ในช่วงนี้เพื่อนๆหลายคนก็คงกำลังติดตามข่าวเรื่องหุ้น BEM ในเรื่องของข้อเสนอการต่อสัมปทาน 30 ปี แลกกับการยุติข้อพิพาทค่าโง่ทางด่วนกันอยู่ใช่ไหมครับ แน่นอนว่าหลายคนก็คงสงสัยนั่นล่ะว่า ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มันเป็นยังไง แล้วทำไมถึงต้องมีการเสนอแนวทางนี้ ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร มาดูกันนะครับ

ทำไมถึงเกิดค่าโง่ที่คาดการเอาไว้ถึง 1.37 แสนล้านบาท?

สิ่งแรกที่เราจะต้องเข้าใจกันก่อนก็คือ BEM ได้รับสัมปทานมาจากรัฐบาล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา แต่อย่างว่านะครับ ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไปหลังทำสัญญา ก็อาจจะเกิดเงื่อนไขบางอย่างที่บางฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ จนทำให้เกิดข้อพิพาทในการฟ้องร้องขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติของโลกธุรกิจนะครับ โดยในกรณีของค่าโง่ทางด่วนนั้นมีสาเหตุในการฟ้องร้องอยู่ 2 เรื่องดังนี้ครับ

การเข้ามาแข่งขันของภาครัฐ

เรื่องที่นำมาฟ้องร้องกันคือการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติไปถึงรังสิตที่มาแข่งกับทางบริษัทลูกของทาง BEM ในส่วนของบางปะอิน-ปากเกร็ด ทำให้ทางบริษัทเอกชนสูญเสียรายได้

การชะลอขึ้นค่าทางด่วน

ในการตกลงระหว่างรัฐบาลกับทาง BEM ได้มีเรื่องของการขึ้นค่าผ่านทางด้วย ซึ่งพอถึงเวลา รัฐบาลไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามที่กำหนดไว้ในสัญญาการขึ้นค่าทางด่วนเพราะกลัวกระทบต่อพี่น้องประชาชน แต่พอไม่ได้ขึ้นในครั้งหนึ่ง มันก็จะมีผลกระทบต่อการขึ้นในครั้งหน้า ก็เลยนำไปสู่การฟ้องร้องในการสูญเสียรายได้ในส่วนนี้

ข้อพิพาททั้งหมดที่มีการประเมินเป็นตัวเลขไว้ โดยรวมทุกคดีทั้งที่ตัดสินแล้วและอยู่ในกระบวนการนั้นเป็นจำนวนถึง 1.37 แสนล้านบาท คำถามก็คือ ในกรณีที่แย่ที่สุดและรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดนี้ จะหาทางออกกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไร?

การหาทางออกให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

ถ้าหากเรามาดูข้อพิพาทและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น มันเกิดจากการทำผิดสัญญาและข้อตกลง หากรัฐบาลต้องจ่าย 1.37 แสนล้านบาทมาจ่ายให้กับ BEM มันก็เป็นอะไรที่คิดไม่ตกอยู่เหมือนกันเพราะเงินก้อนนี้ใหญ่มากและต้องเอามาจากภาษีของประชาชน เหตุการณ์แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายไหน

ผู้ที่เป็นคนเสนอ กทพ.หรือ BEM>>บอร์ดการทางพิเศษจึงเสนออีกวิธีเพื่อแก้ปัญหาขึ้นมาก็คือการต่อสัญญาสัมปทานให้ BEM เป็นเวลา 30 ปี โดยแลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมด ในรายละเอียดมีการขอแก้ไขสัญญาต่างๆ เช่น การตกลงส่วนแบ่งรายได้ใหม่ เพิ่มเรื่องรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน และการพัฒนาทางด่วน 2 ชั้น Double Deck เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การฟ้องร้องค่าเสียหาย แต่กำลังจะพ่วงรายการใหม่ๆเข้าไปในสัมปทานเพิ่มอีก

ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ก็ย่อมมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วย บางคนมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ประชาชนให้บริษัทเอกชน เพราะมีเพียงคดีเดียวที่เป็นอันสิ้นสุด มูลค่า 4,318 ล้านบาท จึงควรต่อสู้ทางกฎหมายมากกว่าการยกสัมปทานให้ อีกทั้งการเกิดโครงการสัมปทานใหญ่ๆ ก็จะต้องมีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น 

