หลายๆ ท่านอาจจะสับสนกับหัวข้อในบทความนี้สักหน่อย แต่ขอบอกเลยว่ามันเกิดขึ้นมาแล้วมากมายครับ แต่ไม่ค่อยมีใครมาบอกกันสักเท่าไหร่ เพราะ อาจจะเป็นไปได้ว่า พอแผนการเงินเสียหาย คนเหล่านั้นที่เคยมีแผนการลงทุนที่สวยหรู กำไรงามๆ แต่พอวันนึงแผนการเงินกลับล้มลง ก็คงไม่มีใครที่อยากจะเปิดเผยตัวกันหรอกครับ

ดังนั้นวันนี้จึงขอเขียนบทความที่มาจากประสบการณ์ในการทำงานในเชิงวางแผนการเงินรอบด้านมาหลายปีนะครับ โดยก่อนอื่นเราต้องแยกคำว่า "วางแผนการเงิน"กับ"วางแผนการลงทุน" ออกจากกันก่อนครับ เพราะ หลายๆคนมาเจอผมและถามว่าผมทำงานอะไร พอผมแนะนำตัวบอกว่าผมเป็น "นักวางแผนการเงิน" ครับ 

99% ของคำถามที่มักจะถูกถามเสมอ คือ "ดีเลย งั้นอยากให้ช่วยแนะนำหน่อยว่า ช่วงนี้ควรจะลงทุนอะไรดี ลงทุนตัวนี้... ดีมั้ย? " หรือไม่ก็ "ช่วงนี้น่าเอาเงินไปซื้ออะไรดี ที่ผลตอบแทนเยอะๆ"  อะไรทำนองนี้ เป็นต้น

ผมเองก็มาถามตัวเองว่า "ถ้าผมสามารถคาดคะเนการลงทุนในอนาคตได้ ว่าอะไรดี" นี่ผมอาจจะรวยกว่านี้ไปแล้วมั้งเนอะ 555 ดังนั้นวันนี้ผมเลยอยากจะมาขยายความว่า การวางแผนการเงิน นั้นไม่ใช่ การลงทุนซะทุกอย่างครับ

หรือจะพูดง่ายๆก็ได้ว่า "การวางแผนการลงทุน"

เป็นส่วนหนึ่ง ของ "การวางแผนการเงิน" ครับ 

ตามภาพที่ผมเอามาประกอบ 

จะเห็นได้ว่า การวางแผนการเงิน (Financial Planning) จะประกอบไปด้วย

- Cash Flow       Planning : การวางแผนรายรับรายจ่าย
- Retirement     Planning : การวางแผนเกษียณอายุ
- Education       Planning : การวางแผนทุนการศึกษาบุตร
- Insurance       Planning : การวางแผนประกันภัย (การจัดการความเสี่ยง)
- Investment     Planning : การวางแผนการลงทุน
- Tax                   Planning : การวางแผนภาษี
- Estate              Planning : การวางแผนส่งมอบมรดก

เห็นมั้ยครับว่าการวางแผนการเงินนั้นมีหลายเรื่องที่ต้องจัดการครับ ดังนั้นการวางแผนการเงินของทุกๆคน จึงต้องสอบถามในทุกๆเป้าหมายของการวางแผน เช่น

: ตอนนี้รายรับรายจ่ายเป็นยังไง  มีหนี้สินมั้ย?
: อยากเกษียณอายุเท่าไหร่  ?
: แล้วตอนนี้เสียภาษีเยอะไปมั้ย? 
: แล้วตอนนี้ถ้าต้องเจ็บป่วยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากใคร? 
: และถ้าคืนนี้ตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เตรียมค่าใช้จ่ายในการรักษาไว้แล้วหรือยัง ?
: แล้วถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตัวเรา ลูกจะเดือดร้อนมั้ย บ้านที่ผ่อนไม่หมด ใครจะรับผิดชอบ ?
: แล้วถ้าเราขับรถไปชนรถเบนซ์ เข้าประกันที่เรามี ครอบคลุมมั้ย?
: แล้วถ้าเกิดบ้านเรา เกิดไฟไหม้ จะเดือดร้อนมั้ย?

