อาชีพที่ปรึกษาการลงทุนที่ผมเคยทำ ทั้งตอนเป็นมนุษย์เงินเดือน และ ณ ปัจจุบันที่ทำกับบริษัทตัวเองนั้น ทำให้เราได้เจอนักลงทุนมากมายหลายสไตล์ ซึ่งผมถือว่าเป็นความโชคดีกับการที่ผมได้ทำอาชีพนี้ เพราะเปรียบเสมือนการย่อประสบการณ์ชีวิตตัวเอง ไม่ต้องผิดพลาดด้วยตัวเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์อื่นๆ หลายๆครั้ง ผมรู้สึกว่าตัวเองได้รับ มากกว่าที่ได้ให้คำแนะนำไปด้วยนะครับ
บทความวันนี้ เกิดจากวันหนึ่งผมมานั่งคิดๆดู ตัวเราเองเคยผิดพลาดในสิ่งไหนบ้าง และสิ่งไหนที่ผมสามารถให้คำแนะนำกับนักลงทุนส่วนใหญ่ เพื่อให้ไม่เจอปัญหาแบบเดียวกันกับที่ตัวผมเอง และนักลงทุนท่านอื่นๆเคยเจอ ก็รวบรวมมาได้ 5 ข้อ ตามนี้ครับ
1.จงถามคำถามที่คุณยังคาใจให้หายสงสัย
สิ่งที่ผมเจอและทำให้ในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนแล้วรู้สึกว่าทำงานยากขึ้นก็คือ การไปรู้ทีหลังว่า มีสิ่งที่ค้างคาอยู่ในจิตใจของผู้ขอคำปรึกษา เอาเมื่อตอนนี้ทำการตัดสินใจลงทุนไปแล้ว ยกตัวอย่างนะครับ ตอนช่วงเดือน เม.ย. มีลูกค้ามาปรึกษาผมเรื่องการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน บอกว่าน่าสนใจหรือเปล่า ผมก็อธิบายไปว่า ถ้าเป็นผม ผมจะไม่เอาเงินตัวเองไปเสี่ยง ณ ระดับนั้น เนื่องจากตลาดเริ่มแพงเกินไป และตัวผมเอง ก็ได้กำไรจากก่อนหน้านั้นมาเยอะแล้ว แต่ถ้าลูกค้าจะลงทุน ก็ขอให้เป็นสัดส่วนน้อย เพราะถ้ามันไปต่อ แล้วผมบอกว่า ห้ามซื้อเด็ดขาด ก็จะกลายเป็นขัดลาภ ซะงั้น ซึ่งผมก็แจ้งลูกค้าท่านนี้แบบที่ผมคิดนะครับ
… หลังจากนั้น มาเจอกันอีกทีตอน ปลายเดือน ส.ค. แกมาบอกความลับว่า แกไม่ได้ลงทุนกองจีนกับผม เพราะเห็นผมห้าม มีประเด็นที่สงสัยว่า ถ้ายากจะซื้อจริงๆ ควรซื้อเท่าไหร่ แต่ก็ไม่กล้าถามแล้ว เพราเห็นผมห้ามไปแล้ว ปรากฎว่าคุณพี่ไปลงทุนกับที่อื่น ซึ่งปัจจุบัน ทยอยเฉลี่ยต้นทุนแล้วก็ยังขาดทุนราวๆ -20% บอกว่า ให้ผมช่วยแก้พอร์ตให้หน่อย พอกางพอร์ตออกมาดู ถัวกองทุนหุ้นจีนไปเกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ต ผมนี่อยากจะเป็นลมแทนเลย
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความไม่รู้ คือ ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดนะครับ ดังนั้น ถ้ายังสงสัย ถ้ายังไม่รู้ ถามให้รู้ลึก อ่านให้รู้จริง แล้วค่อยตัดสินใจ อันนี้ดีที่สุด
2.สิ่งที่น่าเบื่อ บางครั้งมันคือสิ่งที่(โคตร)จำเป็น
ในการวางแผนการเงิน มันมีหลายสิ่งที่ทำแล้ว จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งถือว่าจะช่วยให้ที่ปรึกษาการลงทุนทำงานกับคุณง่ายขึ้นอีกเป็นกอง ยกตัวอย่างเช่น การจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันของตัวเอง ซึ่งจะสามารถทำให้เราเข้าใจแหล่งที่มาของรายได้ และสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายได้
