ให้เงินทำงาน

หันไปทางไหนมีแต่คนบอกว่าไม่ควรเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ ควรนำเงินมาลงทุนจะได้เงินทำงาน ทำให้เงินงอกเงย เป็นหลักการที่ดีเพราะจะทำให้เรามีความมั่งคั่งในอนาคต ทำให้เงินเติบโตไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้รวดเร็วขึ้นจากการลงทุน ทำให้แต่ละคนมุ่งหน้าหาเงินเพื่อให้เงินงอกเงย โดยมองข้ามพฤติกรรมการใช้เงินและไม่สนใจวิธีหาเงินมาลงทุน ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เราผิดพลาดทางด้านการลงทุนอย่างร้ายแรง แม้ว่าการลงทุนนั้นจะดีมากแค่ไหน แต่ถ้าวิธีการยังผิดพลาด ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดไว้แน่นอน เราควรเรียนรู้อะไรบ้างก่อนที่ทำเงินให้งอกเงย  

3 รู้ก่อนให้เงินทำงาน

 

1. รู้จักใช้จ่าย

รอยรั่วเพียงนิดสามารถทำลายเขื่อนทั้งเขื่อนให้พังทะลายลงมาได้ เพราะน้ำจะซึมออกมาเรื่อยๆค่อยๆกัดเซาะรอยที่แตกให้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พอนานเข้าก็ทำให้เกิดรอยแยกจนทำให้เขื่อนทั้งหมดพังลงมา ก็เหมือนกับการออมเงินที่แม้ว่าเราจะมีเงินออมมากแค่ไหน หรือนำเงินไปลงทุนได้เงินมากมาย แต่ถ้าเรามีรอยรั่วที่พฤติกรรมการใช้เงินด้วยวิธีแบบผิดๆ ยิ่งมีรายได้มากขึ้น ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นแบบนี้มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ เพราะการใช้เงินนั้นสำคัญกว่าการหาเงิน ควรปิดรอยรั่วของรายจ่ายก่อนเริ่มลงทุน ตัวอย่างพฤติกรรมทำให้เงินหาย

  • รักการแต่งรถเป็นชีวิตจิตใจ หาเงินได้เท่าไหร่ก็ทุ่มให้หมด
  • ชอบของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็ปเล็ต มีรุ่นใหม่ออกมาก็ต้องซื้อมาเป็นเจ้าของให้ได้
  • ช้อปปิ้งเท่านั้นที่ครองโลก มีอะไรลดราคาก็ต้องจัดเต็มทุกครั้ง

 

2. รู้วิธีจัดสรรเงินก้อนเล็ก

"มีเงินเยอะกว่านี้แล้วค่อยออมเงิน" เป็นคำพูดที่ฟังแล้วสะเทือนใจมาก เพราะการออมไม่ได้แบ่งกันที่จำนวนเงินว่าต้องมีเงินเป็นแสน เป็นล้านถึงจะเริ่มออม แต่เราควรเริ่มต้นออมเงินด้วยรายได้หลักพันหรือหลักหมื่นของเรานี่แหละ มีรายได้มากก็ออมมาก มีรายได้น้อยก็ออมน้อย เช่น ออมเงินที่ 10% , 20% ,50% หรือ 70% ของรายได้ ฝึกที่จะจัดแบ่งเงินก้อนเล็กให้ได้ ใช้ให้พอในชีวิตประจำวันและที่สำคัญควรแบ่งเงินออมไว้ด้วย ถ้าเราสามารถดูแลเงินก้อนเล็กได้ เราก็จะสามารถดูแลเงินก้อนใหญ่ได้เช่นกัน  


3. รู้วิธีหาเงินลงทุนอย่างถูกวิธี

 

