้อก็สูง เล่นหุ้นก็เสี่ยง เห็นหุ้นกู้แบบถูกกฎหมาย ดอกเบี้ยเยอะๆ ก็ดีใจ นี่แหละ ใช่เลย

แต่ช้าก่อนนะ! การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนไม่เหมือนการฝากเงินธนาคารนะ เช่น การฝากเงินกับธนาคารมีสถานบันคุ้มครองเงินฝากคอยดูแลเมื่อธนคารล้มละลาย แต่หุ้นกู้ไม่มีใครคุ้มครองโดยตรง อีกทั้งเงินฝากสามารถถอนเงินได้ตลอดเวลา แต่หุ้นกู้ เราจะขอถอนเงินต้นคืนจากผู้ออกหุ้นกู้ได้ ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขหุ้นกู้หรือต้องครบอายุหุ้นกู้ก่อน ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินก่อนหุ้นกู้จะครบอายุ เราก็ต้องไปขายในตลาดรองเอาเอง อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้

ดังนั้น เมื่อเราซื้อหุ้นกู้ เราจึงจำเป็นต้องดูให้ดีว่า ดอกเบี้ยที่ได้คุ้มหรือไม่กับความเสี่ยงที่ถอนก่อนก็ไม่ได้ และถ้าหุ้นกู้เบี้ยวหนี้ เราก็ไม่ได้ดอกเบี้ยแถมเงินต้นก็ไม่ได้คืน เหมือนให้เพื่อนยืมเงิน แล้วเพื่อนไม่คืน จะฟ้องร้องก็เหนื่อย และใช้เวลาหลายปี

ที่ผ่านมา จากข้อมูลของ สมาคมตลาดหุ้นกู้ไทย(ThaiBMA) ปี 2566 นับถึงตอนนี้ มีหุ้นกู้ที่เบี้ยว หรือ ผิดนัดชำระหนี้กว่า 24,869 ล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 13,539 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 11,329 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อเป็นแบบนี้ เราควรจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้อย่างไรให้ปลอดภัยดี?

1. ดูดอกเบี้ยว่าให้เท่าไหร่กันแน่

เราผู้ซื้อหุ้นกู้ได้เป็นเจ้าหนี้ เราก็อยากได้ดอกเบี้ยเยอะๆ แต่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นลูกหนี้ ก็อยากเสียดอกเบี้ยน้อยๆ ดังนั้นจึงมีผู้ออกหุ้นกู้บางรายประกาศว่าให้ดอกเบี้ยสูงมาก อย่างเช่น ประกาศว่าให้ดอกเบี้ยสูงถึง 5% แต่พอเข้าไปดู กลับเป็นดอกเบี้ยขั้นบันได คือ จ่ายดอกเบี้ยแบบทยอยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น

ปีที่ 1 ให้อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
ปีที่ 2 ให้อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
ปีที่ 3 ให้อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี
ปีที่ 4 ให้อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี
ปีที่ 5 ให้อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี

จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วเราจะได้ดอกเบี้ย 5% แค่ปีสุดท้ายปีเดียว และเมื่อเอามาคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยโดยเอาดอกเบี้ยในแต่ละปีมาบวกกันแล้วหารจำนวนปี คือ 1+2+3+4+5 แล้วหาร 5 = 3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 5% ที่ประกาศตั้งเยอะ และถ้าคิดให้ละเอียดเราจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แท้จริงที่เราได้อยู่ที่ 2.99% ต่อปีด้วยซ้ำ

2. ความเสี่ยงของหุ้นกู้

ภาษาการเงินเรียกความเสี่ยงประเภทนี้ว่า ความเสี่ยงด้านเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกหุ้นกู้จะเบี้ยวหนี้ อย่าตัดสินความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้จากความคุ้นเคย เพราะเรามักตัดสินว่าผู้ออกหุ้นกู้รายไหนที่เราคุ้นเคยว่าไม่เสี่ยง เราจะเชื่อว่าไม่น่าจะผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่ผู้ออกหุ้นกู้รายไหนที่เราไม่คุ้นเคยก็จะคิดว่าเสี่ยงมาก

จริงๆแล้ว ความคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย ไม่เกี่ยวอะไรกับความเสี่ยงเลย อย่างเช่น เราให้เพื่อนยืมเงิน เพราะคุ้นเคยรู้จักกันมานาน แต่สุดท้ายที่พบบ่อยมาก ก็คือ เพื่อนเบี้ยวหนี้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นกู้ที่เราลงทุนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเราวิเคราะห์บริษัทเป็น ดูงบการเงินเป็น เราก็พิจารณาได้ด้วยการดูว่า บริษัทมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน โดยดูจาก “งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ” ดู “งบกระเเสเงินสด” ว่ามีกำไรไหม? เงินสดสุทธิเหลือจริงๆ เท่าไหร่? มีภาระหนี้เยอะไหม?

