คุ้มไหมกับการซื้อกาแฟแก้วละ 100 กว่าบาท?

ช่วงนี้เป็นช่วงที่กินกาแฟติดกัน 2 วันแต่เป็นคนละยี่ห้อ วันหนึ่งผมกิน Starbucks แก้วละ 140 บาง พอมาอีกวันมาลองกินของ Amazon แก้วละ 75 บาท

ราคาของทั้ง 2 แก้วนี้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จากที่ซื้อมาราคาต่างกันเกือบเท่านึงเลยนะ ถ้าถามว่าคุ้มค่าไหม มันวัดได้หลายรูปแบบนะ

1. รูปแบบตัวเงินที่จ่าย

ถ้าเรามองแค่ตัวเงินที่จ่ายออกจากกระเป๋าตังเราเนี่ย แน่นอนว่า Starbucks จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นๆในลักษณะของมารร้ายทางการเงินทันที ฮ่าๆ ในขณะที่ของที่มีราคาถูกกว่าในตัวเงินก็จะกลายเป็นพระเอก อารมณ์แบบว่า แกรรรร ซื้อกาแฟแก้วนึง 140 บาทแหนะ กินข้าวจานละ 40 บาทได้ 3 จานกว่าๆเลยนะ

แต่การมองแบบนี้มันก็อาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้หากเราอยากจะเก็บเงิน ด้วยการสำรวจดูว่าเราใช้เงินกับอะไรที่แพงๆ ใช้บ่อยๆ และคิดว่าถ้าลดมันได้ก็อาจจะทำให้เราเก็บเงินได้มากขึ้น บางคนบ่นว่าไม่มีเงิน เงินไม่พอแต่เห็นซื้อกาแฟวันละ 2-3 แก้วทุกวัน ประหยัดมากขึ้นก็รวยขึ้นได้

2. มองจาก Experience ที่ได้รับ

ถ้าเรามองในอีกแง่หนึ่งโดยที่เอาเงินไปเทียบกับประสบการณ์ของชีวิต คำตอบมันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ถูกไหมครับ? คำว่าประสบการณ์นั้นผมไม่ได้หมายความว่าการจ่ายเงินแพงจะได้ของคุณภาพดีกว่า แต่มันพูดถึงองค์รวมของสิ่งที่เราได้รับ คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าเราก็จะตัดสินใจกันเอาเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปเที่ยวปารีสแล้วชั้นบนสุดของหอไอเฟลมีกาแฟขาย คิดเป็นเงินไทยราคา 500 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาโดยทั่วไปและรสชาติธรรมดาๆแบบกาแฟที่หากินที่ไหนก็ได้ เราอาจจะมองว่า มันแพงจัง กาแฟแบบนี้แก้วละ 100 ก็พอป่ะ?

แต่ถ้าผมบอกเพิ่มไปว่า นี่เป็นโอกาสเดียวที่คุณจะได้จิบกาแฟบนยอดหอไอเฟลที่มีแห่งเดียวในโลกและคนทั้งโลกเก็บเงินเพื่อเดินทางมาหามัน เมื่อคุณซื้อไปแล้วคุณจะต้องไปยืนที่มุมหนึ่งเพื่อถ่ายรูปที่อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศสทุกยุคจะต้องเดินทางมาในจุดนี้!

โอ้ว โหฟังแบบนี้ ให้จ่าย 1,000 เลยดีไหม? 500 ถูกไปเปล่าวะ?

เชื่อผมไหมว่าหลายคนจะซื้อมันโดยทั้งที่รู้ว่าราคามันแพง แต่มันคือความคุ้มค่าที่เราขึ้นมาอยู่บนหอไอเฟลแล้วซื้อกาแฟมาแล้วยกกล้องขึ้นมา Selfie เพื่ออวดเพื่อนทั้งโลกว่า

"ฉันอยู่บนหอไอเฟล จิบกาแฟอยู่นะแกรรรรร"

เรื่องพวกนี้มันคือการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อประสบการณ์ของเราอยู่แล้ว จริงๆแล้วความแพงไม่แพง มันมองจากจุดนี้ด้วยก็ได้

แน่นอนว่าบางคนอาจจะมองว่าการนั่งจิบกาแฟใน Starbucks มันคือ Lifestyle ของเรา มีประวัติและตำนานทั้งตัวร้านและเมล็ดกาแฟ ตอนซื้อน้องก็จะถามชื่อเรา เขียนชื่อเราลงในแก้ว จ่ายบัตรเครดิตก็ได้ และมี Identity บางอย่างที่เราชอบและพร้อมจ่ายกับมูลค่ากับมัน พอเป็นแบบนี้แล้วการ Starbucks อาจจะเป็นพระเอกเมื่อเทียบกับการซื้อของทั่วๆไปที่ราคาไม่แพงก็ได้

ทั้งหมดก็อยู่ที่มุมมองนะครับ ส่วนตัวผมว่าเมืองไทยเรานี้ผู้บริโภคเดิมอาจจะเน้น Fictional แต่กำลังเปลี่ยนเป็น Emotional มากขึ้นจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รายได้ที่มากขึ้น สินค้าบริการในอนาคตก็จะเน้นการสร้าง Extrinsic Value โดยใช้ Customer-Centric ผ่านกระบวนการรับรู้สินค้าและบริการผ่าน Customer Experience มากขึ้นนะครับ

ก็อยากจะบอกล่ะว่าเรื่องการเงิน มันไม่ได้มีแค่เรื่องตัวเงิน แต่มันมีเรื่องของความเป็นชีวิตของเราด้วย ใช้ชีวิตทางการเงินให้ดีและมีความคุ้มค่าตามที่เราคิดว่าเหมาะสมกับ Lifestyle มันก็ทำให้ชีวิตเราเก๋ๆ มีความสุขได้เนอะ