"สวนสยาม (Siam Park City)" หรือที่รู้จักกันในนามของ “สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ” ตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Siam Amazing Park นับเป็นการรีแบรนด์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยผู้ก่อตั้งสวนสนุกแห่งนี้ คือ คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ จากกระเป๋ารถเมล์สู่มหาเศรษฐีหมู่บ้านจัดสรรที่มีเงินเป็นพันล้าน สู่การลงทุนสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ในเมืองไทย

อะไรคือจุดเริ่มต้นและปัญหาที่ทำให้สวนสยามเป็นหนี้ยาวนานกว่า 15 ปี และแม้จะโดนฟ้องล้มละลาย คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ก็ไม่เคยปล่อยมือจากสวนสนุกแห่งนี้ กว่าจะข้ามผ่านมาถึงวันนี้ ต้องผ่านกับเรื่องราวอะไรมาบ้าง

วันนี้ aomMONEY INSPIRED ขอนำเสนอเรื่องราวของคุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เจ้าของสวนสยามผ่านบทสัมภาษณ์นี้ครับ

เริ่มต้นจากการเป็น "กระเป๋ารถเมล์" เพราะที่บ้านยากจน

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : เราเริ่มต้นจากการเป็นกระเป๋ารถเมล์ เพราะที่บ้านยากจน มีพี่น้อง 8 คน เราต้องไปเป็นกระเป๋ารถเมล์ เพื่อหัดขับรถยนต์ หลังจากขับรถได้ระยะหนึ่ง ต้องล้างรถให้เก่งด้วย  เพราะสมัย 70 - 80 ปีก่อน การดูแลรักษารถมันยังไม่ค่อยมี เขาจะหวงรถกันมาก เพราะฉะนั้นการเป็นกระเป๋ารถเมล์ต้องขยันล้างรถ ถึงจะมีโอกาสได้หัดขับรถยนต์

"กระเป๋ารถเมล์" เจออันตรายร้อยแปด จนคิดเลิกทำ

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : อาชีพกระเป๋ารถเมล์ ถ้าเกิดรถมันชนกัน แล้วเป็นอะไรไป ผมคิดแล้วว่าชีวิตเราไม่รอดแน่ ผมเลยบอกคุณแม่ว่า ผมจะเลิกเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมขับรถเป็นแล้ว ให้คุณแม่หาเงินซื้อรถกระบะเพื่อจะรับ - ส่งสินค้าหน่อย เพราะไม่มีเงินที่จะไปดาวน์ เมื่อไม่มีเงินผมเลยบอกว่า แม่เล่นแชร์สิ มือละ 500 ตอนนั้นญาติพี่น้องเราตลาดบางบัวไม่มีใครยอมจ่ายเงิน เพราะบ้านเรามันจน เขากลัวว่าผมจะทำงานไม่จริง ทิ้งภาระให้แม่ หรือไม่ก็เห็นว่าเราจน คงไม่มีปัญญาไปชำระหนี้เขา อันนี้ผมคิดเองนะ แต่ผมโชคดีครับ... พี่สาวเขาแต่งงานไปแล้วกลับมาบ้าน เขาพอมีฐานะ พี่สาวก็เอาเรื่องเราไปเล่าให้พี่เขยฟัง เขาเห็นว่า ควรจะสนับสนุน เพราะพ่อพี่เขยเขาชอบใจผม รักผม ในฐานะเป็นอากู๋เขาก็ให้ยืม 5,000 บาท ผลสุดท้ายเราก็ได้รถมาเริ่มขับรถรับจ้าง

"ขับรถรับจ้างไม่หยุด" ไม่พัก เพื่อใช้หนี้ให้หมด

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ผมต้องขับรถ 24 ชั่วโมง ตื่นเช้ามาประมาณตี 2 รับพันธุ์ปลาที่ชาวนาไปล้อมอวนมา เอาไปส่งที่ตลาดหัวลำโพง จากนั้นเลยไปสะพานปลาไปรับปลาทู เราไปถึงหัวลำโพงตี 3 ไปถึงสะพานปลาตอนตี 4 พอตี 5 ประมูลปลาเสร็จก็ออกจากสะพานปลาตอน 6 โมง มาส่งที่บางบัว บางเขน สะพานใหม่ ดอนเมือง รังสิต และกลับมาที่สถานีรถไฟหลักสี่ เอาควาย เอาวัวมาเลี้ยงไว้ที่นั่น เพื่อที่จะไปโรงฆ่าสัตว์ ด้วยความสงสารเขาก็ให้เราไปบรรทุกฟางมาเลี้ยงวัว วัวเจ็บเราก็รับวัวขึ้นไปบนรถ เพื่อที่จะนำไปส่งโรงฆ่าสัตว์

