เนื่องจากมีหลายคนมาถามใน inbox ของเพจส่วนตัวว่า สนใจจะลงทุนกองทุนนี้ ช่วยแนะนำหน่อย ซึ่งผมก็อยากจะตอบไปว่า ผมทำงานวางแผนการเงินครับ ไม่ใช่เน้นแต่การลงทุนอย่างเดียวนะครับ เพราะ ตามหลักวางแผนการเงินตามหลักสากลนั้น  ( Financial Planning Pyramid)

นั้น จะมีการลงทุนได้ต้องจัดการฐานรากให้ดีก่อน เพื่อให้แผนการเงินของเรามีความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้วย เพราะ หลายๆท่านคงรู้สึกไม่ดีแน่ถ้า พอร์ตการลงทุนปีนี้เราโต 20 % แต่ดันต้องมีวิกฤติต้องรีบขายพอร์ตลงทุนออกเพราะต้องรีบเอาเงินไปจ่ายอย่างอื่นที่เร่งด่วยเข้ามา จริงมั้ยครับ 

ดังนั้นผมจึงอยากให้ทุกๆท่าน มีความรู้สึกที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นว่าจะไปกระทบกับพอร์ตการลงทุนของเราหรือไม่  อยากให้ลงทุนกันอย่างสบายใจในระยะยาวมากกว่าครับ

แล้วเราต้องเช็คอะไรก่อนล่ะ? เราถึงจะเป็นนักลงทุนที่มีความสุขในระยะยาว ไม่มีไรต้องกังวล

มี 3 เรื่องที่ต้องตรวจสอบ ดังนี้

1. เงินสำรองฉุกเฉิน ( Emergency Cash)

ซึ่งเงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นสิ่งสำคัญในขั้นแรกสุดของการวางแผนการเงิน เพราะ เป็นเงินที่เราต้องมีสำรองไว้ กรณีเราต้องมีรายได้หยุดลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการต้องออกจากงาน หรือ การเกิดอุบัติเหตุหรือป่วย เป็นเหตุให้เราต้องหยุดทำงาน ทำให้รายได้เราลดลงหรืออาจจะไม่มีก็ได้

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็คือ ถ้ารายได้เราเกิดหยุดลงแบบไม่คาดคิด ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่าย ค่ากินอยู่ล่ะ รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว รวมถึงค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก จะทำอย่างไร ซึ่งรายจ่ายประเภทนี้มันต้องจ่ายต่อเนื่อง หยุดจ่ายไม่ได้เลย

ดังนั้นหากเรากังวลว่าเหตุการณ์ข้างต้นอาจจะเกิดขึ้นกับเรา ก็ควรต้องมีเงินสด หรือ สภาพคล่องที่มากพอเพื่อสำรองไว้หากเราต้องเจอกับเหตุการณ์นี้จริงๆ จะได้มีเงินจ่ายภาระต่างๆของเรา

แล้วเท่าไหร่ถึงเหมาะสม?
เงินสดสำรองที่ควรต้องมี ก็ คือ "ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน"

เช่น ถ้ารายจ่ายของเราทั้งกินอยู่ ผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายครอบครัว ประมาณ เดือนละ 70,000 บาท  เราก็ควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 210,000-420,000 บาท ก็พอ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาถึงหน้าที่การงานด้วย เช่น หากทำงานข้าราขการ ก็อาจจะสำรองไว้สัก 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็ได้ หรือ หากมีอาชีพเป็นดารานักแสดง ก็ อาจจะสำรองไว้ถึง 12-18 เดือน ก็ได้ เนื่องจากอาชีพดารานักแสดง รายได้ไม่แน่นอน อาจจะไม่มีงานระยะยาวๆ ก็จะได้มีเงินสำรองเตรียมไว้สนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างที่เรายังไม่มีงาน ก็ได้เช่นกัน

ซึ่งปกติเงินสำรองฉุกเฉินนี้ ก็ควรจะมีความเสี่ยงต่ำ และสภาพคล่องสูง จึงแนะนำให้เก็บไว้ในรูปแบบของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ สลากออมสิน หรือกองทุนรวมตลาดเงินก็ได้

ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นฐานรากสำคัญอันดับแรกที่ต้องตรวจสอบว่าเรามีอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับมาตรฐานหรือยัง ซึ่งถ้าใครมยังมีไม่พอ ก็ควรต้องเตรียมให้พอก่อน หรือหากใครมีมากเกินไปเช่นมีถึง 15-20 เท่า ก็อาจจะพิจารณาถึงการย้ายสินทรัพย์ในส่วนที่เกินกว่า 6 เท่านี้ ออกไปลงทุนที่อื่นก็ได้ เพราะ ถ้าอยู่ในส่วนนี้มากเกินไป เงินเราก็จะโตช้าเกินไป ก็จะเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมากขึ้นได้

2. เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

ซึ่งส่วนนี้คือส่วนสำคัญมากส่วนนึงในการที่ต้องตรวจสอบก่อนไปลงทุน เพราะ ถ้าเราไม่จัดการเรื่องนี้อย่างดีพอ อาจจะทำให้เงินที่เราลงทุนอยู่อาจจะเกิดการสูญหายไปได้ ซึ่งขนาดของความสูญหายของสินทรัพย์การลงทุนของเรานั้น จะขึ้นอยู่กับความเสียหายที่มากระทบกับเรา เช่น เกิดบ้านของเราเกิดไฟไหม้ขึ้นมา หรือบ้านเราเกิดน้ำท่วมเหมือนตอนปี 54 ขึ้นมา หรือเกิดเราไปขับรถไม่ดีไปชนกับรถเบนซ์เข้า จะทำอย่างไร รวมถึงเกิดเราต้องโชคร้ายป่วยเป็นมะเร็ง หรือหัวใจ จะทำอย่างไร

เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากส่วนนี้ มีทั้งหนัก มีทั้งเบา ซึ่งถ้าเจอเบาๆ ก็อาจรอด เช่นป่วยเป็นไข้หวัด ไปหาหมอจ่ายเงินเองได้ เป็นต้น แต่ถ้าใครที่เจอวิกฤติหนักๆเลย เช่น ตัวเองหรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมากๆ ซึ่งถ้าค่าใช้จ่ายที่สูงแบบนี้จะทำอย่างไร ใครจะจ่าย มีใครจะมาอุ้ม support เรามั้ย

ดังนั้นวิธีการที่จะช่วยรองรับความไม่แน่นอนของความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ วิธีการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน รับผิดชอบ ทั้งด้านประกันทรัพย์สิน และ ประกันชีวิต ซึ่งควรต้องพิจารณาผลประโยชน์ความคุ้มครองในวงเงินที่มากพอด้วย ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดคิดกับเราจริงๆ ก็อาจจะไม่กระทบกระเทือนกับพอร์ตการลงทุนของเรามากนัก

ผ่านไป 2 เรื่องที่ต้องตรวจสอบ ก็น่าจะช่วยให้เราเป็นนักลงทุนที่สบายใจมากขึ้นแล้วนะครับ

3. เรื่องการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญในชีวิต

บางคนอาจจะมีคำถามในใจว่า ทำไมต้องออม ก็เราลงทุนเพื่อเป้าหมายสำคัญของชีวิตแล้วก็ได้มั้ย
ผมเลยขอขยายความว่า การที่เราควรแยกเรื่องการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญของชีวิตออกจากการลงทุนเพราะ คำว่า "มันเป็นสิ่งคำคัญของชีวิต" นั้นแหละ มันเลยไม่ควรจะเสี่ยงมาก

ซึ่งโดยส่วนใหญ่พอเรานึกถึงการลงทุน ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าเราไปลงทุนกับสินค้าการเงินประเภทอะไร เช่นถ้าลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น ก็คาดการณ์ว่าความเสี่ยงก็ค่อนข้างสูง

แต่เป้าหมายที่สำคัญในชีวิตคนเรา มีด้วยกัน 1-2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการเกษียณอายุ กับเรื่องการศึกษาบุตรสำหรับคนมีลูก

ซึ่ง 2 เป้าหมายนี้นั้น ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากๆ ที่เราไม่สามารถจะให้มันเสี่ยงๆได้ พูดง่ายๆ คือ "มันต้องได้เงินที่เพียงพอจริงๆ" รวมถึง "ต้องได้เงินในเวลาที่เราต้องการใช้จริงๆ"

ดังนั้น เรียกได้ว่า ทั้งเป้าหมายการวางแผนเกษียณอายุ กับ เรื่องแผนการศึกษาบุตร มันเป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้เลยจริงๆ เพราะ มันคงไม่สามารถจะย้อนเวลากลับไปเริ่มวางแผนใหม่ได้จริงมั้ยครับ จึงทำให้เราควรต้องวางแผนทั้ง 2 เรื่องด้วยความระมัดระวัง และ ควรมีความเสี่ยงที่ต่ำอีกด้วย ซึ่งก็อาจจะออมในสินค้าการเงินประเภทพันธบัตรรัฐบาล หรือ แผนประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือ กองทุนรวม RMF ที่ความเสี่ยงไม่สูงมากก็ได้

อีกทั้งถ้าเป็นเรื่องการวางแผนการศึกษาบุตร ก็ควรต้องวางแผนเรื่องประกันชีวิตของผู้ปกครองไว้ด้วย เพื่อไว้รองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันกรณีท่ีผู้ปกครอง?(พ่อ/แม่) เกิดเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร ลูกจะได้รับเงินทุนประกันที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำไว้ให้ เพื่อไว้ใช้ในการศึกษาจนจบตามเป้าหมายได้

ซึ่งหากเราตรวจสอบทั้ง 3 เรื่องและวางแผนจัดการจนครบเรียบร้อยแล้ว  ต่อจากนี้ไปเราก็สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างสบายใจ โดยเงินส่วนที่เหลือแล้ว เราอยากจะลงทุนอะไร  ชอบเสี่ยงมากๆ เราก็สามารถไปลงทุนได้แล้ว

และหากเกิดเราไปลงทุนแล้วเกิดผิดพลาดขึ้นไป ถึงขั้นเจ๊ง เราก็คงไม่ถึงกับเครียดมากนัก เพราะเราก็ยังพอเกษียณได้ ลูกเราก็ยังมีเงินเข้าเรียนหนังสือได้  เพราะเราได้ทำเป้าหมายสำคัญเรียบร้อยแล้ว นั่นเอง

ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่กำลังสนใจจะมองหาการลงทุนอะไรที่เราชื่นชอบ ก็ลองใจเย็นๆสักนิดนะครับ ลองเสียเวลามาเช็ค 3 เรื่องนี้ให้ดีก่อน จะได้เป็นนักลงทุนแบบสบายใจตลอดไปครับ

"มุ่งให้คนไทยทุกๆคนมีสุขภาพการเงินดี"

by
สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน CFP
CEO บริษัท เวลท์แพลนเนอร์ จำกัด

ติดตามบทความดีๆได้ที่นี่ www.surakit.com