อย่าพึ่งดราม่าเวลาที่เราพูดถึงเงินเก็บ เนื่องจากพี่เห็นน้องๆหลายคนตั้งคำถามแบบนี้กันเยอะเหลือเกินว่า อายุเท่านั้นเท่านั้นควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ หลายคนก็แสดงตัวเลขขึ้นมาให้ดู แต่เป็นตัวเลขที่ไม่ได้บอกวิธีคิดว่ามันมาได้ยังไง?

ในบทความนี้พี่ก็เลยคิดว่าจะแสดงวิธีคิดในแบบของพี่ให้ดูว่าที่มาที่ไปของการเก็บเงินนั้นทำไมถึงได้ตัวเลขดังกล่าวนะครับ และพี่เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีโอกาสทำได้ โดยเงื่อนไขที่พี่ตั้งไว้ก็คือ

  • คนนั้นตั้งใจจะออมเดือนละ 10% ของรายได้
  • รายได้ขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 5% (ดูอ้างอิงที่ 1)
  • เงินเดือนคนจบปริญญาตรีในช่วง 8-9 ปีที่แล้วปีที่แล้ว (ดูอ้างอิง 2)
  • เราเริ่มต้นทำงานตอนอายุ 22 ปี ปัจจุบันอายุ 30 ปี

อ้างอิง 1 : จากผลงานSurvey Total Compensation Measurement TCM ของ AON Herwitt ที่ทำสถิติค่าคอบแทนในไทยออกมาว่าปี 2559 อัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 4.7-6% และในปี 2560 อยู่ในอัตรา 5.2-5.3% จึงขอใช้คร่าวๆ 5% ย้อนหลังเพื่อให้เห็นภาพรวม

อ้างอิง 2 : Trading Economic จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

สมมติว่าเราทำตามแผนที่วางเอาไว้ คุณจะมีเงินออม แบบไม่คิดผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่? มาดูกันครับ

หมายเหตุ : พี่ใช้ Excel ใน Google Sheet ให้มันคำนวณอัตโนมัตินะครับ ตัวเลขมีการปัดทศนิยม ถ้าคิดมือเทียบอาจจะไม่ตรงเปะๆ

กรณีแรก หากเงินเดือนเริ่มต้นที่ 9,000 บาท ไปจนจบอายุ 29 (ขึ้นปีที่ 30) ควรจะเก็บได้อย่างน้อยประมาณ 103,000 บาท

กรณีที่ 2 หากเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ไปจนจบอายุ 29 (ขึ้นปีที่ 30) ควรจะเก็บได้อย่างน้อยประมาณ 170,000 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นแค่การเก็บ 10% ของรายได้เท่านั้นนะครับ และ "ยังไม่รวมถึงผลตอบแทนด้วย" การออมเงินในเงินฝากออมทรัพย์จะมีดอกเบี้ย และ การออมในหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ก็เปิดโอกาสให้ได้เราผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิมได้ อย่างที่ทางตลาดหลักทรัพย์เคยคำนวณเอาไว้ ในเรื่องการ DCA ย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) จะได้ผลตอบแทน 11.61% ต่อปี (อ้างอิงตัวเลขจากในนิทรรศการ เก็บตังค์พลังบวก >>> ดูข้อมูลเพิ่มในคลิป นาทีที่ 2.50 ช่องมุมขวาบน)

ซึ่งจริงๆแล้วตัวเลขที่ผมยกมามันค่อนข้าง Basic มากๆ และเชื่อว่าน่าจะพอเป็น Benchmark ของหลายๆคนได้ในเบื้องต้น บางคนอาจจะบอกว่าตัวเขาได้เงินเดือนขึ้นน้อยกว่า 5% เองจะให้ทำยังไง? อย่างที่ผมบอกล่ะครับว่าอันนี้เป็นค่าเฉลี่ยที่เขาทำ Survey กัน ถ้าคุณทำงานแล้วปรับเงินเดือนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แปลว่าเราอาจจะอยู่ในจุดที่ต้องเริ่มพัฒนาตัวเองให้มาอยู่อย่างน้อยในค่าเฉลี่ยครับ บางคนปรับ 7-10% เลยก็มี

และแน่นอนครับว่า ในชีวิตจริงของหลายๆคน เงินเดือนขึ้นมากกว่านี้ มีโบนัสด้วย ย้ายงานแต่ละทีก็ up เงินเดือนได้อีก 20-30%  เงินเก็บมันก็อาจจะมากกว่าที่ผมแสดงอยู่ก็ได้นะ