บ่าย 2 โมง กลับมาถึงบ้านมีเวลาอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้านิดหน่อย พอ 4 โมง ต้องรับเข่งรับผักนำไปซื้อของที่ตลาดท่าเตียน และปากคลองตลาด ลงของเสร็จเรียบร้อยก็ขับไปที่สะพานใหม่ เถ้าแก่อิวคิมที่เป็นเจ้าของตลาดยิ่งเจริญมีโรงงานฆ่าหมู ก็ต้องรับหมูไปส่งเขียงหมูต่าง ๆ ส่งเสร็จก็กลับมารับพันธุ์ปลาที่เดิม วนเวียนอยู่แบบนี้ 3 - 4 ปี ถึงจะเริ่มใช้หนี้หมด

ขยับขยายจากขับรถรับจ้าง เปลี่ยนมาเป็น “พ่อค้าพันธุ์ปลา”

ขับรถอยู่ระยะหนึ่ง อาจารย์ที่ม.เกษตรแนะนำให้ขายพันธุ์ปลา ทางมหาวิทยาลัยเขาอยากจะทำปลาแบบผสมเทียม รีดปลาลงมาใส่กระชัง เอาเชื้อมาผสมเป็นเทียม แล้วก็คัดปลาขาย เขาเลยตั้งชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรพันธุ์ ผมก็เริ่มเป็นเฒ่าแก่ สุรินทร์ มุทุตานนท์ เขาทำรายการวิทยุของเกษตร เขาโฆษณาให้ว่า นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรพันธุ์ ได้มีพันธุ์ปลาจำหน่าย กระจายข่าวออกไปของเกษตรด้วย พันธุ์ปลาก็เกิดขายดี เราจึงมีฐานะค่อย ๆ ดีขึ้น

“พ่อค้าพันธุ์ปลา”สู่ "มหาเศรษฐีเจ้าของหมู่บ้านจัดสรร"

เพาะพันธุ์ปลาอยู่ระยะหนึ่ง คุณบุญชู เธียรสวน ซึ่งอยู่ตลาดเดียวกัน เขาเป็นเศรษฐีที่ดิน เขาบอกว่า ไชยวัฒน์อย่าเลยดีกว่า…ค้าพันธุ์ปลาไม่รวยหรอก เพาะพันธุ์ปลาเราได้เท่าที่ฝีมือเราทำออกมา บางทีเหลือก็ไม่มีใครซื้อ โตมันเองบ้าง กินกันเองบ้าง ตายเหลือน้อยขายทุนก็มี ทำเป็นอาชีพแล้วก็ควรจะทำเป็นเรื่องจริงจัง ทำอาชีพที่ไม่ตาย

เราเลยถามเขาว่า ทำยังไงดี เขาเลยบอกว่า ลองมาจัดสรรที่ดิสิ เพราะว่าที่ดินไม่ตาย มีวันเติบโตตลอด ผมก็เลยไปวางแผนกับเพื่อนว่า จะซื้อที่ดินจัดสรรยังไง สมัยนั้นอาจารย์สุนทร เปรมฤทัย เขายังจัดสรรแบบกระดาษอยู่  เอากระดาษมาขีดแบ่งที่เป็นล็อค ๆ และขายให้ผ่อนระยะยาว คุณบุญชูแนะนำให้รู้จักและคุยกันว่า เขาขายจัดสรรที่ดินอย่างเดียว เรามาปลูกบ้านขายกันดีกว่า

ตอนปลูกบ้านขายผมไม่รู้เลยว่า ไม้หน้าสาม ไม้หน้าหก เป็นอย่างไร เหล็กกี่นิ้ว ตะปูกี่หุน เราก็ไม่รู้ ปรากฎว่าบ้านขายดีมาก เลยตั้งชื่อให้เกียรติแก่ประธานเราที่เขาแนะนำ “หมู่บ้านเธียรสวน 1” คาดไม่ถึงเลยว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว จากเธียรสวน 1 เธียรสวน 2 อมรพันธุ์ 3 สลับกันไปเรื่อย ๆ ระหว่างอมรพันธุ์กับเธียรสวน ต่อมาผมเลยเอาอมรพันธุ์หมด พอบ้านขายดีการเสียภาษีเราต้องทำให้ถูกต้อง ค่อนข้างที่จะยุ่งยาก ผมเลยบอกว่า งั้นเราตั้งเป็นบริษัทดีกว่า ตั้งเป็น ช.อมรพันธุ์ จำกัด โดยมีบุญชู เธียรสวน เป็นประธาน ตั้งเป็น 3 ช. เธียรสวน ไชยวัฒน์ ชาตรี คุณชาตรีเป็นนายทุนที่เขาให้กู้เงินมาปลูกบ้าน พอตั้งเป็นบริษัท หมู่บ้านก็ขายดิบขายดี ความเป็นเศรษฐีก็มาถึง

