การวางแผนการเงินที่สมบูรณ์แบบนั้น ไม่ควรจะละเลยการวางแผนการจัดการความเสี่ยงเรื่องเกี่ยวคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง

เพราะ มันเป็นส่วนของฐานรากของการวางแผนการเงินของทุกๆคน เพราะ หากเรามีแต่การวางแผนการออมเงินเพื่อการเกษียณ การวางแผนทุนการศึกษาบุตร การจัดสรรเงินลงทุน แล้วเราไม่มีการจัดการเรื่องการโอนความเสี่ยงเรื่องสุขภาพและโรคร้ายอย่างดีพอ

ก็เท่ากับว่าแผนการเงินของเราอาจจะมีสิทธิล้มทั้งกระดานได้เหมือนกัน เพราะ เท่ากับว่าแผนการเงินของเรานั้นยังมีรูรั่ว ที่พร้อมจะทำให้เงินเราไหลออกจากพอร์ตการเงินของเราได้ตลอดเวลา

บางคนเจอเหตุการณ์ไม่หนัก เช่นแค่ป่วยเป็นไข้ นอนโรงพยาบาล ก็อาจจะใช้เงินไม่มากในการรักษา หรืออาจจะมีสวัสดิการประกันกลุ่มเบิกได้ หรือสวัสดิการประกันสังคมเบิกได้ ก็อาจจะไม่กระทบกระเทือนกับแผนการเงินของเรามากนัก

แต่ถ้าบางคนเกิดต้องพบกับเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น ถ้าตนเองหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคร้ายแรงล่ะ จะทำอย่างไร ใครจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ซึ่งตามหลักของการวางแผนการเงิน ถ้าไม่มีสิทธิสวัสดิการอะไรที่เบิกได้ ก็จะเริ่มจาก

1. การถอนเงินจากสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินฝากธนาคาร เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน Money Market Fund ออกมาก่อน 

ถ้าเอาไม่อยู่ล่ะ ?

2. ก็จะดึงเงินจากส่วนสินทรัพย์การลงทุน ที่เรามี เช่น กองทุนรวม ทองคำ หรือ หุ้นสามัญที่เราถืออยู่ แม้ว่าราคาอาจจะตก ก็ไม่อาจจะห้ามไม่ให้ถอนได้ จริงมั้ย ซึ่งก็จะรวมไปถึงการเวนคืนกรมธรรม์ก็จำเป็นต้องทำเพื่อหาเงินมารักษา

แล้วถ้ายังเอาไม่อยู่อีกล่ะ

3. ก็ถึงเวลาที่ต้องบอกว่า "มีรถขายรถ มีบ้านขายบ้าน หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่นที่ดิน หรือของสะสมอื่นๆ " ซึ่งคงต้องบอกว่ามันเป็นสถานการณ์บังคับให้ต้องทำ เพราะต้องการเงินสดเพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะบานปลาย เกินกว่าที่คาดคิด และแน่นอนว่า การจะแปลงสินทรัพย์ส่วนนี้เพื่อให้ได้เงินสดเร็วๆ ก็มิอาจจะตั้งราคาที่สูงเกินไปได้  สุดท้ายก็อาจจำเป็นต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้

ซึ่งหลายคนอาจจะคิดโต้แย้งในใจว่า "ใครจะทำถึงขนาดนั้นได้ ใครจะถึงกับต้องขายสินทรัพย์ บ้าน รถ เพื่อมารักษา"

หรือ บางคนอาจจะบอกว่า "ยังไงทุกคนมีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าประกันสังคม หรือ สิทธิหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า 30 บาท"  ก็ใช้ก่อนสิ ไม่เห็นต้องขายบ้าน ขายรถ

ผมก็อยากจะขยายความว่า ผมก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าวครับว่า ยังไงก่อนจะขายบ้าน ขายรถ ก็ใช้สวัสดิการพื้นฐานที่เรามีก่อน ครับ