แต่ถ้าถามว่า การเก็บเงินแบบนี้ไปเรื่อยๆจนวันเกษียณ (ทำงานถึงเดือนสุดท้ายของอายุ 59 นะครับ) ตามสมมติฐาน จะได้เงินเก็บทั้งหมดเท่าไหร่? และเพียงพอต่อการเกษียณไหม

ผมลองคิดออกมาแล้วครับ เริ่มตั้งต้นจาก 9,000 บาท จะได้ ประมาณ 1.16 ล้านบาท พอหรือเปล่า? แล้วแต่การบริหารเงินของแต่ละคน อย่าลืมว่ารายได้ในปีหลังๆเราสูงนะ Lifestyle เราอาจแพงขึ้นทั้งในแง่การใช้ชีวิตและค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

ซึ่งข้อมูลจากทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการแนะนำว่า อย่างน้อยเราควรจะมีเงินเก็บในยามเกษียณประมาณ 4,060,701 บาท เพื่อใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี แสดงว่าด้วยวิธีการนี้ยังขาดไปประมาณ 3.5 เท่า

ซึ่งถ้ากลับมาคิดตัวเลขเงินออมตอนอายุ 30 ปีนั้น อย่างน้อยต้องมีเงินเก็บ 360,956 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับแผนเกษียณระยะยาวที่ 4.06 ล้าน

แต่แน่นอนว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเก็บเงินเดือนละ 35% เพื่อให้เพียงต่อต่อยามเกษียณ สมมติเงินเดือน 10,000 เก็บ 3,500 ใช้ 6,500 มันก็ต้องใช้ความสามารถในการออมและการจัดการที่สูงมาก

ทางเลือกมีอะไรบ้าง? ก็กลับมาที่กลไก 3 พลัง

1. เงินต้น/เงินออม

ถ้าเก็บออมได้มากขึ้น หรือ มีรายได้ทางอื่นๆก็ช่วยได้

2. ระยะเวลา

ยึดเวลาเกษียณไป หรือ เริ่มออมให้เร็วที่สุดตั้งแต่วันนี้

3. อัตราผลตอบแทน

ลองนำเงินออมไปลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากกว่าเก็บเงินไว้เฉยๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ การทำธุรกิจต่างๆ แต่การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงนะครับต้องจัดการเรื่องเงินทองและพอร์ตการลงทุนให้ดี

ก็ลองประเมินตัวเองดูนะครับ บางคนอาจจะเก็บได้เกิน 10% บางคนรีบออมเร็วและหาการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายได้ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ครับ

สำหรับบางคนอาจจะไม่มีเงินเก็บเลยเพราะผ่อนบ้านอยู่ นั่นก็ถือว่าคุณกำลังลงทุนในทรัพย์สินอยู่เหมือนกันนะครับ ส่วนใหญ่จะตีมูลค่าได้เกินตัวเลขที่ผมให้ไว้ด้วย ผ่อนหมดคุณก็มีเก็บ แต่เก็บในแง่ทรัพย์สมบัติที่ไม่ใช่เงินสดนะ

ในกรณีทีคุณบอกว่าคุณเกิดมาพร้อมหนี้ครอบครัว ไม่มีเงินเก็บ ลองคำนวณในรูปแบบภาระหนี้ที่ลดลงก็ได้ ถ้าหนี้คุณลดลงเรื่อยๆตามแผน นั่นคือประสบความสำเร็จในแง่วิธีการแล้ว ใช้หนี้หมด เก็บออม รวยยยย

เรื่องพวกนี้อยู่ที่เงื่อนไขของชีวิตแต่ละคนนะครับ ผมแค่คำนวณตัวเลขตามโจทย์ คุณลองประเมินจากฐานะทางการเงินตัวเองในแง่อื่นๆก็ได้

สรุป

หากคุณเก็บออมเดือนละ 10% และเงินเดือนขึ้น 5% ในวันนี้คุณควรจะเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 103,000 บาท (เทียบกับเงินเดือนเริ่มต้น 9,000 บาท)

หากคุณเก็บออมให้ได้เป้าหมายเกษียณที่ 4,060,701 บาท เงินเก็บที่ควรมีตอนอายุ 30 ปี อย่างน้อย 360,956 บาท

ทั้งหมดนั้นเป็นตัวเลขที่วิเคราะห์ขึ้นมาง่ายๆให้พอเห็นภาพวิธีนะครับ รายละเอียดและความเป็นจริงยังมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้ ยังไงก็ขอให้ทุกคนพยายามนะครับ