ทำงาน ==> ออมเงิน ==> ลงทุน

ไม่ใช่ กู้เงิน ==> ลงทุน

 เมื่อเราได้เงินจากการทำงาน แบ่งออมก่อนนำมาใช้จ่ายแล้วต่อยอดด้วยการลงทุน แต่หลายคนชอบทางลัดอยากให้เงินช่วยทำงานเพื่อให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงหาแหล่งเงินมาลงทุนด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องด้วยการกู้เงินมาลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยโดยไม่ใช้เงินตัวเอง ซึ่งอาจจะผิดหรืออาจจะถูกก็ได้ เพราะวิธีที่คนอื่นใช้อาจจะไม่ได้ผลกับเรา เช่น หลายท่านคิดว่าจะลงทุนซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า โดยใช้ค่าเช่าเป็นค่าผ่อนคอนโดซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี จึงคิดที่จะกู้เงินมาลงทุนบ้าง แต่เราควรสำรวจตนเองก่อนการลงทุนว่า ......

  • จะหาคนเช่าคอนโดได้อย่างไร
  • ถ้ายังไม่มีคนมาเช่า มีเงินเพียงพอที่จะผ่อนเพื่อรอคนมาเช่าหรือไม่
  • เงินเพียงพอกับค่าตกแต่งห้องเพื่อดึงดูดให้คนมาเช่า เช่น แอร์ เฟอร์นิเจอร์
  • ฯลฯ


"ความสำเร็จเลียนแบบกันไม่ได้ 

แต่ออกแบบเป็นสไตล์ของตัวเองได้"



เราอ่านเจอในกระทู้นึงที่มีรูปแบบการนำเงินมาลงทุนแบบไม่ค่อยถูกต้องมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งหลายคนที่กำลังคิดจะทำตามก็ขอให้หยุดคิดสักนิดเพราะการลงทุนมันไม่ได้มีแต่กำไรอย่างเดียว มันมีขาดทุนด้วย เพราะแทนที่จะได้เงินงอกเงยแต่จะได้หนี้สินงอกเงยกลับไป ซึ่งการลงทุนนั้นจะต้องนำเงินส่วนที่เหลือหรือเงินเย็นจริงๆเท่านั้น ถ้ากู้มาลงทุนอาจจะทำให้เสียจังหวะการลงทุน เพราะจะขายก่อนที่จะได้กำไรก้อนโต   


ตัวอย่างกระทู้ นำเงินกู้สหกรณ์มาลงทุนหุ้น 3 ปี ในช่วงที่เกิดปฏิวัตได้ขายหุ้นเพื่อนำเงินไปคืนสหกรณ์ ณ ดัชนี 1,377  นี่คือภาพการกู้เงินมาลงทุน (ถ้าเงินนี้เป็นเงินเย็นที่ถือลงทุนยาวๆเจ้าของพอร์ตนี้คงกัดลิ้นตัวเองเพราะตอนนี้หุ้นขึ้นมาเกือบ 1,600 น่าจะได้กำไรเยอะมาก)   

3 รู้ก่อนให้เงินทำงาน ที่มา : http://pantip.com/topic/32185347  


เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...

 

ควรนำเงินเย็นมาลงทุน

 ในอดีตที่เราสนใจลงทุนหุ้นแต่ไม่มีประสบการณ์และมีความรู้น้อยมาก ทำให้ต้องอ่านมากกว่าคนอื่น อ่านหนังสือแนะนำต่างๆ แต่ก็มีคำถามคาใจว่า "ถ้าหุ้นมันดีจริงแล้วทำไมปี 40 ถึงได้เจ๊งขนาดนั้น" เราแค่อยากรู้ไว้จะได้ไม่ ซ้ำรอยเดิม แม้ว่ามันมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องจนเกิดเป็นวิกฤต แต่หนึ่งในวิธีการลงทุนแบบเจ๊งเร็วที่สรุปเอง คือ มันขึ้นอยู่กับความรู้และเงินที่นำมาลงทุนที่ยิ่งเงินร้อนมากยิ่งพังเร็ว   

