เริ่ม DCA ต้องรอวิกฤตไหม? มาดูกรณีศึกษากันครับ

มีหลายคำถามจากแฟนเพจที่กำลังเริ่มลงทุนอยู่และเห็นว่าหุ้นกำลังขึ้นแบบขึ้นเอาๆ เรื่อยๆ และรู้สึกได้ว่าไม่มีทีท่าว่าจะลงซักที ทำอย่างไรดีล่ะนั่น? รอซื้อดีไหม? หรือควรกลั้มใจซื้อเฉลี่ยไปเลยดีนะ?

ผมเลยลองทำตัวอย่างกรณีศึกษาในการออมหุ้นแบบ Dollar Cost Average (DCA) โดยนำกองทุนประเภท Index Fund ที่มีการจำลองความเคลื่อนไหวของ SET index มาทำการ Back Test เป็นเวลา 10 ปีย้อนหลัง ดูนะครับว่า หากเราลงทุนแบบ DCA โดยเริ่มใน 3 ช่วงเวลา ต้นทุนในการลงทุนจะเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมา 10 ปี มีวิกฤตด้วยหรอ?

ก็โชคดีจังครับที่ข้อมูลนั้นมีช่วงการเกิดวิกฤต Hamburger Crisis อยู่ด้วย ประสบการณ์ส่วนตัวของพี่ต้าร์เอง จำได้ว่ากินเวลาไปประมาณ 2 ปีเลยนะกว่าจะฟื้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เห็นหุ้นเจ๋งๆราคาต่ำมากแบบ งง กันเลยทีเดียว

อันนี้เป็นตารางสรุปการ DCA ที่ผม Test โดยเริ่มต้น 3 ช่วงเวลานะครับ

Case 1 เริ่มตอนที่ SET กำลังขาขึ้นและในเดือนนั้นอยู่ที่ 846.44 จุด (กองทุนมี NAV 8.6774)

Case 2 เริ่มตอนที่ SET กำลังลงแบบเยอะมาก จาก 800 จุดมาเหลือที่ 400 จุด  (กองทุนมี NAV 4.6718)

Case 3 เริ่มตอนที่ SET กลับขึ้นไปอีกรอบโดยเดือนนั้นอยู่ที่ 763.51 จุด (กองทุนมี NAV 8.5995)

กราฟข้างล่างนี้คือผลลัพธ์จากกรณีศึกษาหลังจากที่ผมลอง DCA ไปข้างหน้าตามข้อมูลที่ได้มาจากทาง Thai Mutual Fund ครับ โดยแต่ละเดือนผมจะลงทุนเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในแต่ละช่วงเวลา และ Run จำนวนหน่วยลงทุนที่ซื้อได้ในแต่ละเดือนสะสมไปนะครับ และผมได้ทำการวัดผล ณ วันที่ 5/10/2017 เมื่อตอนที่กองทุนนั้นมีมูลค่า 20.836 บาท รายละเอียดขั้นตอนผมไม่ได้โชว์ในนี้นะเพราะค่อนข้างเยอะมาก

อย่างไรก็ตามเวลาที่เราดูข้อมูลย้อนหลังเราอาจจะไม่เห็นอารมณ์ในการลงทุนนะครับ ลองคิดดูเล่นๆนะว่าหากใครลงทุนในปี 2007 แล้ว DCA ขาลงมาเรื่อยๆถึงปี 2008 เนี่ยจะต้อง "อดทน" มากๆ และไม่แน่เหมือนกันว่าจะมีคนถอดใจระหว่างทางหรือเปล่า? และแน่นอนว่าหากใครที่ถือผ่านเวลานั้นมาได้ ต่อมาดัชนีก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นครับ เชื่อผมไหมว่าก็มีคนซื้อแบบ DCA แล้วทนถือได้ก็มีนะครับ

ทีนี้มาดูกราฟความเคลื่อนไหวกันนะครับ แกน X คือราคา แกน Y คือช่วงเวลาที่ผ่านไป (เป็นครั้งที่ DCA)

