ผ่านไปแล้วหลายบทความกับงานเขียนของพี่ปึ้ก หวังว่าหลาย ๆ คนคงได้ปรับปรุงความคิดเพื่อที่จะมาพิชิตการเงินด้วยกัน แต่สำหรับบางคนที่ยังไปไม่ถึงฝันหรือยังไม่เริ่มต้นใด ๆ พี่ปึ้กเลยอยากจะถามสั้น ๆ ว่า แล้วเมื่อไรคิดจะเริ่มต้นสักทีละครับ พี่ปึ้กขอเอาหัวเป็นประกันเลยว่า ถ้าไม่เริ่มต้นทำ ชาตินี้ก็ไม่มีวันสำเร็จแน่นอน

ไหน ๆ พูดถึงคำว่า “ประกัน” วันนี้พี่ปึ้กเลยมีคำถามสั้น ๆ มาถามว่า “เมื่อไรที่เราควรซื้อประกัน” แหม ๆๆๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนนั้นคงตอบว่า เฮ้ย ไม่จำเป็นหรอกประกัน เพราะอีกไม่นานฉันก็ตายแล้ว หรือไม่ก็ซื้อไปงั้น ๆ เพื่อประหยัดภาษี หรือไม่ก็ไม่มีอารมณ์จะซื้อสักที

ก่อนที่จะตอบคำถามว่า “เมื่อไร” พี่ปึ้กอยากจะบอกไว้เลยว่า ประกัน ย่อมาจาก “ประกันความเสี่ยง” ถ้าคิดจะซื้อประกัน ลองถามตัวเองว่า ชีวิตเรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วมองหาประกันที่ช่วยลดหรือปิดความเสี่ยงนั้น เช่น

1. เสี่ยงที่ครอบครัวจะต้องรับภาระเรื่องเงินหากเราตายไป

ก็มองหาประกันที่จ่ายเงินเมื่อเราตาย ซึ่งก็มีหลายประเภท เช่น

แบบชั่วระยะเวลา

จ่ายเมื่อตาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเบี้ยทิ้ง คือถ้าตายภายในระยะเวลาที่คุ้มครองก็จ่าย ไม่มีเงินคืน ไม่มีเงินเหลือ ไม่มีอะไรให้ทั้งนั้น จนกว่าจะตายภายในระยะเวลาที่ระบุในสัญญา

โดยประกันประเภทแบบชั่วระยะเวลา จะเน้น “การให้ความคุ้มครองไม่ใช่ออมทรัพย์” ประหยัดเพราะ “จ่ายเบี้ยประกันต่ำสุด” และที่สำคัญเหมาะสำหรับคนที่มี “ความเสี่ยงสูง”

แบบตลอดชีพ

ประกันแบบนี้ คือ ตายเมื่อไรก็จ่าย แต่ถ้าอยู่ถึงครบกำหนดสัญญาจะได้เงินประกันคืน ซึ่งการทำประกันแบบนี้มีเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังเมื่อเราตาย เพื่อให้พวกเขาไม่อายชาวบ้าน เพื่อรักษาตัวเองหรือทำศพ จะได้ไม่ต้องตกเป็นภาระของลูกหลาน

โดยประกันแบบตลอดชีพ จะเน้น “การให้ความคุ้มครองมากกว่าการออมทรัพย์” เช่นกัน

ประกันประเภทนี้ขอแนะนำเลยว่าเหมาะมากสำหรับคนยังมีภาระหนี้สินก้อนใหญ่ เช่น ผ่อนบ้าน หรือต้องการทำไว้เพื่อเป็นมรดกให้ลูก ๆ ก็ได้

2. เสี่ยงที่ตัวเองจะมีเงินไม่พอใช้ในอนาคต

ก็มีประกันที่เมื่อเราทยอยจ่ายเบี้ยประกันครบตามเงื่อนไข  บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินคืนให้เราตามกำหนดเวลา เช่น

แบบสะสมทรัพย์

ประกันแบบนี้จะจ่ายคืนเมื่อเราไม่ตายและอยู่ได้จนครบกำหนดสัญญา โดยมีผลตอบแทนให้พอรู้สึกดี แต่ถ้าหากตายไปในระยะเวลาที่มีประกัน เราก็ได้เงินเช่นเดียวกัน

โดยประกันแบบสะสมทรัพย์ จะเน้น “การออมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง” แถมยังมีการจ่ายคืนเงินระหว่างทาง และเหมาะสำหรับคนที่ต้องการ “ออมเงิน”

