สวัสดีครับ นักลงทุนทุกท่าน กลับมาพบกับผมอีกครั้ง หมอนัท คลินิกกองทุน คนเดิมครับ วันนี้มีเรื่องที่น่าสนใจที่จะมีผลต่อการเงินของยอดมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายโดยตรง มาเล่าสู่กันฟังครับ

เมื่อไม่นานมานี้ทางออมมันนี่ได้ทำโพลสำรวจการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพร่วมกับทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจากผลสำรวจมีเรื่องที่น่าสนใจและน่ายินดีมาพูดคุยกันนั่นก็คือ

"คนรุ่นใหม่เริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเร็วขึ้น"

3 สาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ใส่ใจ PVD มากขึ้น

เด็กรุ่นใหม่ช่วงอายุ 23-29 ปี (First Jobber) ใส่ใจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือว่า Provident Fund (PVD) มากขึ้น ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้อยู่ 3 ประการด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

1. บริษัทที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงานมากขึ้น

เลยทำให้มีบริษัท ฯ ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม First Jobber ที่มีอายุประมาณ 20-24 ปี และ กลุ่มที่เริ่มทำงานมาได้สักพัก ที่มีอายุประมาณ 25-29 ปี เข้าถึงการเก็บเงินในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สาเหตุหลักจากผลสำรวจ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นเพราะบริษัทไม่มีให้ครับ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อยากฝากให้หลาย ๆ บริษัทพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มสวัสดิการส่วนนี้เข้าไปได้จะดีมาก ๆ เลยนะคร้าบ

2. การเผยแพร่ความรู้ทางการเงินเริ่มเป็นกระแสที่มีความนิยมมากขึ้น

ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงเรื่องการบริหารการเงินได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนรุ่นใหม่ และคนที่เริ่มทำงานมาสักพักเริ่มมีแนวคิดที่อยากได้เงินยามเกษียณที่มากขึ้นเพื่อที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต และได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการนั่นเองครับ

3. เด็กรุ่นใหม่ ๆ เริ่มสนใจการเก็บออมมากขึ้น

เนื่องจากรู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงินได้  และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรามีเงินล้านได้อย่างไม่ยากเย็นเลยครับ

ถึงตรงนี้น้อง ๆ คนไหนที่อยากจะมีเงินล้านจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ตามมาเลยครับ พี่หมอจะอธิบายให้ฟังครับ

ถึงล้านไวได้ด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

1. การปรับเงินสะสมให้มากขึ้น

โดยทั่วไปหลังจากที่เราได้หักเงินตนเองเข้าไปสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว นายจ้างของเราก็จะมีการจ่ายสมทบให้อีก (เหมือนเป็นเงินโบนัสจากการทำงานครับ)

“ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า หากเราเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทสมทบให้ 10% หรือ 1,500 บาท ถ้าครบปี เราจะได้เงินจากนายจ้างอยู่ที่ 18,000 บาท หรือเหมือนกับว่าได้โบนัสมาแล้ว 1 เดือน” 

คิดดูสิครับ ว่าหากเราเองก็สะสมไว้เท่ากับนายจ้าง รวมกันเป็น 36,000 บาทต่อปี (อันนี้ยังไม่รวมโบนัสปลายปีอีกนะครับ) สะสมไว้ 20 ปี จะเกิดอะไรขึ้น อันนี้ยังไม่รวมกับผลตอบแทนที่ได้ระหว่างปีทางอีกด้วย

ซึ่งถ้าเราอยากให้ได้เงินล้านเข้ามาเร็วมากขึ้นเราก็สามารถปรับสัดส่วนอัตราการสะสมของเราได้ครับ จะได้สูงสุดถึง 15% ของเงินเดือนเลยทีเดียวครับ หากท่านไหนอยากที่จะสะสมในอัตราที่สูงขึ้นก็สามารถทำได้เลยครับ แต่บริษัทที่นายจ้างจะสมทบ 10% ไม่ใช่ทุกบริษัทนะครับ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทด้วย