แต่ปัญหาที่ผมเจอก็คือ คนไทย รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อยากให้คนนอกมาก้าวก่าย เอาจริงๆนะครับ ไม่ต้องให้คนอื่นรู้หรอก ตัวเราเองนะ ได้ทำดูแล้วรู้หรือยังว่ารายจ่ายครอบครัวเป็นอย่างไร ผมเข้าใจนะว่ามันน่าเบื่อ ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เชื่อผมสิ มันมีประโยชน์จริงๆ คุณจะเห็นเลยว่า รายการไหนที่เป็นรายจ่ายส่วนเกินที่คุณสามารถตัดออกไปได้ เงินทุกๆบาทที่คุณไม่ควักออกจากกระเป๋า มันคือเงินออมที่เร่งให้เราวิ่งสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้นนะ
3.ไม่มีหรอกครับงานสบายๆที่มั่นคง และไม่มีหรอกครับการลงทุนง่ายๆที่ปลอดภัย
สิ่งเดียวที่การันตีว่า สิ่งที่คุณทำ และสิ่งคุณลงทุน จะมั่นคง ก็คือ ‘การออกไปเสี่ยง’ ซะบ้าง สำหรับเรื่องงาน ลองคิดแบบนี้นะ ถ้าคุณได้ทำงานสบายๆ เงินเดือนสูงๆ คุณอาจคิดว่ามั่นคง แต่ในมุมของนายจ้าง ถ้าอยู่ดีๆเขาคิดขึ้นมาได้ว่า งานที่คุณทำ จ้างเด็กจบใหม่ เทรนซัก 6 เดือน หรือปีเนิง ก็น่าจะทำงานแทนคุณได้ด้วยเงินเดือนแค่ครึ่งหนึ่งที่เคยจ่ายคุณ … สิ่งนี้ยังเรียกว่ามั่นคงอยู่หรือเปล่า? จงพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปเรื่อยๆครับ เพราะยุคนี้ แค่คุณเดินช้ากว่าคนอื่น ก็เหมือนหยุดอยู่กับที่แล้ว เด็กสมัยนี้ เก่งๆ ไฟแรง มีเยอะมากๆ
ในด้านการลงทุน ถ้าคุณย้ำหนักย้ำหนากับตัวเอง หรือกับผู้ให้คำแนะนำว่า ไม่อยากเสี่ยง หรือห้ามขาดทุน!! ท้ายที่สุดก็จะไม่มีใครพาคุณไปลงทุนเสี่ยงๆ (ถ้าผู้ให้คำแนะนำมีจรรยาบรรณนะ) แต่การคิดแบบนี้กลับยิ่งเสี่ยงเพราะ ผลตอบแทนจากการลงทุนมันจะน้อยมากๆ แล้วคุณก็อาจจะบอกว่า ผู้ให้คำแนะนำคนนี้ไม่ดีพอ เพราะกำไรจากพอร์ตของคุณไม่เห็นจะโตเลย ...อ้าว ก็บอกว่าไม่อยากเสี่ยง แล้วจะเอากำไรดีๆจากไหน ถูกไหมครับ :)
4.เชื่อผมเถอะ ไม่มีใครแคร์เงินของเรามากกว่าที่เราแคร์เงินตัวเอง
ไม่ใช่ครอบครัวของคุณ และไม่ใช่ที่ปรึกษาการลงทุนของคุณ ที่จะแคร์เงินของคุณ ตราบใดที่คุณยังคิดว่ามันเป็นเงินคุณเอง ไม่ใช่เพราะครอบครัวไม่รักคุณ และไม่ใช่เพราะที่ปรึกษาการลงทุนไม่อยากจะเสนอบริการดีๆให้คุณ แต่เหตุผลจริงๆ มันเป็นเพราะ เรื่องการเงิน มันเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนๆกับ คุณชอบกินข้าวกระเพราไก่ หรือชอบใส่เสื้อยืดลายสก๊อต ถึงบางคนอาจจะบอกว่าคุณดูตลกที่ใส่เสื้อลายนี้ แต่มันก็เป็นสิทธิของคุณที่จะยังใส่มันอยู่ ถ้าพูดให้ถูกก็คือ มันเป็นคุณคนเดียวในโลกนั้นละครับ ที่รู้ความเสี่ยงที่แท้จริงของตัวคุณเอง ที่เหลือ เขาก็แค่พยายามแนะนำให้สิ่งที่เขามองเห็นจากข้างนอก ดังนั้น ตอนกำไรหรือขาดทุน คนที่มีส่วนต้องรับผิดชอบหรือได้เครดิตมากที่สุด ก็คือตัวคุณเองครับ
5.อย่าคิดว่ารวยแล้วค่อยลงทุน แต่เพราะเราลงทุน ถึงจะไปเจอคำว่ารวย
คนส่วนใหญ่เลยนะครับ พอพูดถึงการจัดพอร์ตการลงทุนปั๊บ มักบอกกับตัวเองเลยว่า “ฉันยังมีเงินไม่มากพอ” แล้วพอเวลาผ่านไป ก็ไม่เคยถามตัวเองว่า “แล้วเท่าไหร่ ถึงจะมากพอที่จะต้องจัดพอร์ต?” ประเด็นคือ เพราะไม่ได้มีการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกไงครับ เงินมันเลยไม่โตซักกะที ไม่มีเศรษฐีคนไหน รวยจากการฝากเงินในธนาคาร เขาเหล่านั้นเอาเงินออกไปเสี่ยงกันหมด ไม่ว่าจะเสี่ยงลงทุนในธุรกิจตัวเอง ห