แบบเงินได้รายปีหรือประกันแบบบำนาญ

ประกันแบบนี้จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่า ๆ กันสม่ำเสมอตั้งแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรืออายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี แล้วแต่เงื่อนไขที่กำหนดไว้กับทางบริษัทประกัน

โดยประกันแบบเงินได้รายปี จะเน้น “การออมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง” แต่ไม่มีการจ่ายคืนเงินระหว่างทาง และเหมาะสำหรับคนที่ต้องการ “ออมเงิน” เพื่อใช้ในยามเกษียณ

หลายคนซื้อประกันประเภทนี้เพราะหวังจะสร้างผลตอบแทนสูง เราจะเห็นตัวเลขที่คนขายประกันบอกว่าเมื่อครบอายุกรมธรรม์จะจ่ายคืนถึง 200% แต่ลืมคิดไปว่าจริง ๆ แล้ว ผลตอบแทนที่แท้จริงโดยเฉลี่ยของประกันในปัจจุบันมันแค่ 2-3% เท่านั้นเอง เพราะเงินส่วนหนึ่งที่เค้าคืนมาคือเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป  ถ้าไม่เชื่อไปลองคำนวณดูที่ www.จัดการเงินเป็น.com ในหัวข้อประกันออมทรัพย์ผลตอบแทนเท่าไหร่  แม้ตัวเลขผลตอบแทนที่คำนวณออกมาจะน้อยมากแต่อย่าไปตกใจ เพราะบอกแล้วไงว่าประกันน่ะมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง จำไว้!

และไอ้คำว่า “ผลตอบแทนสูง” นี่แหละที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลืมไปว่า จริง ๆ แล้วประกันนั้นต้องจ่ายระยะยาวนะจ๊ะเธอจ๋า เปรียบเหมือนกับการผ่อนบ้านยังไงอย่างนั้นเลย จ่ายกันเข้าไปหลายสิบปี ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจต้องรู้จักประมาณตัวเองด้วยว่า เราจะมีรายได้ตลอดไปหรือไม่ อย่าให้คำว่า ผลตอบแทนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์มันบังตา เพราะถ้าจ่ายไม่ไหวขึ้นมา ขาดทุนล้านเปอร์เซ็นต์นะจ๊ะ

ยังมีความเชื่อผิด ๆ หลายเรื่องเกี่ยวกับการซื้อประกัน เช่น

  • ประกันนั้นมีไว้เพื่อลดภาษี จริง ๆ แล้วประกันบางประเภทใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่หลักใหญ่ใจความแล้วประกันมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราต่างหาก
  • ประกันไม่ควรทำตอนเด็กๆ อันนี้พี่ปึ้กอยากจะโบก เอ้ย บอกให้ฟังว่า ยิ่งอายุน้อยเท่าไร ค่าเบี้ยประกันมันจะยิ่งถูกกว่าตอนที่เราอายุมาก เพราะความเสี่ยงในการเสียชีวิตตามที่เค้าคำนวณนั้นมันต่ำกว่า ดังนั้นเริ่มทำประกันตั้งแต่อายุน้อย ได้ความคุ้มครองเหมือนกัน แต่จ่ายเบี้ยประกันน้อยกว่าคนแก่นั่นเองจ้ะ
  • ประกันไม่ควรทำตอนสุขภาพดี ใครที่คิดแบบนี้บอกเลยว่าผิด เพราะว่า ยิ่งสุขภาพเราแย่ตอนทำประกัน เราอาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ทำ หรือจ่ายค่าเบี้ยแพงกว่าเดิมอีกต่างหาก ดังนั้นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนทำประกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใดนะจ๊ะ

ประกันสุขภาพบางรูปแบบบอกเราว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ไม่จ่ายเงินชดเชยถ้าเราตายภายใน 2 ปีแรกที่ซื้อประกัน หรือบางรูปแบบบอกว่าถ้าตายจะได้รับเงินชดเชยเป็น 2 เท่า แต่อยู่ในเงื่อนไขหากเราตายหลังจากที่จ่ายเบี้ยประกันไประยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงควรอ่านเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยให้ละเอียดด้วยนะ

เอาหละ หลังจากดูเช็คลิสต์ของพี่ปึ้กกันไปแล้ว ลองตรวจสอบกันดูนะครับว่า ความต้องการของเราเป็นแบบไหน เราอยากได้ประกันเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ป้องกันความเสี่ยง ออมทรัพย์ วางแผนเกษียณ รวมถึงความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันในอนาคต แล้วเลือกประกันที่ตรงกับความต้องการของเรา ถ้าเลือ