ช่วงเวลาทั้ง 3 ได้แก่

  1. Case ที่ 1 เริ่มก่อนเกิดวิกฤติ (สีแดง) 
  2. Case ที่ 2 เริ่มช่วงวิกฤต (สีเขียว)
  3. Case ที่ 3 เริ่มหลังวิกฤติ (สีม่วง)

ความน่าสนใจมันอยู่ที่ ต้นทุนของคนที่เริ่มต้นก่อนวิกฤต (สีแดง) และ คนที่เริ่มต้นในช่วงวิกฤต (สีเขียว) จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกนั้นต้นทุนของคนเริ่มต้นตอนวิกฤตนั้นจะต่ำกว่า ซึ่งมันก็แน่นอนอยู่แล้ว ใครเริ่มตอนวิกฤติย่อมได้ราคาต่ำเสมอ

แต่ถ้าเราเห็นต้นทุนในระยะยาวจากการสะสมหน่วยลงทุนด้วยการ DCA ไปเรื่อยๆแล้วจะพบว่า เจ้าสีเขียวเนี่ยต้นทุนมันกลับสูงกว่าสีแดง งง ไหมล่ะ?

คำตอบก็คือ “คนที่เริ่มต้นก่อนวิกฤตมันมีการสะสมการลงทุนและการถ่วงเฉลี่ยน้ำหนักการของต้นทุนมาก่อน” ในขณะที่คนมาเริ่มช่วงวิกฤตจะมีการถ่วงน้ำหนักเฉพาะช่วงราคาหุ้นตกตอนวิกฤติเท่านั้นนะครับ พอราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ที่เคยถ่วงไว้ก็เลยถ่วงไม่ไหวเท่าสีแดง ต้นทุนก็เลยยกตามราคาที่ปรับตัวขึ้นไปตามๆกันนะครับ

ซึ่งผมก็ทำเส้นสีม่วงไว้ด้วยสำหรับคนที่ถามว่า รอหลังวิกฤตแล้วค่อย DCA ดีไหม? คุณก็ต้องยอมรับได้นะว่าต้นทุนในการลงทุนของเราจะสูงกว่าคนที่เริ่มมาก่อน และสิ่งที่ผมเห็นจากการทดสอบนี้ มีดังนี้ครับ

  1. คนที่เริ่มก่อน ต้นทุนจะได้เปรียบกว่าในระยะยาว (แต่ถ้าถอดใจก่อนระหว่างทางก็จบกันนะ)
  2. คนที่เริ่มก่อน จะมีการสะสมความมั่งคั่งก่อน ทำให้ทรัพย์สินมากกว่าในระยะยาว
  3. DCA ไม่จำเป็นต้องรอวิกฤตก็ได้ การใช้วินัยในการลงทุน เริ่มเร็วยิ่งดี

มันก็เลยมาตอกย้ำในเรื่องของคำพูดที่ว่า “ออมก่อน รวยก่อน ลงทุนก่อน มั่งคั่งก่อน” 

แต่ขอหมายเหตุตัวใหญ่ๆไว้ว่า อันนี้เป็นกรณีศึกษาเฉพาะ Case ที่ Success ของ DCA ในระยะยาวนะครับ แน่นอนว่าหากเราเลือกทรัพย์สินที่เกิดวิกฤตแล้วมีผลกระทบต่อพื้นฐาน ราคาปรับตัวลงในท้ายสุด ไม่ว่าจะลงทุนก่อนหรือหลังก็ย่อมได้รับผลกระทบและขาดทุนไปตามๆกันนะครับ พื้นฐานจึงมีความสำคัญมากในการลงทุนแบบ DCA

และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว (พูดยังไงมันก็ถูก) แต่การลงทุนคือการใช้ข้อมูลในวันนี้เพื่อนำไปรับความเสี่ยงในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต การเกิดวิกฤตต่างๆอาจจะเกิดขึ้นได้อีก ตอนนั้นเราก็ต้องตัดสินใจให้ดีๆว่า เราควรจะพิจารณาความเป็นไปและตัดสินใจในเวลานั้นๆอย่างไรนะครับ

ขอให้โชคดีในการลงทุนนะครับ

ข้อมูลราคา : Thaimutualfund

ข้อมูล SET Index : Set.or.th (Market Index)