เคยสงสัยกันสินะว่า เวลาออมหุ้นไปแล้วจะขายกันเมื่อไหร่ดี? เพราะบทความต่างๆ ที่ให้ความรู้นั้นจะพูดแค่ว่าจะออมอย่างต่อเนื่องและสร้างวินัยการลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาวได้อย่างไรเท่านั้น เอาหล่ะ สำหรับตอนนี้พี่ต้าร์ก็จะขอมาแนะนำในเรื่องของการขายหุ้นสำหรับสำหรับนักลงทุนแบบ DCA กันนะครับ

อย่างที่เราเคยคุยกันเนอะว่า DCA นั้นจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนจากการเปลี่ยนเงินออมในแต่ละเดือนมาลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมในระยะยาว แต่ต้องวิเคราะห์และเลือกเฉพาะทรัพย์สินที่มีพื้นฐานดีมีการเติบโต การลงทุนในแบบฉบับของเรานั้นจะไม่สนใจในเรื่องของราคาที่ผันผวนในตลาด ซื้อไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันจะเฉลี่ยราคาของมันไปเอง 

แน่นอนครับว่าหากเราสะสมความมั่งคั่งได้ มีส่วนต่างของราคาหุ้นที่เป็นตัวกำไรสีเขียวๆให้เราได้มองเห็น แต่มันจะเป็นแค่ตัวเลขเท่านั้นหากเราไม่ได้ขาย ลงทุนแล้วท้ายสุดก็ต้องขายนะครับ การขายนั้นก็ไม่ได้มีเทคนิคที่พิเศษอะไรเลย เป็นวิธีง่ายๆ ไม่ต่างกับตอนที่เราซื้อมา

1. ขายเมื่อเราบรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้

ผมจะบอกเสมอไงว่าก่อนที่จะเก็บเงินเราจะต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วยว่าจะเก็บเงินในแต่ละก้อนไปเพื่ออะไร ถ้าใครที่เก็บเงินมาถึงยามเกษียณแล้ว เราก็เอามาใช้ในตอนเกษียณไง ในกรณีนี้เราก็ใช้วิธีเปลี่ยนจาก บริษัทหรือนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ มาเป็นพอร์ตการลงทุนจ่ายเงินเดือนให้แทน ก็ค่อยๆ ทยอยขายออกมาใช้ในแต่ละเดือนนะครับ เสมือนว่าเป็นเงินเดือนใช้จ่ายต่อเนื่องเลย บางคนก็ถามว่าแล้วขายหมดเลยดีไหม? อันนี้ก็แล้วแต่คนนะเพราะถ้าเงินมันยังนำไปใช้ลงทุนอยู่ก็ยังเติบโตได้อีก แต่ถ้าเราถอนออกมาฝากธนาคารไว้ ก็ไม่รู้ว่าเวลานั้นดอกเบี้ยจะให้ผลตอบแทนเท่าไหร่

2. ขายเมื่อเราพบโอกาสการลงทุนในความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเรามากขึ้น

การลงทุนก็อาจจะไม่เหมือนการเลือกแฟนเสมอไปน้า สำหรับการเจอคนที่ดีกว่าคนปัจจุบัน คนที่ใช่แต่มาผิดเวลาก็คือคนที่ไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเรื่องการลงทุนไม่เหมือนกัน ฮาๆ หากเราไปเจอโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เรารับความเสี่ยงได้ เช่น เจอการลงทุนที่ผลตอบแทนใกล้เคียงกันในความเสี่ยงที่ต่ำกว่า หรือ เจอการลงทุนที่ผลตอบแทนที่สูงกว่าบนความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน เราอาจจะพิจารณาโอกาสนั้นแล้วขายสิ่งที่มาอยู่มาลงทุนในสิ่งใหม่ๆได้ อันนี้รวมถึงการปรับพอร์ตการลงทุนส่วนตัวเราด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงด้วยการสร้างสมดุลพอร์ต (Rebalancing) หรือการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงตามวัยด้วยนะ

3. ขายเมื่อสิ่งที่ลงทุนอยู่มันไม่ได้ดีแล้ว

สำหรับข้อนี้คงจะต้องถามในแง่ของความรักด้วยว่า ถ้าคบแฟนแล้วไปๆ มาๆ เขาทำตัวไม่ดี จะเลิกไหม? หลายคนก็ตัดสินใจเลิกแน่นอน การลงทุนในหุ้นก็เช่นกัน ถ้าเราพบว่าหลายๆอย่างในการแข่งขันมันเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีต่างๆ แล้วมันมีผลกระทบต่อบริษัทที่เราลงทุนอยู่ แต่บริษัทมันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเล๊ยยย เช่น เขาผลิตรถยนต์กันไปแล้วนี่ยังจะนั่งผลิตรถม้าอยู่ได้ หรืออาจจะเป็นในเรื่องภายในของบริษัทที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมไม่ดีเอาซะเลย ทำให้ผลการดำเนินงานไม่ดี มีความผิดปกติอยู่บ่อยๆ อันนี้ก็ต้องมานั่งพิจารณาขายกันหน่อยละ

4. ขายเมื่อต้องใช้เงิน

ท้ายสุดก็คือเรื่องการใช้เงินนั่นล่ะ บางทีเราวางแผนมีเป้าหมายอะไรเต็มไปหมด แต่ยังไม่ถึงเป้าเลยมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากและเงินฉุกเฉินทั้งหลายนั้นมันไม่เพียงพอและประกันต่างๆ ไม่ครอบคลุม ก็เอาเงินลงทุนที่เป็นปราการสุดท้ายขายออกมาใช้ก็ได้ มีให้เห็นเยอะแยะ เช่นอยู่ๆพ่อแม่อายุเยอะแล้วป่วยขึ้นมาประกันไม่ครอบคลุมแล้วเราก็ต้องดูแลเขา ก็สามารถนำเงินตรงนี้ไปช่วยได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าวิธีการของผมมันง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนะครับ แต่ถ้าถามว่าเราจะใช้ควบคู่กับหลักการลงทุนไตล์อื่นเช่น Technical หรือการดู Valuation ประกอบได้ไหม? ก็ตอบว่าได้ แต่ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้และความเชี่ยวชาญของแต่ละคนในระดับที่สูงขึ้นนะครับ แนวทางผมก็จะเป็นแบบง่ายๆก่อน แต่ถ้าสามารถต่อยอดผสมผสานกับแนวทางอื่นๆแล้วทำให้เรามีความสุขในการลงทุน มีผลตอบแทนมากขึ้นก็จัดไปปปปปปปปปป