ความเป็นเศรษฐีก็มาถึง ก็หันมาเริ่มต้นลงทุนกับ "สวนสนุก"

ตอนนั้นเราก็ยิ่งใหญ่ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผมก็คิดขึ้นมาว่า ชีวิตเราเกิดมาให้บริการตลอด นายผม คือ คุณชาตรี โสภณพาณิช เลยบอกว่า งั้นเรามาสร้างสวนสนุกกันดีกว่า ผมชอบงานบริการอยู่แล้ว ขับรถก็บริการรับใช้เขา ปลูกบ้านขายก็รับใช้เขา งั้นมาทำสวนสนุกบ้างดีกว่า ปรึกษาหารือกัน ตกลงจะไปสหรัฐอเมริกา เราเลยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและต้องมีล่าม ไปทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขึ้นเครื่องบินยังกลัว เพราะเรามีความรู้แค่ ป.4 ถ้าเราอยู่การเมืองเราก็เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ เป็นได้แค่ที่ปรึกษา เพราะความรู้เราไม่ถึง แต่ความเสียสละ ความกล้าหาญ การตัดสินใจ การคิดการไกลเนี่ยพอไหว

ได้ไปศึกษาสวนสนุกจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา พอมาเมืองไทยรายงานให้คุณชาตรีทราบว่า ทางดิสนีย์แลนด์เขามีลิขสิทธิ์ เราเอาเข้ามาเราเสียค่าลิขสิทธิ์เยอะ เขาบอกว่ามันไม่คุ้ม ลงทุนไม่ได้หรอก สมัยก่อนมีนบุรีมีทางมาทางเดียว ถาม 3 - 4 คำ เขาก็ไม่เอาแล้ว รถเข้ามาได้วันละกี่คัน มีรถไฟฟ้ามั้ย มีรถเมล์วิ่งมั้ย ที่จอดรถมีกี่คัน แค่นี้ก็บอก No! คุณไม่ต้องสร้างหรอก รายได้ของคนไทยค่าแรงขั้นต่ำช่วงนั้น 60 บาท เขาบอกว่า สร้างไม่ได้หรอก ไม่ต้องสร้าง

พอบอกไม่ต้องสร้าง ผมจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะสิ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไป ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เจ้าของหมู่บ้านจัดสรรรายใหญ่ จะสร้างดิสนีย์แลนด์เมืองไทยในพื้นที่มีนบุรี นายบอกสร้างไม่ได้ เพราะเขาวิเคราะห์มาแล้วว่า คนไทยยังเที่ยวสวนสนุกไม่เป็น ที่ไม่เป็นเพราะว่าคุณเสียเงินสร้างสวนสนุก เขาเล่นไม้กระดกที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่ไหนก็มี เล่นไล่จับ เล่นอี่ เลยเปลี่ยนใหม่ไปที่ญี่ปุ่น ไปดูเรื่องทะเล เพราะใครอยู่ชายทะเล รัฐบาลส่งเสริมให้เอาขึ้นมาบนบก ดูดน้ำทะเลมากรองให้สะอาดแล้วทำคลื่น เพราะคลื่นที่ญี่ปุ่นมันแรง เขาเลยทำทะเลจำลอง หมู่บ้านแถวชายทะเลจะมีเศรษฐกิจดี มีคนไปเที่ยวเยอะ รัฐบาลเขาก็ส่งเสริม

