ผมว่าใครที่เคยซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเคยมีประสบการณ์แบบที่ผมเจอ ซื้อหุ้นไปตัวหนึ่งเพราะถูกใจ และเชื่อว่าให้ผลตอบแทนที่ดี เคาะขวาไปปั๊บ ก็กลับไปนอนหลับที่บ้านสบายใจ แต่พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า ก็ตกใจเพราะ เฮ้ย! ทำไมตลาดหุ้นเมืองนอกมันลงระเนระนาดขนาดนี้ ถ้าหุ้นไทยเปิดมา 10 โมงเช้า ตลาดต้องดูไม่ดีแน่ๆ ตั้งขายก่อนดีกว่า ... พอตลาดเปิดปั๊บ หุ้นที่เราถือดันไม่มีใคร Bid รับ ขาดสภาพคล่อง ซะอย่างนั้น #ร้องไห้หนักมาก
เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นความเสี่ยงถึงชีวิตของพอร์ตการลงทุนเลยนะครับ อยากขาย แต่ไม่มีใครซื้อ ... ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากเราลืมพิจารณาเรื่องสภาพคล่องของหุ้นตัวนั้นว่ามีมากพอที่จะทำให้เราเข้าออกได้สะดวกอย่างที่เราต้องการจริงๆหรือเปล่า
ในกรณีการเทรด Derivative Warrant หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นั้น ยิ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นไปอีก เพราะ DW นั้นมี Gearing Effect ที่สูง หากหลักทรัพย์อ้างอิงผันผวนไม่เป็นไปในทางที่เราคาดคิด เกิดผลขาดทุนหนักๆ แล้วเราดันขายออก หนีตาย ปิดความเสี่ยงไม่ได้ นี่ถือว่าเป็นดั่งนรกของนักลงทุนทีเดียวเชียว
แต่อย่างที่ท่านควรรู้นะครับว่า DW เพิ่งเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนผู้รักความเสี่ยง ดังนั้น การจะเลือกลงทุนตาม ขั้นตอนการเลือก DW ที่ผมเขียนในบทความครั้งก่อนเรื่อง 3 กุญแจสำคัญ เพื่อไขความลับการเทรด DW นั้น มันยังไม่พอ เรายังต้องมาทำความรู้จักกับสภาพคล่องของ DW ซึ่งมีความแตกต่างจากสภาพคล่องของหุ้นทั่วไปด้วย
ดูอย่างไรว่า DW ตัวไหนสภาพคล่องสูง?
ปกติ ถ้าเป็นหุ้นธรรมดา เราสามารถวัดสภาพคล่องของหุ้นได้จากโวลุ่มการซื้อขาย แต่สำหรับ DW แล้ว โวลุ่มการซื้อขายไม่ใช่ตัววัดว่า DW ตัวไหนมีสภาพคล่องมากกว่ากัน นั่นเป็นเพราะ DW แต่ละตัวไม่ได้มีการเทรดตลอดทั้งวันเหมือนหุ้น ดังนั้นถ้าเราๆท่านๆที่คิดจะซื้อ DW แล้วพิจารณาแค่โวลุ่มซื้อขายในอดีตว่ามากน้อยแค่ไหนจึงอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้การวัดคุณภาพของสภาพคล่อง DW แต่ละตัวนั้น มันอยู่ที่คนคนนี้ครับ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หรือที่เราเรียกว่า “Market Maker”
โดยบทบาทของ Market Maker ก็คือ จะวาง Bid Offer อย่างต่อเนื่องให้กับ DW แต่ละรุ่นที่โบรกเกอร์แต่ละรายเป็นคนออก ทุกท่านคงสงสัยว่า แล้วแต่ละเจ้า ออก DW กันเป็นหางว่าว จะมีเวลาดูแลสภาพคล่องหรอ? ก็ต้องบอกว่า โดยปกติ Market Maker จะใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-automated trading system) ก็คือ ใช้แรงงานคนจำนวนน้อยหน่อย เพื่อควบคุมระบบเท่านั้น
แล้วดู Market Maker ยังไงว่า DW ตัวไหนดีกว่าตัวไหน?
ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่า ดูแลสภาพคล่อง การดูแลสภาพคล่องที่ดีก็คือ ทำให้นักลงทุนอุ่นใจได้ว่า มีปริมาณหุ้นให้ซื้อขายมากเพียงพอ และเป็นราคาที่ยุติธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบ ผมแบ่งเป็น 3 ข้อตามนี้ครับ
- การตั้ง Bid Offer
Market Maker ต้องตั้ง Bid Offer หนามากพอที่จะทำให้เราเคาะซ้ายขวาได้โดยไม่เสียราคา หมายความว่า สมมติว่าผมจะลงทุน DW ตัวหนึ่ง จำนวนหุ้นที่จะซื้อคือ 100,000 หุ้น DW ตัวที่ผมต้องการเลือก ก็ควรมี Bid Offer มากกว่า 100,000 หุ้นเช่นกัน เพื่อรองรับการซื้อขายของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย ซึ่งประเด็นนี้ ไม่จำเป็นว่า จะต้องมีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงนะครับ แค่ Market Maker ปรับราคา Bid Offer ให้สอดคล้องกับหลักทรัพย์อ้างอิงก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องที่ดี ย้ำนะ ว่าดูที่ Bid Offer
- การปรับราคาDW
Market Maker ต้องดูแลให้ DW ปรับตัวขึ้นลงตามราคาอ้างอิงอย่างทันท่วงที เพื่อที่จะสะท้อนราคาตลาดได้อย่างตรงไปตรงมา และยุติธรรมกับนักลงทุน การปรับตัวสอดคล้องกับหุ้นอ้างอิงนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ต่างๆเพราะการเคลื่อนไหวของราคาDW ไม่ได้เป็นไปตาม Demand Supply แท้จริงของDW แต่เคลื่อนไหวตามราคาหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นๆ ดังนั้น ระบบที่สามารถเปลี่ยนราคาได้เร็วกว่า ช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสซื้อขายทำกำไรได้เร็วกว่า
- ความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร
ข้อสุดท้ายนี้เป็นข้อที่สำคัญมากที่สุดครับ เพราะ ผู้ออกDWเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่บริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ดังนั้น ความน่าเชื่อถือ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการเป็นผู้ออกตราสารในอดีต รวมถึงประสิทธิภาพการดูแลสภาพคล่อง จะทำให้ว่าเรามั่นใจได้ว่า Market Maker ตั้งราคาจากกลไกตลาดจริง ไม่ได้เอาเปรียบนักลงทุน
ทั้งนี้ เราสามารถเปรียบเทียบราคาDWที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อขายในกรณีที่ราคาในกระดานสูงหรือต่ำกว่าราคาตามตารางราคาที่ประกาศไว้
ตัวอย่าง ตารางราคาDW
ที่มา www.mqwarrants.co.th
ตารางราคาของ DW แต่ละตัวซึ่งโชว์ให้เห็นทั้ง Bid Offer เปรียบเทียบกับหลักทรัพย์อ้างอิงที่อยู่ในกระดาน รวมถึงตารางราคาล่วงหน้า 5 วันทำการ ซึ่งเป็นตารางที่ผมชอบมาก เพราะสามารถช่วยให้ผมวางแผนการลงทุนได้ว่า หากราคาหุ้นอ้างอิงขยับขึ้นหรือลงในอนาคตอันใกล้ ไปที่แนวรับแนวต้านที่เราวางไว้ แล้วมันจะทำให้ราคา DW ที่เราสนใจไปอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อย่างตัวอย่างตารางด้านล่างเป็น Call DW ของ INTU28C1510A จะเห็นว่า บอกราคา DW (ฝั่ง Bid) ไว้ 5 วันทำการข้างหน้าว่า หากหุ้น INTUCH วิ่งไป DW ตัวนี้ควรเทรดที่ราคาเท่าไหร่ ไม่ต้องไปปวดหัวนั่งคำนวณเองให้เมื่อยนะครับ แจ่มสุดๆ ครับ
เอาละ จบแล้วนะครับ กับ 4 บทความที่ควรอ่านก่อนเทรด DW ผมเชื่อว่าตอนนี้ทุกคนคงพร้อมเลือก DW เข้าพอร์ตเพื่อบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวกันแล้ว ลุยกันเลยครับ
บทความนี้เป็นบทความ Advertorial