เห็นมาเยอะ บริษัทที่กำไรเยอะ แต่สุดท้ายเจ๊ง เพราะไม่มีเงินสดมาจ่ายคืนเจ้าหนี้ ถ้าเราดูงบไม่เป็น

มีเครื่องมือที่จะช่วยในการดูความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ คือ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)

อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้ออกหุ้นกู้ในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเต็มจำนวนตรงตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งยังบอกถึงความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ออกหุ้นกู้ได้อย่างครบถ้วน

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ ที่ประกาศโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

ซึ่งเรียงตามลำดับจากอันดับเครดิตที่สูงที่สุด อย่างเช่น ของ ทริสเรทติ้ง เรียง AAA ดีสุด C เสี่ยงสุด เป็นต้น ตามมาตรฐานสากลอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA ถือว่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB ลงไป มักเป็นหุ้นกู้ในระดับที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Speculative) หากผู้ออกหุ้นกู้ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับต่ำ แสดงว่าผู้ออกหุ้นกู้นั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างสูง ก็จำเป็นต้องเสนอดอกเบี้ยที่สูงเพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนสนใจ แต่หากผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูง แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็ย่อมที่จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

3. ดูหลักประกันของหุ้นกู้

ถ้าผู้ออกหุ้นกู้นั้น มีหุ้นกู้ทั้ง "แบบมีหลักประกัน" กับ "แบบไม่มีหลักประกัน" ให้เราเลือก ถ้าอยากสบายใจ ก็เลือกหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน เพราะถ้าผู้ออกหุ้นกู้มีปัญหา เราก็จะมีหลักประกันสำหรับการชำระหนี้

4. ดูสิทธิของหุ้นกู้

ในตลาดตอนนี้มีหุ้นกู้หลายประเภท แบบหนึ่งที่ออกกันมาก คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่คนซื้อมีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทหลังคนที่ถือหุ้นกู้หรือหุ้นกู้ทั่วไปในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหา แปลว่าถ้าผู้ออกหุ้นกู้เจ๊ง จะต้องชำระบัญชีเพื่อคืนเงินให้เจ้าหนี้ คนที่เป็นเจ้าหนี้ทั่วไป (คนที่ถือหุ้นกู้ทั่วไป) จะได้เงินคืนก่อน คนที่เป็นเจ้าหนี้ด้อยสิทธิจะได้เงินคืนหลังคนที่ถือหุ้นกู้ทั่วไปได้เงินคืนเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ดังนั้น อาจจะต้องดูให้ดีว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่ เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ ไม่ด้อยสิทธิ กันแน่

5. ดูเงื่อนไขสัญญา

สัญญา(Covenant) เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่เราว่าผู้ออกหุ้นกู้จะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใดๆ ที่จะส่งผลลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ อย่างเช่น เงื่อนไขทางการเงินโดยการกำหนดระดับหนี้สินต่อทุน หรือเงื่อนไขที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน เป็นต้น

6. ดูอายุของหุ้นกู้

ถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสั้น เพราะธรรมชาติราสารหนี้ ดอกเบี้ยขึ้น ราคาหุ้นกู้จะลง ดอกเบี้ยลง ราคาหุ้นกู้จะขึ้น วิ่งสวนทางกันเสมอ ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะเสี่ยงกับราคาหุ้นกู้ที่จะลง เราก็ควรลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นๆ จะปลอดภัยกว่า และเพิ่มโอกาสให้กับเราที่จะสามารถเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าปัจจุบันได้

ปัจจุบันหุ้นกู้มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เช่น หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดอายุไถ่ถอนคืน หรือ หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) คือ หุ้นกู้ที่สามารถแปลงสิทธิจากตราสารหนี้เป็นตราสารทุนหรือหุ้นได้ เป็นต้น

หุ้นกู้แม้ว่าจะน่าสนใจ ก็เหมือนการลงทุนอย่างอื่นๆ ที่ก่อนจะลงทุน เงินยังอยู่ในมือเรา เราควรศึกษาข้อมูลให้ดี อย่างมากก็เสียแค่เวลา แต่ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก่อนลงทุน เราอาจเสียทั้งเวลาและเงินเลยนะ