เรามาเล่าให้นายฟัง นายบอกไม่เอาละ อาชีพไหนที่คุณเคยทำแล้วรวย คุณไปทำอาชีพนั้นเถอะ อาชีพนี้ไม่เหมาะแล้วล่ะ เพราะสำรวจมาแล้วว่า คนไทยค่าแรงวันละ 60 บาท ไม่สามารถไปเที่ยวสวนสยามได้ ถ้าคุณทำราคาสูงเขาก็ไม่เข้า ราคาต่ำค่าบำรุงก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นเลิกดีกว่า ผมเลยตัดสินใจจะทำคนเดียว เมื่อเราอวดเก่งโดยที่ไม่มีความรู้ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปรับปากกับนายว่า จะสร้างคนเดียว เราจำเป็นต้องมาสร้างคนเดียวตามคำพูด เพราะเราให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า จะสร้างสวนสนุก ลงทุนคนละ 1 - 2 พันล้าน เสร็จแล้วไม่สร้าง ผมบอกว่า "ชีวิตนี้ผมก็อยู่ไม่ได้แล้ว ผมเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง พูดอะไรแล้วทำไม่สำเร็จ ผมเลิกดีกว่า"

ที่มาของชื่อ “สวนสยาม”

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ตอนนั้นไม่มีความรู้มากมายนัก แต่เราได้ไปต่างประเทศ ถ้าบอกว่า มาจากประเทศไทย ฝรั่งไม่รู้จัก แต่ถ้าเราบอกว่า มาจากสยาม ฝรั่งร้องอ๋อทันที ผมเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรตั้งชื่อให้ต่างชาติรู้เรื่องด้วย เลยใช้ชื่อว่า “สวนสยาม” แต่พอผมตั้งชื่อ ก็มีอาจารย์ที่เป็นพรรคพวกในวงการนักแสดง บอกกับประชาสัมพันธ์ของผมว่า ให้มาบอกผมหน่อย คำว่าสยามอย่าไปตั้งเลย เจ๊งมาเยอะแล้ว เพราะคำมันสูงไม่ควรนำมาตั้ง สยามทำให้ประเทศไทยเป็นเอกราชมาตลอด แต่เราเป็นปวงชนชาวไทย คำว่าสยามผมว่าเป็นมงคล แต่ที่บอกว่าเจ๊งผมว่าการจัดการบริหารเขาไม่ดี ผมไปต่างประเทศ พอบอกว่า มาจากสยาม ผมภูมิใจมาก

"ลงทุนกับสวนสยาม" จนต้องขายบริษัททั้งหมด

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ผลสุดท้าย... ผมต้องขายบริษัทในเครือทั้งหมด บริษัทจัดสรรที่ดิน ช.อมรพันธุ์ บริษัทอมรพันธุ์ แต่ไม่ได้ขายทีเดียว ทยอยขายเอามาลงทุน อุดหนี้ไม่ทัน เราเก็บค่าเข้าครั้งแรก 60 บาท ค่าบำรุง ค่าคลอรีน ค่าใช้จ่ายไม่พอ บางคนมาเกาะรั้วดูอย่างเดียว เราก็เกิดสงสาร ไม่เข้าเพราะไม่มีเงินซื้อบัตร เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เปิดให้เข้าฟรีบ้าง แจกบัตรฟรีบ้าง เห็นมากลุ่มใหญ่ ๆ ไม่มีเงินเดือนตาละห้อยกลับไป เราก็ให้เข้ามาเที่ยวเลย นายผมถามว่า จะทำธุรกิจหรือการกุศล จะเอากล่องหรือจะเอาเงิน ถ้าเอากล่องก็อยู่ไปแบบนี้ แต่ถ้าเอาเงินก็ปิดแล้วจัดสรรซะ ผมบอกผมทำไม่ได้ ผมเดินมาไกลแล้ว บ้านจัดสรรมีกำไรเยอะ น่าจะลงทุนไปทางนั้นดีกว่านะ ไม่ควรมาลงทุนในสิ่งที่ไม่ได้กำไร ผมบอกไม่ได้หรอกครับ ผมต้องเอาชนะให้ได้ จากนั้นมาเรากับคุณชาตรีก็แยกทางเดินกัน

"ขาดทุนหนัก" แต่ไม่เคยยอมแพ้

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ผมคิดว่าผมยอมตายทีนี้แล้ว พูดจริง ๆ ผมเป็นคนหัวดื้อ ถ้าอะไรที่ทำไม่สำเร็จ เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร ของเราทำกับมือเอง คิดกับมือเอง ยังทำไม่สำเร็จเลย เราไม่รู้จะหนีไปทำไม หนี้สินหนีไปมันก็ไม่ได้หมดไป มันก็ติดไปอยู่อย่างนั้น หนี้มันไม่พ้นตัว เหมือนทำบาปมันก็ติดตัวจนวันตาย

