คำถามนี้ค่อนข้าง Classic มากสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เวลาที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อเลือกซื้อหุ้นหรือกองทุนรวม และคิดว่าเงินลงทุนของเรานั้นไม่สูงมาก เช่น เรามีเงินลงทุนต่อเดือนแค่ 2,000 บาท เราจะรู้สึกว่า การเลือกซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีหน่วยราคาสูง เช่น หน่วยล่ะ 50 บาท ก็จะได้แค่ 40 หน่วยเอง

แต่ถ้าเรานำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีหน่วยลงทุนถูกกว่าเช่น 2 บาท เราจะได้ถึง 1,000 หน่วยลงทุนแหนะ และคิดว่าด้วยจำนวนและมูลค่าทรัพย์สินที่มาก หากขายทำกำไรในอนาคตหรือได้เงินปันผลแล้วจำทำให้เราอู้ ฟู่มากกว่า

แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า...  ผมมีข้อสังเกตดังนี้นะครับ

1. ราคาต่อหน่วยอาจหลอกตา ลองคำนวณเลยดีกว่า

สมมติเราลง 2,000 บาท ในทรัพย์สิน 2 ตัว

  • ตัวที่ 1 ราคา 50 บาท เราจะได้ 40 หน่วย
  • ตัวที่ 2 ราคา 2 บาท เราจะได้ 1,000  หน่วย

หากราคาทรัพย์สินขึ้นในอัตราส่วนเท่ากัน คือ 10 %

  • ตัวที่ 1 ราคา 50 บาท จะกลายเป็น 55 บาท
  • ตัวที่ 2 ราคา 2 บาท จะกลายเป็น 2.2 บาท

มูลค่า Port การลงทุน

  • ตัวที่ 1 มูลค่าพอร์ตการลงทุน 55 x 40 = 2,200
  • ตัวที่ 2 มูลค่าพอร์ตการลงทุน 2.2 x 1,000 = 2,200  

จากตัวเลขนี้มันทำให้ผมคิดว่า ถ้าเราเจอหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีราคาซื้อขายต่างกัน ณ เวลาหนึ่งๆ บางทีเราอาจจะคิดว่าหากซื้อกองทุนหรือหุ้นที่ราคาถูกแล้วเราจะได้จำนวนเยอะ เพราะมันก็เป็นกองทุนและหุ้นเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริง มันไม่เหมือนกันนะ เนื่องจากมันรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนและหุ้นอื่นๆ ที่เราต้องนำมาวิเคราะห์นอกเหนือจากเรื่องราคาถูก-แพง

2. สิ่งที่สำคัญคือ ‘การเติบโต’ ไม่ใช่ราคาถูกหรือแพง

จากที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนมือใหม่ ผมมักจะได้เห็นแนวคิดด้านลงทุนเกี่ยวกับทรัพย์สินในการลงทุน หลายคนมักเชื่อว่า ทรัพย์สินที่ราคาถูกมันน่าจะโตได้เร็วกว่าทรัพย์สินราคาแพง เช่น 10 ไป 20 มันน่าจะง่ายกว่า 100 ไป 200 ในเชิงของเทคนิคผมเองก็ไม่ได้ศึกษาว่ามันง่ายจริงหรือเปล่า แต่ผมเองค่อนข้างเชื่อในเชิงพื้นฐานว่า หุ้นมันจะขึ้นได้มันต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เติบโต

ถ้าผมถามว่า หุ้นตัวหนึ่งเพิ่มจาก 100 บาท ไป 150 บาท ในขณะที่อีกตัว ลดจาก 10 บาท เหลือ 8 บาท คุณจะเลือกตัวไหนกัน? ถ้าเรารู้คำตอบล่วงหน้าเราก็จะเลือกซื้อที่ 100 อยู่แล้ว ไม่มีใครเลือกซื้อ 10 บาทเพื่อให้เหลือ 8 บาทหรอก แสดงว่าตัวราคาตั้งต้นว่ามันถูกหรือมันแพง มันไม่ได้เกี่ยว มันเกี่ยวในเรื่องของอนาคต และนั่นจึงทำให้ผมมองว่า สิ่งที่จะทำให้ราคามันเพิ่มนั่นล่ะสำคัญกว่าตัวราคาที่มันเป็นอยู่

3. เราจะเลือกหุ้นและกองทุนรวมเพื่ออนาคตอย่างไรดี?