ฯลฯ


ดังนั้นจะเห็นแล้วนะครับ ว่าคนเรามีเป้าหมายหลากหลายจริงๆ แต่เป้าหมายในการลงทุนนั้น ก็เพื่อให้เงินที่เราไปลงทุนมันเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการจริงมั้ยครับ ซึ่งจากหัวข้อผมมีความเชื่อมันว่าหลายๆคน อาจจะมีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เช่น บางคนอาจจะลงทุนในหุ้นพื้นฐาน อาจจะใช้นโยบายการลงทุนแบบ VI ถือยาว เน้นรับเงินปันผล แถมหากมีโอกาสจังหวะดีๆ ก็อาจจะขายทำกำไรได้บ้าง 

บางคนอาจลงทุนในกองทุนหุ้น กองทุน LTF RMF กองทุน HealthCare กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยดีมากๆ บางคนอาจจะเอาเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนตลาดเงิน หรือบางคนก็ซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ 

แน่นอนครับ หลายๆคนอาจจะมีการจัด Asset Allocation แล้วทำให้  Port การลงทุนของเราสามารถเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมา ได้เกิน 10% ต่อปี ก็มีเยอะมากๆครับ  ซึ่งก็เป็นการแสดงว่าแผนการลงทุนของท่านอยู่ในขั้นประสบความสำเร็จเลยทีเดียว 

แต่แผนการลงทุนที่ดี ไม่ใช่จะทำให้แผนการเงินของเราดีเสมอไปครับ อาจจะกลับกันเลยก็ได้ กลายเป็นว่าแผนการลงทุนของคุณที่ดีมากๆ เติบโตเฉลี่ยๆ 15% มา 5 ปีแล้ว อาจจะเป็นแผนการเงินที่ล้มเหลวก็ได้

อ้าว เพราะอะไรล่ะ? ทำไมแผนการลงทุนที่ดี 

ถึง กลับกลายเป็น แผนการเงินที่ล้มเหลวได้ ล่ะ

คำตอบก็คือว่า : แผนการเงินนั้นมีหลายเป้าหมายยังไงล่ะครับ ซึ่งการลงทุนที่ดีในช่วงเวลานึง อาจจะผิดพลาดในช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินก็ได้ เช่น แผนการลงทุนของเราอาจจะเติบโตเป็น2-3 เท่าเลย แต่พอถึงวันที่เราอายุ 60ปีอยากจะเกษียณ ดันเกิดวิกฤติ ต้มยำกุ้ง หรือ แฮมเบอร์เกอร์ ก็ได้  Port การลงทุนอาจจะติดลบก็ได้ แบบนี้จะเริ่มต้นใหม่ลำบากเหมือนกันเพราะ เกษียณก็ไม่ได้  อายุก็มากแล้ว จะหารายได้เพิ่มอย่างไรดี ? อาจจะเกษียณไม่ได้

หรือ ช่วงที่แผนการลงทุนกำลังดี กำลังเติบโต กลับโชคร้ายที่ตัวเราเอง ดันตรวจพบโรคมะเร็ง แล้วดันไม่ได้มีแผนประกันโรคร้ายไว้  ก็เลยต้องขายหน่วยลงทุน หรือขายหุ้นออกมารักษาตัวเองก่อน แล้วแบบนี้แผนการเงินของเราจะบรรลุเป้าหมายเกษียณได้หรือ

หรือ บางคนอาจจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อคอนโด ไว้เก็งกำไร แต่พอคนที่บ้านหรือพ่อแม่ป่วยหนักๆ หรือเป็นโรคร้าย  ต้องการใช้เงินด่วนๆเพื่อมารักษา ก็กลับกลายเป็นว่า สินทรัพย์ที่ดิน หรือคอนโด นั้นไม่สามารถแปลงเป็นเงินสด ได้เร็ว   ดังนั้นถ้าต้องรีบใช้เงิน ก็คงต้องขายในราคาที่ถูกๆ ก็เป็นได้ครับ

ดังนั้นจากที่ผมเขียนมาทั้งหมด ก็เป็นแค่ตัวอย่างส่วนนึงของ การวางแผนการเงินที่ล้มเหลว แม้ว่าแผนการลงทุนของท่านจะยอดเยี่ยมมากๆ 

สุดท้ายก็หวังให้ทุกๆท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะมีความเข้าใจในการวางแผนการเงินอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ว่าการวางแผนการเงินนั้น เป็นการจัดการเงินทั้งระบบเพื่อให้คนๆนั้นบรรลุเป้าหมายหลายๆอย่างที่ต้องการ โดยไม่ได้เน้นที่จะเป็นแผนการเงินที่ผลตอบแทนสูงๆ เป็นสำคัญครับ

 "การวางแผนการเงิน ไม่ได้มุ่งที่จะได้กำไรสูงสุด 

แต่จะมุ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินเป็นสำคัญ"

*** มุ่งให้คนไทยทุกๆคนมีสุขภาพการเงินที่ดี***

by
สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน  CFP
CEO บริษัท เวลท์แพลนเนอร์ จำกัด
#wealthplanner

ติดตามบทความการเงินอื่นๆ ได้ที่ www.surakit.com
#อยากวางแผนการเงิน #อยากเป็นนักวางแผนการเงิน