แต่เงื่อนไขบางประการ เช่น ยาบางตัวก็ไม่อยู่ในบัญชีครับ ยาดีๆ ยาต่างประเทศ ก็ต้องจ่ายเงินเองครับ  (ซึ่งผมเคยถามอาจารย์ที่รักษาโรคมะเร็งว่า มีคนป่วยที่เป็นมะเร็งแล้วรักษาอยู่ได้นานๆมั้ย อาจารย์ท่านนั้นก็บอกว่า ขึ้นกับ งบประมาณแล้ว ถ้ายาดี ก็แพงหน่อย บางคนอาจจะอยู่ได้อีกหลายปี แต่ก็หมดไปกับค่ายาก็หลายล้าน ก็มีเหมือนกัน)

แถมอีกเรื่องคือ พอคนเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งแม้ว่าอาจจะเบิกค่าใช้จ่ายกับสวัสดิการประกันสังคมได้ หรือสิทธิ 30 บาท ได้ แต่สิ่งที่จะสูญเสียไปก็คือ "ความพร้อมของร่างกายในการทำงาน" หลายๆคน พอเป็นโรคร้ายแรง ก็แทบจะทำงานไม่ได้ ต้องพักฟื้นกันเป็นเวลานาน รายได้ก็อาจจะลดลง (บางคนอาจจะถูกไล่ออกก็ได้) แถมถ้าบางคนทำงานเป็นนายตัวเองหรือธุรกิจส่วนตัว ก็อาจจะถึงขั้นปิดกิจการได้เลยครับ

ดังนั้นจากบทความนี้จึงอยากให้ทุกๆคน ลองตรวจสอบว่า ถ้าเราและครอบครัวเกิดโชคร้ายต้องเผชิญกับโรคร้ายแรงและทำงานไม่ได้ เราจะมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง แล้วเรามีเงินเก็บที่เตรียมไว้แล้วเท่าไหร่ พอใจหรือไม่

ซึ่งผมมักจะได้ยินเสมอว่า "เวลาคนเรานอนโรงพยาบาลจะรักษาโรคร้ายแรง แทบจะทุกๆคน จะบอกหมอว่า หมอรักษาที่ดีที่สุด ค่ารักษาไม่อั้น ขอให้หายดี  ... แต่เวลาคนเราจะซื้อประกันสุขภาพและโรคร้ายให้ตัวเอง มักจะบอกกับตัวแทนว่า ไม่เอาเยอะนะ ซื้อแค่นี้พอ พูดง่ายๆคือพอเป็นรายจ่ายเบี้ยประกันมักจะอั้น มีลิมิตกับรายจ่ายตรงนี้"

สรุป "เวลาจ่ายค่ารักษาไม่มีอั้น แต่เวลาจ่ายเบี้ยประกันขออั้นไว้เท่านี้"

และที่สำคัญสุดๆ ก็คือ ช่วงเวลาที่เรากดดันสุดๆนั้น กลับต้องกดดันกับเรื่องการเงินในการจะมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มอีก

มันต่างจากช่วงที่เราต้องจ่ายเบี้ยประกันก้อนเล็กๆ แถมไม่มีเรื่องอะไรมากดดัน  มันน่าจะสบายใจกว่าตั้งเยอะครับ

ดังนั้น การทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง ก็คือ "การจ่ายเงินที่เป็นเบี้ยประกันที่จำกัด (เพราะเรารู้งบประมาณอยู่แล้ว)  เพื่อรองรับเหตุการณ์หรือความเสี่ยงที่ไม่จำกัด(ไม่มีใครรู้ว่าป่วยโรคร้ายนี้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่พอ) " จริงมั้ยครับ

ขอให้ทุกๆคนอย่าประมาทกับเรื่องนี้นะครับ และหมั่นตรวจสอบวงเงินคุ้มครองของตนเองและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอครับ

*** มุ่งให้คนไทยมีสุขภาพการเงินดี ***

by สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน CFP
?#?wealthplanner?

ติดตามบทความวางแผนการเงินอื่นๆได้ที่ www.surakit.com