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผลดีผลเสียของโครงการ

ความถูกต้องของกฎหมายในการต่อสัมปทาน

สิทธิ First Right ที่ต้องมอบให้ BEM รวมไปถึงเรื่องความโปร่งใสอื่นๆ

และไม่รู้ว่าจะเกิดข้อพิพาทอื่นๆอีกไหมในอีก 30 ปีข้างหน้า

ทางสภาผู้แทนราษฎรจึงตกลงกันให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาควรจะต้องดำเนินการอย่างไร

ต่อสัมปทาน 30 ปีแลกกับยุติข้อพิพาท ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร?

(นพ.ระวี มาศฉมาดล สส. บัญชีรายชื่อจากพรรคพลังธรรมใหม่)

ถ้าหากเราดูการประชุมรัฐสภา ในญัตติด่วน เพื่อขอให้ที่ประชุมสภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการต่ออายุสัมปทานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล สส. บัญชีรายชื่อจากพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ได้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันมีรถใช้บริการทางพิเศษรวมแล้ววันละ 1,174,045 เที่ยวต่อวัน มูลค่าของสัมปทานจำนวน 30 ปีนั้นคือ 751,612 ล้านบาท ข้อดีข้อเสียของการต่ออายุสัมปทาน ทำเป็นตารางเปรียบเทียบดังนี้ครับ

จากตารางจะเห็นได้ว่า กรณีที่รัฐบาลต่อสัญญาสัมปทานให้ BEM นั้นจะทำให้ไม่ต้องจ่ายข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ส่วนรายได้ต่างๆ ก็มีการแบ่งกันตามข้อตกลงของสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม การทำสัญญากับภาคเอกชนนั้นก็มีโอกาสเกิดข้อพิพาทต่างๆ ได้อีก และที่สำคัญคือค่าทางด่วนจะเพิ่มขึ้น 10 บาททุก 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันทางอัยการยังทักท้วงถึงความเหมาะสมของสัญญานี้อยู่และอยากให้ปรับตามสภาวะเงินเฟ้อ

ในทางตรงข้ามหากไม่ต่อสัมปทาน รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายจากข้อพิพาทประมาณ 1 แสนล้านบาท หากจ่ายไปก็เจ็บแต่จบ และได้ทางด่วนกลับมาบริหารเอง รายได้เป็นของรัฐบาลและประชาชน สามารถพิจารณาเรื่องการขึ้นค่าทางด่วนได้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รายได้ตรงนี้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ในกิจการของรัฐบาลได้

ส่วนรายได้อื่นๆเช่นการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนและการพัฒนา Double Deck ก็อยู่ที่การศึกษาผลกระทบต่างๆ เพราะยังไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งถ้าหากทำได้กรณีที่ต่อสัมปทานก็แบ่งกับ BEM ถ้าไม่ต่อสัมปทานประโยชน์ก็เข้ารัฐบาลทั้งหมด

สิ่งที่เราในฐานประชาชนต้องติดตาม

ผมว่าจริงๆ แล้วทุกฝ่ายก็พยายามหาแนวทางที่ดีที่สุดให้กับเรื่องนี้นะครับ แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลทำผิดสัญญา ศาลพิพากษาแล้วก็ต้องชดเชยให้กับเอกชน แต่การต่อสัมปทาน 30 ปีนั้นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือเปล่า? หรือจริงๆ แล้วการจ่ายหนี้ที่เป็นข้อพิพาทและรัฐบาลนำทางด่วนที่หมดสัมปทานแล้วมาบริหารเองจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าในระยะยาว

ทั้งหมดนี้เราคงจะต้องรอผลสรุปการศึกษาจากคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่าจะมีผลอย่างไร ตอนนี้ทุกสายตาก็ต้องมองไปทางกลุ่ม สส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ร่วมกันอย่างดีที่สุด เพราะกระทบพวกเราไปถึง 30 ปีเลยครับ

ว่าแต่เพื่อนผู้อ่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างครับ ต่อหรือไม่ต่อสัมปทานดีกว่ากัน?

บทความนี้เป็น Advertorial