ภรรยาร้องไห้ทุกวัน บ้านก็ถูกยึด

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ภรรยาผมเขาร้องไห้ทุกวัน ขนาดบ้านผมภรรยาเป็นเศรษฐี เขายังผ่อนคอนโดเตรียมเอาไว้ว่า พอลูกเรียนจบมา ถ้าบ้านโดนยึดไปหมด ก็ไม่เป็นไร เขาก็ไปอยู่คอนโดกัน เขาก็ปลงกับผม ไม่รู้จะทะเลาะกันเพื่ออะไร ทะเลาะกันผมก็ไม่ได้สนใจ ผมก็มาทำของผมทุกวัน ผมมีปรัชญาอันหนึ่งเพื่อฝากไว้ถึงคนสู้จะทำ “อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำงานด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความซื่อสัตย์ เคารพหลักเกณฑ์ ตรงไปตรงมา ทุกอย่างชนะหมด” เปรียบเทียบได้ว่า เหล็กแข็งแค่ไหน ถ้าเอามาลนไฟก็สามารถตีเป็นมีดได้ เพราะฉะนั้นต้องใจเย็น ๆ การทำธุรกิจแล้วไม่ล้มละลายเนี่ยไม่มี แต่ต้องซื่อสัตย์อย่างเดียว

ขนาดผมเมื่อก่อนเช็คเด้งทุกวัน ใคร ๆ ก็บอก โอ้ย! สวนสยามเนี่ย เช็คชั่วไม่ใช่เช็คชัวร์ ผมบอกว่า เวลาจนมันก็แบบนี้แหละ เมื่อก่อนที่ผมจ่ายไปเนี่ยไม่มี ตอนที่ร่ำรวยคนก็เอาของมาให้เราเป็นเดือน เรียกมาเก็บเงินยังไม่ยอมมาเก็บเลย แต่พอเวลาที่จน โทรสั่งของ ของยังไม่ทันมาส่ง เขาก็บอกเอาเงินมาก่อนของถึงไป เครดิตสำคัญมากในตัวมนุษย์ ถ้าเรามีเครดิตเหมือนเรามีเงินหลายหมื่นล้าน แต่ถ้าเราไม่มีเครดิตเลย มีเงินหลายหมื่นล้านก็เหมือนคนจน พูดอะไรไปก็ไม่มีใครเชื่อ จะซื้ออะไรเขาก็มองหน้าแล้ว เครดิตอยู่ที่เราปฏิบัติตัว มันไม่ต้องสร้าง และไม่มีใครให้ได้

ต่อสู้กับหนี้สวนสยามอยู่ 15 ปี จนข้ามผ่านมาได้

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : สวนสยามขาดทุนมาตลอด ทรัพย์สินเรามีเยอะ เราก็ขายมาจ่ายทั้งต้นทั้งดอก อุดหนี้ไป 10 ปีกว่า ไม่มีเงินให้จ่ายแล้ว ที่เหลือน้อยเต็มที ที่จะขายก็ขายไม่ได้ เลยเอาบ้านทรงไทยที่สามแยกเกษตรไปจำนำ เอาที่ดินส่วนตัวของภรรยามาจำนำ ภรรยาร้องไห้แล้วบอกว่า ไปทุ่มแบบนี้มันจะได้อะไร เราก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เพราะเมื่อคนเราจะสู้แล้ว ต้องสู้ให้หมด ถ้าเกิดมันเจ๊งอีกก็ไปบวชซะ เพราะไม่รู้จะอยู่ทำไมแล้ว ถ้าเราสู้จนถึงขนาดหมดเนื้อหมดตัว มันก็อยู่ไม่ได้แล้ว ผมเอาที่ไปจำนำจนไม่มีเหลือ อยู่ได้ 5 ปี มันก็เกิดหมดแล้วไม่ฟื้นอีก คนก็สมน้ำหน้า คิดอะไรแปลก ๆ ไม่ดูตัวเอง คนที่ทำสวนสนุกส่วนมากต้องเป็นเศรษฐี มูลนิธิ หรือคนที่เหลือกินเหลือใช้เต็มที เพราะมันไม่ใช่อาชีพธุรกิจ แต่เป็นอาชีพให้บริการ