ดังนั้นเราจึงเตือนตัวเองไว้เสมอว่า "จะไม่นำเงินกู้มาลงทุนเด็ดขาด" มีแค่ไหนเล่นแค่นั้น เราใช้คำว่า "เล่น" เพราะเราเป็นนักเก็งกำไรที่เล่นรอบ ไม่ใช่นักลงทุนที่ถือยาวรอปันผล จากการทำงานทำให้เห็นนักลงทุนหลายท่านที่ไม่เข้าใจการลงทุนของตนเอง มองว่าการเก็งกำไรเป็นสิ่งไม่ดีจึงใช้คำแทนตัวเองว่าเป็นนักลงทุนที่ซื้อแล้วรอปันผล แต่วิธีการลงทุนนั้นไม่ต่างจากนักเก็งกำไรที่ซื้อไม่ถึงสัปดาห์ก็ขายทิ้ง   

เราควรเข้าใจตนเองก่อนว่าเป็นนักลงทุนแบบไหน สั้น ปานกลางหรือถือยาว แล้วจึงเลือกหุ้นให้ถูกกับนิสัยของตนเอง เราเห็นหลายคนที่ "ซื้อหุ้นอย่าง VI แล้วขายแบบนักเก็งกำไร" หรือ "ซื้อหุ้นอย่างนักเก็งกำไรแล้วขายอย่าง VI" มาเยอะละ ผลงานไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ สรุปคือ ถ้าเราไม่ใช่ VI แท้ก็ยอมรับซะว่าเป็นนักเก็งกำไรที่ต้องท่องคำว่า "คัทลอส" ให้ขึ้นใจก่อนการเล่น ไม่อย่างนั้นคงสำลักคำว่า "ดอย"  

"เงินออมที่มีอาจจะหมดได้  ถ้าเราไม่เข้าใจนิสัยของตัวเอง"

 คุณคิดว่าคนถูกหวยกับคนไม่ถูกหวยจะได้ยินใครคุยมากกว่ากัน?? เป็นคำถามที่เราใช้ตอบนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาลงทุนครั้งแรก เพราะแต่ละคนที่เข้ามามักมีภาพที่สวยงานว่าการลงทุนมีแต่กำไร เพื่อนรอบข้างนักลงทุนมีแต่กำไรกันทั้งนั้น 

แม้ว่าเรารู้วิธีลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจากเล่นหุ้น แต่จะไม่เล่าให้นักลงทุนหน้าใหม่ฟัง ไม่ใช่กั๊กวิชา แต่อยากจะสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้ระมัดระวังก่อนการลงทุน เรื่องดีๆจากการลงทุนก็น่าจะฟังมาเยอะแล้ว เราเลือกที่จะเล่าถึงการลงทุนที่ผิดวิธี เงินที่นำมาลงทุนและสไตล์การลงทุนที่ผิดพลาด เพื่อเตือนก่อนว่าหนทางการลงทุนข้างหน้าจะเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง จะได้ไม่ผิดซ้ำรอยเดิม  

"หากนำเงินมาลงทุนที่ผิดวิธี

จากเงินที่งอกเงยจะกลายเป็นหนี้งอกเงย"

 ขอบคุณกระทู้นี้ที่ทำให้เรารู้ว่าวิธีเดิมๆแบบปี 40 นั้นไม่ได้หายไปจากความคิดการลงทุนที่มองว่าเล่นหุ้นแล้วรวยง่าย คุณอาจจะโชคดีที่ผ่านพ้นมันมาได้ เป็นการเก็งกำไรแบบนักลงทุนทั่วไปที่จะโชคดีไม่เกิน 3 ครั้ง เพราะครั้งสุดท้ายเป็นรอบ "เหมาจ่าย"   ครั้งที่ 1 ได้กำไร ครั้งที่ 2 ได้กำไร ครั้งที่ 3 ได้กำไรและจะทุ่มหมดตัว ครั้งที่ 4 หมดตัวจริงๆ อาจจะมีหนี้ติดมาด้วย