มีคำถามที่น่าสนใจจากนักลงทุนมือใหม่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการลงทุนก็คือ การออมหุ้นแบบ DCA แตกต่างจากการถัวหุ้นหรือไม่? เพราะหลายๆ ครั้งเวลาที่ลงทุนมันก็จะมีการสั่นสะเทือนของพอร์ตยามที่ตลาดหุ้นแกว่งโครงเครงรวมไปถึงเจอการแห่ขายทำกำไรจนกลายเป็นราคาขาลงไปซะงั้น ในช่วงขาขึ้นก็ไม่มีใครพูดอะไรมากหรอกเพราะทุกดีใจที่ได้กำไร แต่พอหุ้นลงเท่านั้นแหละมักจะเกิดการตั้งคำถามในแนวทางที่ทำอยู่ การแก้ปัญหา การตัดสินใจต่างๆ

ในช่วงที่หุ้นลงเรื่อยๆ ก็จะมีหลายคนแนะนำว่าอย่าถัวหุ้น ถือเงินสดดีกว่าแล้วรอจังหวะเป็นขาขึ้นค่อยกลับไปลงทุน แต่สำหรับตัวผมเองมักจะตอบสวนทางคนอื่นว่าในกรณีที่ซื้อเฉลี่ยขาลงแบบ DCA นั้นสามารถทำได้และมันเป็นเรื่องที่ควรทำด้วย

เอ๊ะ! พอฟังแบบนี้แล้วก็คงสงสัยว่าข้อแตกต่างมันคืออะไร? ผมมีมุมมองให้ดังนี้นะ

1. DCA เน้นการสร้างวินัย การถัวหุ้นต้องการต้นทุนที่ลดลง

การออมหุ้นแบบ DCA เนี่ย มันจะมีเป้าหมายในเรื่องของการลงทุนในระยะยาวโดยไม่ได้สนใจราคาซื้อขายในแต่ละครั้ง ขอเพียงแค่เราศึกษาธุรกิจให้เป็นอย่างดี และทยอยลงทุนอย่างมีวินัยไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง การสะสมในแต่ละครั้งเรามีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต เราก็ทยอยลงเรื่อยๆ ตามแผนของเราเกร๋ๆ

ในขณะที่การถัวหุ้นนั้นจะมองว่า เห้ยยยย ราคามันลด น่ากลัวจัง กว่ามันจะขึ้นมาในราคาเดิมที่เราถืออยู่คงอีกยาว ถ้าเราซื้อเพื่อให้ต้นทุนลดลงแล้ว ถ้ามันเกิดการกลับตัวของราคาขึ้นมาเราก็สามารถขายให้พ้นดอยได้ ซึ่งตรงนี้ Mindset จะต่างกันล่ะ คนหนึ่งไม่ดูราคาซื้อแต่ดูพื้นฐาน คนหนึ่งดูราคาเพื่อจะหาทางให้เราลงทุนชนะราคาที่ถือไว้ได้

2. DCA มีความจูงใจในเรื่องพื้นฐานหุ้น แต่การถัวหุ้นถูกจูงใจโดยราคาตลาด

ถ้าผมถามนักลงทุนแนว DCA ว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคตอยากได้ไหม? แน่นอนทุกคนอยากได้อยากเป็นเจ้าของ แต่ในระหว่างทางการซื้อแบบเฉลี่ยในช่วงขาลงของราคา (ไม่ใช่ขาลงของธุรกิจ) ทำให้เราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาถูกลง และแน่นอนด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมแล้วมันจะได้หุ้นมากขึ้น ตรงนี้เป็นช่วงที่น่าสนใจมากและผมก็บอกทุกคนเสมอว่าทำตามวินัยต่อไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนในแบบฉบับที่ผมจะเน้นย้ำเสมอก็คือ “ต้องเลือกหุ้นให้ดีก่อน”

แต่ถ้าเป็นในเรื่องของการถัวหุ้นแล้วจิตใจของเราจะไปมองที่ราคาหุ้นเป็นหลัก และ Mindset จะเปลี่ยนเป็นตั้งคำถามว่า “ทำยังไงให้พ้นดอย” วิธีที่หลายคนตัดสินใจทำก็คือ พอลงแล้วซื้อจะได้รอเด้ง แต่เด้งเปล่าก็ไม่รู้นะครับ เห็นติดดอยยาวเพราะเงินหมดก็มีเยอะ พอเป็นแบบนี้จะรู้ว่าความซวยนั้นกำลังจะเกิดขึ้น สุดท้ายก็จะกลับมาตั้งคำถามกันว่าที่ลงๆ กันไปเนี่ยเป็นหุ้นพื้นฐานดีหรือเปล่า? แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าจะเก็งกำไรราคากันก็ไม่ค่อยได้จะสนใจพื้นฐานหรอกครับ ลองสำรวจหุ้นที่เคยถัวกันดูสิ!

3. DCA เริ่มจากวางแผนการเงินในชีวิต แต่การถัวหุ้นทำตามสถานการณ์

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนเวลาเราเจอหุ้นขาลงก็คือ “ไม่รู้มันจะลงไปขนาดไหน” และ “ไม่รู้มันจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะกลับตัวเป็นราคาขาขึ้น” ในกรณีของ DCA นั้น เรามีนิยามว่าจะต้องมีการวางแผนการเงินมาก่อน แล้วนำเงินออมในแต่ละเดือนมาทยอยซื้อหุ้นที่เราคัดเอาไว้แล้ว นั่นก็หมายความว่า ตราบใดที่เรายังมีกระแสเงินสดจากการทำงาน มีรายได้และมีเงินออม เราก็สามารถซื้อได้เรื่อยๆ ต่อให้หุ้นตกก็ยังมีเงินใช้ในส่วนที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

การถัวหุ้นจะแตกต่างกันเพราะ บางคนอาจจะถัวตามอารมณ์ ถ้ามันลงอีกฉันจะซื้อเพิ่มให้ต้นทุนมันต่ำลง หรือหลายๆ ครั้งแต่จะกำหนดเป็นไม้ๆ ว่าลงแค่ไหน แล้วจะต้องซื้อเพิ่มขนาดไหน แต่อย่างที่ผมบอกล่ะ เราไม่รู้ว่ามันจะลงขนาดไหนและลงนานมั้ย! หลายๆ คนจึงขุดเงินออมมาซื้อเรื่อยๆ บางคนซื้อจนเงินหมดก็มีแต่ราคาหุ้นก็ยังลงไปอีก สร้างความปั่นป่วนทางจิตใจสุดๆเลย และจะไปสู่คำถามสุดท้ายว่า “คัทลอสดีมะ?” แต่ถ้าใครถัวแล้วสามารถทำกำไรได้ ผมก็ยินดีด้วยนะครับ

สุดท้ายแล้วเราจะเห็นได้ว่า การซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาเป็นขาลง มันก็อยู่ที่ Mindset และกลยุทธ์ของเรานะครับ ไม่ใช่ว่าลงทุนไม่ได้ แต่เราต้องศึกษามาอย่างดีว่า เรากำลังลงทุนอะไร ด้วยวิธีไหน เหมาะสมต่อความเสี่ยงของเราหรือเปล่า เมื่อเราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เข้าใจความเสี่ยง มันก็ทำให้เราลงทุนได้อย่างมีความสุขแม้จะขาดทุนอยู่ในบางช่วงก็ได้ ถูกไหม?

Tar Kawin