ผมก็บอกว่า ชาตินี้เราได้สร้างแล้ว มันจะมีอะไรเกิดก็ให้มันเกิดช่วงนั้นเลยไม่มีเงินชำระหนี้ธนาคาร 5 ปีต่อมา เราโดนฟ้องล้มละลาย โดนฟ้องให้ชำระหนี้ มันไม่มีอะไรจะใช้หนี้แล้ว ไม่มีอะไรให้ขายแล้ว เหลือแต่ตัว มีคนบอกว่า งั้นหนีไปอเมริกาสิ หนีไปอยู่ที่อื่น อยู่ทำไมประเทศไทย เมื่อทำดีไม่ได้ดี เราก็หนีซะ ผมก็บอกว่า เกิดเป็นคน เราต้องสู้ให้ถึงที่สุดก่อน ถ้าเราไม่สู้ให้ถึงทีสุด เขาเรียกว่ายังไม่รู้แพ้รู้ชนะ

สุดท้ายที่ดินพื้นนั้นผมก็ขายได้ ขายแลนด์แอนด์ เฮ้าส์ที่ลาดพร้าว ชำระหนี้ธนาคารจนหมด เราก็มาเริ่มตั้งตัวกันใหม่ จากนั้นด้วยความอยู่ทน ด้วยคนสงสาร คนก็มาช่วยกันอุดหนุน ก็มีกำไรเกิดขึ้น ทรัพย์สินที่ผมขายไปรวมแล้วเป็นหมื่นล้าน เราถือว่าชีวิตเราเกิดมาไม่มีอะไร ทรัพย์สินก็มาจากรายได้ส่วนหนึ่งที่นายเขาช่วยเหลือ อีกส่วนหนึ่งก็จากประชาชนช่วยเหลือมา เราขายบ้านได้กำไรก็เท่ากับคืนสังคมไปก็แล้วกัน คิดแล้วสบายใจดี พอมาถึงตรงนี้ เมื่อมีกำไรเราก็ซื้อเครื่องเล่น กู้ธนาคารใหม่และกู้ไทยธนาคารมา ซื้อเครื่องเล่นมาลงทุนไปอีก 3,000 กว่าล้าน 5 ปี เราก็ผ่อนเขาหมด ทั้งหมด 7 ปี ถึงผ่อนธนาคารหมด

ขอแค่คนระลึกถึงไว้ว่า "สวนสยาม" สวนสนุกแห่งนี้ เด็ก ป.4 ชื่อนายโอ๊ย แซ่อึ้ง สร้างไว้ แค่นั้นพอ...

คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ : ถ้าถามว่าอยากฝากอะไรถึงคนรุ่นหลัง ผมขอแค่ว่าให้คนระลึกถึงว่าสวนสนุกแห่งนี้ เด็กป.4 ชื่อนายโอ๊ย แซ่อึ้ง สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้ แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว สิ่งที่มนุษย์เราเกิดมาทุกวันนี้ มันอยู่ได้เพราะสมอง แต่สมองตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว ต้องเปลี่ยนไปใช้ไอทีด้วย แต่ถ้าใช้ไอทีอย่างเดียวไม่มีสมอง ไอทีก็เป็นของตาย มันทำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าคุณเอากล้องมาถ่าย ไม่มีใครเซ็ต ไม่มีใครจับวาง ถ่ายไปก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นเหมือนของคู่กัน ความขยันยังต้องอยู่ แต่ขยันให้น้อยลงใช้ไอทีช่วยมากขึ้น ความรู้หาเพิ่มขึ้น เปิดโลกให้กว้าง วิสัยทัศน์ยาว แค่นี้ก็ไม่ต้องห่วงแล้วโลกนี้

บทสัมภาษณ์เวอร์ชั่นเต็มรูปแบบ VDO

https://youtube.com/watch?v=WafgeceQyR8%3Fwmode%3Dopaque

และนี่เป็นเรื่องราวของ "คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" เจ้าของ "สวนสยาม" สวนสนุกชื่อดังที่ผ่านอุปสรรคมากมาย กว่าจะมาเป็นสวนสยามในวันนี้ จากกระเป๋ารถเมลล์ที่เคยไปขอยืมเงิน 5,000 เพื่อดาวน์รถ มาเป็นคนขับรถรับจ้าง สู้ชีวิตจนพลิกสู่มหาเศรษฐีที่มีเงินเป็นพันล้าน

ทีมงาน aomMONEY หวังว่าเรื่องราวของ "คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" จะสร้างแรงบันดาลใจให้เราทุกคน ไม่มากก็น้อยนะครับ

บ.ก. aomMONEY

รฐาพัชร์ ตุลยพิทักษ์

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/