แต่จากผลของโพลสำรวจของผู้ที่ร่วมการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,210 คนนั้น จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่จะเก็บสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ประมาณ 3-5% เท่านั้นเอง ซึ่งผมคาดว่าเกิดจากนโยบายของบริษัท ฯ ส่วนใหญ่ที่จำกัดขั้นต่ำในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอยู่ที่ 3-5% เป็นหลักนั่นเองครับ จึงทำให้พนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้สะสมเพิ่มเติมไปมากกว่าที่บริษัท ฯ ได้สมทบให้

และน่าประหลาดใจที่ในปัจจุบันใครหลาย ๆ คนอาจจะยังคงสะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไม่สูงมากเท่าไหร่นักเท่าไหร่ ดังนั้นใครที่ทราบแล้วก็อย่าลืมใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ เพิ่มเงินตนเองลงในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เพิ่มมากขึ้นนะครับ

แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า จะมีคนบางกลุ่มที่สะสมแบบเต็มสิทธิ์ คงเป็นเพราะว่าเมื่อทำงานไปสักพักแล้วเริ่มเห็นผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือว่าเงินที่เพิ่มมากขึ้นในกองทุน จึงเราจะเห็นจากโพลได้ว่ามีคนสะสม 15% เต็ม Max มากขึ้นเป็นอันดับที่ 3 รองจาก 3% และ 5% ที่มีสัดส่วนสูงสุดครับ ดังนั้นน้อง ๆ ที่เพิ่งจบใหม่ รู้แบบนี้แล้วก็รีบเพิ่มเงินสะสมกันนะครับ

2. ปรับสัดส่วนลงทุนในหุ้นมากขึ้นผ่าน “Employee's Choice”

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของบางบริษัท ฯ เป็นแบบ Employee’s Choice ครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ว่าจะ ให้มีสัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนเท่าไหร่บ้าง เช่น รับความเสี่ยงได้น้อย ก็อาจจะเลือกแผนที่ปลอดภัยหน่อย อย่างแผน เลือกลงทุนในหุ้น 20% ที่เหลือ 80% จะลงทุนในตราสารมีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ครับ

ในทางกลับกัน หากรับความเสี่ยงได้สูง (คนที่อายุยังน้อย หรือว่าคนที่เน้นลงทุนระยะยาว เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น) ก็สามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนแบบหุ้น 50-60% ขึ้นไปได้ครับ

"แต่น่าเสียครับ ยังมีหลายคนเลยที่ไม่ทราบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตนเองถืออยู่นั้น ปรับสัดส่วนการลงทุนได้ระหว่างทาง (ถึงบางคนจะทราบ แต่ก็ไม่ได้สนใจก็มีนะครับ)"

การเลือกสัดส่วนสินทรัพย์ที่เหมาะสมนั้น จะทำให้การลงทุนระยะยาวได้ผลดีมาก ๆ สมมติว่า เราต้องการเก็บเงิน 5 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 10,000 บาททุกเดือน หากเราลงทุนได้ผลตอบแทน 3% จะต้องใช้เวลาถึง 324 เดือน หรือ 27 ปีเลยทีเดียว ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์นัก

แต่ว่าหากเราปรับสัดส่วนให้มีหุ้นในแผนการลงทุนให้มากขึ้นแล้วได้ผลตอบแทนที่ 5% จะใช้เวลาเพียงแค่ 270 เดือน หรือ 22 ปี เท่านั้นเองครับ หรือว่าเร็วกว่าเดิมประมาณ 5 ปีเลยครับ

จากตารางแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นครับ

  1. คนที่อายุยังน้อยหรือว่าอายุไม่เกิน 30 ปี ส่วนใหญ่ไม่เลือกแผนที่หุ้นเลย ทั้ง ๆ ที่สามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้น ประเด็นนี้น่าจะเกิดจากการที่ไม่ทราบสิทธิ์ในการปรับสัดส่วนของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเองครับ ซึ่งต้องบอกว่าน่าเสียดายมาก ๆ เพราะว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่าคนที่มีอายุมาก ๆ แล้วหรือว่ามีภาระในการใช้จ่ายมากขึ้นครับ
  2. คนส่วนใหญ่จะยังคงเลือกการลงทุนในสินทรัพย์อย่างหุ้นในสัดส่วนที่มีไม่มากนัก คืออยู่ที่ ต่ำกว่า 30% และไม่เกิน 60% ที่เป็นอย่างนี้ก็น่าจะเพราะว่าเกิดจากความไม่เข้าใจถึงเรื่องการลงทุน และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในกาวางแผนการลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีนั้นเองครับ ผมเชื่อว่าถ้าหากเราทราบดีว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ก็น่าจะมีคนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มมากขึ้นครับ

หากเราสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับเราได้ ก็ควรที่จะศึกษา และเลือกแผนที่เหมาะสม ไม่ใช่แต่เพียงรักษาสิทธิ์ แต่เป็นการเพิ่มเงินสะสมของให้เพียงพอต่ออนาคตด้วย หรือถ้าใครอยากได้สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ทางบลจ. ที่เป็นผู้ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีแบบประเมินความเสี่ยงให้เราทำ หากทำเสร็จเราก็จะรู้ทันทีครับว่า เราเหมาะกับแผนแบบไหน

หากใครที่คิดจะเปลี่ยนงานในระหว่างออมใน PVD อย่าลืมนะครับว่า “เราสามารถย้ายเงินจากกองทุนที่ทำงานเดิมไปที่ทำงานใหม่ได้ด้วย !!” เพื่อให้เราได้ออมอย่างต่อเนื่องไป

คราวนี้เมื่อเราทราบแล้วว่า อัตราเงินที่สมทบไป สัดส่วนการลงทุน และ หากมีระยะเวลาในการสะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นาน มีผลต่อเงินล้านที่จะมาได้เร็วขึ้นดังนั้น พี่หมอจะขอยกตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่างให้ดูเพื่อเปรียบเทียบกันแบบชัดไปเลยนะครับ ว่ามันเร็วขึ้น และได้เงินล้านจริง ๆ 

ตัวอย่างที่ 1  : มนุษย์เงินเดือนจบใหม่ รายได้เริ่มต้น 15,000 บาท(ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 6% ด้วยแผนเสี่ยงปานกลาง)

ตาราง การสะสมเงินใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อัตราผลตอบแทนสมมติที่ 6%)

สมมติว่า เริ่มต้นทำงานและ สะสมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่เรียนจบอายุ 23 ปี และมีการสะสมเงินในอัตราที่ 15% (เต็ม Max) นายจ้างให้อีก 5% ทั้งนี้ยังได้ และหากเราตั้งใจทำงานได้เงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้นปีละประมาณ 5%

เราจะมีเงินล้านได้ในตอนที่อายุ 37 แบบไม่รู้ตัว และหากเราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะมีเงินประมาณ 8.6 ล้าน ณ วันเกษียณที่อายุ 60 ครับ

ตัวอย่างที่ 2  : มนุษย์เงินเดือนจบใหม่ รายได้เริ่มต้น 15,000 บาท(ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 10%* ด้วยแผนเสี่ยงสูง Employee's choice) *เท่ากับอัตราผลตอบแทนย้อนหลังของดัชนีหุ้นไทย

ตาราง การสะสมเงินใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อัตราผลตอบแทนสมมติที่ 10%)

เราก็จะมีเงินล้านแรกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเร็วขึ้นไปอีกประมาณ 2-3 ปีเลยครับ แต่ว่าถ้าลงทุนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะมีเงินประมาณ 18.4 ล้าน ณ วันเกษียณที่อายุ 60 ครับ หรือมากกว่าเดิมแค่เกือบ 10 ล้านเลยนะครับ!!

และถ้าหากเรามีเงินเหลือไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น LTF/RMF หรือว่า กองทุนรวม ที่เราพอจะเก็บออมเพิ่ม หรือว่าลงทุนเพิ่มขึ้นก็จะมีเงินล้านได้เร็วขึ้นไปอีกครับ

หมายเหตุ

* ผลตอบแทนสมมตินั้นจะเท่ากันทุก ๆ ปี ซึ่งในความเป็นจริงของการลงทุนนั้น ผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าลงทุนระยะยาว ๆ ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่เราคาดหวังไว้ได้มากขึ้น

** ทั้งนี้ที่ผลตอบแทนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงขนาดนี้ก็เพราะว่า การลงทุนในหุ้นนั้น เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาวนั่นเองครับ จากตัวอย่างผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี(2006-2016) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย หรือว่า SET TR (ผลตอบแทนที่รวมกำไร และ เงินปันผลจากหุ้นแล้ว) จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 10-12% ต่อปี แน่นอนครับว่าจะทำให้ให้เงินของเรางอกเงยเร็วอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงครับ คือ มีโอกาสขาดทุนได้

แต่ว่า !! (หลายแต่เหลือเกิน) "การลงทุนระยะยาว ๆ จะช่วยลดความผันผวนลงครับ ยิ่งลงทุนนานเท่าไหร่ โอกาสขาดทุนก็ยิ่งลดลงไปครับ"

จากภาพกราฟแท่งสีเทาคือตัวแทนของการจัดพอร์ตการลงทุนแบบ หุ้น 50%: ตราสารหนี้ 50%
จะเห็นได้ว่าภายใน 5 ปีก็ไม่ขาดทุนแล้ว

แต่หากเราลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว จะเห็นได้ว่ากราฟสีส้มที่อยู่ริมซ้าย จะต้องลงทุนถึง 20 ปี จึงจะพบว่าไม่มีโอกาสในการขาดทุนเลย แม้จะใช้เวลานานกว่าแต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็มีโอกาสสูงกว่าเช่นกัน

ดังนั้น หากใครเพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ แล้วละก็ ผมแนะนำว่า ให้เริ่มต้นออมให้ไว เริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่คนเริ่มทำงานมี แต่คนที่ทำงานมาสักพักไม่มี หรือว่ามีน้อยลง คือ “เวลา” นั่นเองครับ ใครที่เริ่มต้นไว้จะได้เปรียบ เพราะว่าลงทุนระยะยาวโอกาสขาดทุนแถบจะไม่มี หรือว่ามีน้อยมากนั่นเอง และการเริ่มต้นไวก็ทำให้เราออมเงินต่อเดือนไม่มาก เมื่อเทียบกับคนที่เริ่มช้ากว่าครับ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้เริ่มต้น ศึกษาเรื่องการเงินการลงทุน ถ้าเรามีความรู้เรื่องเงิน เราย่อมที่จะสร้างอิสรภาพทางการเงินที่เป็นความฝันของทุก ๆ คนได้เร็วมากขึ้นไปด้วยครับ

สุดท้ายนี้ผมขอฝาก Tips การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ให้ก่อนจากกัน 4 ข้อดังนี้ครับ

  1. เริ่มต้นออมให้ไว เพราะว่าความเสี่ยงจะลดลง มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี บรรลุความฝันได้เร็ว
  2. อยู่ในกองทุนให้นานต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเรื่องของภาษี และ มีเงินสะสมเพิ่มพูนมากขึ้น
  3. ปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เหมาะสมกับช่วงอายุ ใครอายุน้อย ๆ ปรับให้เสี่ยงขึ้นได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดทุน เพราะว่ายิ่งลงทุนระยะยาวความเสี่ยงยิ่งลดลง
  4. สะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยอัตราที่สูงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรามีเงินเก็บออมมากขึ้นไปในตัว ยิ่งบริษัท ฯ ไหนให้เงินสมทบสูง ๆ นี่ยิ่งเห็นผลชัดเจนมากในระยะสั้น ๆ ครับ

อย่าลืมนะครับ ท่องไว้เลยว่า

“เริ่มออมให้ไว ออมให้นาน สะสมให้มาก เข้าใจสิทธิ์ PVD มีเงินล้านได้ไม่ยากเลยครับ”

หลาย ๆ ท่าน คงจะทราบแล้วนะครับว่า จะทำอย่างไรให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น งอกเงย จนพอที่จะเป็นตัวช่วยให้เก็บเงินล้านได้ และสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