จริงๆ แล้วในมุมมองของผมการเลือกหุ้นและกองทุนรวมเนี่ย ค่อนข้างแตกต่างกัน อย่างหุ้นเนี่ยถ้าเราจะเลือกอาจจะต้องใช้ความละเอียดของข้อมูลเยอะกว่าเพราะ เราดูในเรื่องของธุรกิจ เทรนด์การเติบโต โอกาสในการเติบโต ผลดำเนินงานที่ผ่านมา หลายคนอาจจะใช้การประเมินมูลค่าเพื่อดูว่าหุ้นที่จะซื้อเนี่ยมันสมควรซื้อในราคาไหน ดูความถูกแพงจากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หรือดูว่าถ้าเราใส่สมมติฐานในอนาคตลงไปราคาที่เหมาะสมในช่วงปัจจุบันมันควรจะอยู่ตรงไหน ไม่ก็ DCA ไปเลย

ในส่วนของกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้น NAV จะดูยากว่าถูกหรือแพง ส่วนหนึ่งอาจจะมองได้จาก SET  index ว่ามันแพงในช่วงนั้นหรือเปล่า (เพราะอย่างไรก็ตามกองทุนหุ้นก็ถือหุ้นเกิน 60% อยู่แล้ว บางทีเขาก็ถือ 90% กัน) แต่อีกส่วนเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ทราบลึกๆ คือ หุ้นที่กองทุนนั้นถืออยู่มีสัดส่วนการลงทุนอะไรบ้าง มีหุ้นกี่ตัวและให้น้ำหนักแต่ละตัวอย่างไร ตรงนี้อยู่ที่สไตล์ของกองทุนรวมด้วย

เมื่อเราไม่รู้ว่ากองทุนรวมเขาจัดการอย่างไร ผมก็จะเปลี่ยนวิธีการมองกองทุนรวมนั้นเป็นในแง่ของการจัดการ ผมจะมองว่า “เขาจัดการได้ดีหรือเปล่า?” ตรงนี้ผมจะเน้นดูใน Performance ของกองทุนรวมแทน เช่น การวัดการตอบแทนเทียบกับพวกตัววัดทั้งหลายอย่างอย่างเหมาะสม ทั้งในส่วนของ SET TRI การวัดเทียบกับกองทุนอื่นๆ ด้วย Percentile ซึ่งโดยปกติผมจะดูอันดับของกองทุนรวมนะครับขอให้อยู่ในระหว่างที่ 1-10 ไปยาวๆ ไม่ต้องที่ 1 ตลอดการก็ได้ ถ้าโอเคก็ DCA กันไป

โดยสรุปแล้วในมุมมองของผมคิดว่าราคาหุ้นหรือกองทุนรวมนั้นด้วยตัวราคาเองอาจจะไม่ได้บอกว่าเป็นทรัพย์สินที่ถูกหรือแพง ดีหรือไม่ดี จะเด้งมากกว่าหรือน้อยกว่า มันเป็นแค่เพียงการกำหนดมูลค่าในการซื้อ ก่อนที่จะซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมผมจะถามตัวเองก่อนว่า ซื้อไปแล้วมีโอกาสเติบโตไหม มีโอกาสได้กำไรในอนาคตไหม ถ้าซื้อหุ้นก็อย่าลืมดูปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ผลการดำเนินงาน ถ้าเป็นกองทุนรวมอย่าลืมดูความสามารถในการสร้างผลตอบแทน ฝีมือของผู้จัดการกองทุนรวม และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนะครับ

ขอให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนนะครับ