เมื่อถามถึงเป้าหมายในชีวิต เชื่อว่าหนึ่งในความฝันของหลายคนน่าจะอยากมีบ้าน หรือคอนโดเป็นของตัวเองกันสักหลัง ซึ่งในตอนนี้ทั้งตลาดบ้าน และคอนโดต่างเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะพิษโควิดเริ่มเบาบางลงมาก ผู้คนจึงเริ่มคิดเรื่องการลงหลักปักฐานอย่างจริงจังกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อทำธุรกิจ หรือเพื่ออยู่อาศัยก็ตาม
แต่เมื่อพูดถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างบ้าน หรือคอนโดที่มีราคาค่อนข้างสูง หลายคนจึงมักเลือกการขอสินเชื่อแทนการซื้อเงินสด เพราะไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ในทีเดียว ทำให้สามารถบริหารการเงินอย่างมีอิสระมากขึ้น แต่ในตอนที่เราขอสินเชื่อนั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักเจอคือ ให้เราซื้อประกันไปพร้อมกับการยื่นกู้เลย ซึ่งประกันที่ว่านั้น จะมีอยู่ 2 ตัว คือ ประกันอัคคีภัย และประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ
ในวันนี้ นายปกป้อง และ aomMONEY จึงอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับประกันทั้งสองตัวนี้ให้ลึกขึ้นอีกหน่อย ว่าเราควรจะทำตอนขอยื่นกู้เลยดีไหม และประกันทั้งสองตัวนี้มันให้ประโยชน์อะไรกับเรา มาดูกัน
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
แค่ชื่อก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้ว ว่าหากเกิดไฟไหม้ขึ้น ประกันจะมอบความคุ้มครองให้เรา แต่จริง ๆ แล้วประกันอัคคีภัยนั้นมีรายละเอียดความคุ้มครองที่ลึกกว่านั้น และบางบริษัทยังเพิ่มความเสียหายจากภัยพิบัติอื่น ๆ นอกเหนือจากไฟไหม้ได้ด้วย โดยรายละเอียดภาพรวมความคุ้มครองของแบบประกันอัคคีภัยจะมีดังนี้
1. คุ้มครองความเสียหายจาก ‘ไฟไหม้’ แต่จะมีข้อยกเว้นที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครอง ดังนี้
- 1.1 ไม่รวมถึงความเสียหายของ ‘แรงระเบิด’ เว้นแต่แรงระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย
- 1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเกิดจาก การบูดเน่า หรือการระอุตามธรรมชาติ และการลุกไหม้ขึ้นเองเฉพาะที่เกิดจากตัวทรัพย์สินนั้นเองเท่านั้น หรือ
- 1.3 การที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในระหว่างกรรมวิธีใด ๆ ซึ่งใช้ความร้อนหรือการทำให้แห้ง
- 1.4 ความเสียหายทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจากไฟไหม้ที่เกิดจาก ‘แผ่นดินไหว’
2. คุ้มครองความเสียหายจาก ‘ฟ้าผ่า’
3. คุ้มครองความเสียหายจาก ‘แรงระเบิดของแก๊ส’ ที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย แต่จะไม่รวมถึงความเสียหายจากการระเบิดของแก๊สที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว
4. คุ้มครองความเสียหายจาก ‘ความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ’ ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัย
เช่น พายุ ลูกเห็บ หรือกรมธรรม์ของบางบริษัทได้คุ้มครองภัยที่เกิดจากการเฉี่ยว หรือการชน จากยานพาหนะของบุคคลภายนอกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะระบุเพิ่มความคุ้มครองส่วนไหนให้เราบ้าง ยกตัวอย่างรายละเอียดความคุ้มครอง เช่น
- 4.1 คุ้มครองความเสียหายจาก ‘น้ำท่วม’ ซึ่งหมายถึงการที่น้ำไหลล้นออกจากทางน้ำปกติ ทั้งทางน้ำที่สร้างขึ้นเอง หรือจากท่อน้ำสาธารณะ แต่จะไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา และยังคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดจากทางน้ำธรรมชาติด้วย เช่น น้ำป่า พายุ และโคลนถล่ม แต่จะมีข้อยกเว้นความคุ้มครอง ดังนี้
- ความเสียหายโดยตรง หรือทางอ้อมที่เกิดจากคลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ ไปจนถึงการเกิดน้ำหนุน จนเกิดน้ำไหลล้น นอกจากนี้น้ำท่วมจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิดจะอยู่นอกเหนือความคุ้มครองเช่นกัน
- ทรัพย์สินเอาประกันภัยที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่เปิดกว้างด้านในด้านหนึ่ง เช่น โกดังต่าง ๆ จะอยู่นอกเหนือความคุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ
สำหรับประกันภัยตัวนี้ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อไปพร้อมกับการยื่นกู้นั้น เรียกได้ว่ามีประโยชน์มากทีเดียว มาดูรายละเอียดกันครับ
ปกติแล้ว เวลาจะยื่นกู้ สถาบันการเงินอาจมีการขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือบุคคลค้ำประกันเพื่อยืนยันความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น กรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (อาจรวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ตามที่กรมธรรม์กำหนด) บริษัทจะจ่ายหนี้ที่เหลือให้ทันที เท่ากับว่า หลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันจะอยู่รอดปลอดภัย และผู้ค้ำประกันเองจะไม่ต้องเดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ในอดีต กรมธรรม์ประกันตัวนี้จะเป็นกรมธรรม์กลุ่ม และผู้กู้จะต้องซื้อจากสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้เท่านั้น ไม่สามารถซื้อจากที่อื่นได้ และหากมีการ ‘Refinance’ ต้องยื่นเรื่องเวนคืนกรมธรรม์ด้วย เนื่องจากไม่ได้เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเดิมแล้ว
แต่ในตอนนี้ได้มี ‘กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชน’ เกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถซื้อจากบริษัทอื่นที่ไม่ใช่ผู้ปล่อยกู้ของเราได้ และไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนกรมธรรม์หากมีการ Refinance
โดย ‘กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชน’ จะมีลักษณะความคุ้มครอง ดังนี้
- 1. จ่ายคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร
- 2. ระยะเวลาเอาประกันภัยเริ่มตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 30 ปี และชำระเบี้ยประกันภัยเพียงครั้งเดียว
- 3. จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงเป็นไปตามรูปแบบการผ่อน ได้แก่
- จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลงตามอัตราดอกเบี้ย เช่น การผ่อนบ้าน
- จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลงเท่า ๆ กัน เช่น การผ่อนรถ
- 4. ผู้เอาประกันภัยมีสิทธินำเบี้ยประกันภัย (เฉพาะส่วนของการประกันชีวิต) ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
จะเห็นได้ว่า การมีประกันภัยทั้งสองตัวนี้ติดไว้ตอนยื่นกู้ สามารถช่วยคุ้มครองเราได้หลายด้านทีเดียว เช่น ประกันอัคคีภัยที่ทำให้เราหมดกังวลเรื่องภัยพิบัติหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา หรือประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ ที่ช่วยให้ภาระของเราไม่ต้องตกไปถึงคนที่อยู่ข้างหลัง ดังนั้น หากตัดสินใจที่จะกู้ซื้อบ้าน หรือคอนโดแล้ว อาจพิจารณาเรื่องการทำกรมธรรม์ทั้งสองตัวนี้ติดไว้ด้วย
Source: คปภ.
บทความนี้เป็น Advertorial