สวัสดีครับ ครั้งนี้เป็นรอบที่สองแล้วที่เขียนบทความบน Next Empire ต่อจากคราวที่แล้วที่เขียนเรื่องหนักๆพอควร เกี่ยวกับ StartUps กับ Corporate คราวนี้น่าจะหนักกว่าเดิม ซึ่งต้องเน้นว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ ถ้าจะผิดหรือขัดใจใครไปบ้าง อาจจะต้องน้อมรับและขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ซึ่งอย่างที่บอกมันมาจากความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสมาจริงๆ ล้วนๆ ก็นำมาบอกเล่า ถ่ายทอด ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ สตาร์ทอัพ ได้รับฟังกัน
รอบนี้จะขอเล่าเรื่องการทำงานของสตาร์ทอัพกับภาครัฐกันบ้าง
ผมมักจะแชร์ความเห็นของผมบนเวทีต่างๆ ในเรื่องที่ว่า ทำไมต้องสตาร์ทอัพ? ที่ภาครัฐจะต้องมาอิรุงตุงนังกันอยู่ในหลายๆปีมานี้ มันคือ New OTOP ที่เป็น Mega Project Campaign ตัวใหม่ของภาครัฐอย่างงั้นหรือ?!!!
ทำไมต้องสตาร์ทอัพ?
ทุกวันนี้ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับ Service มากมายที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพหรือ อดีตสตาร์ทอัพตั้งแต่ลุกจากที่นอนมาอัพ Status , เปิดดูข้อความที่เพื่อนส่งมาทาง Messenger Service ต่างๆ, ฟังเพลง, เรียกรถมารับไปทำงาน, จองร้านอาหาร, จองโรงแรม ซื้อตั๋วเครื่องบิน เพื่อไปเที่ยว และอื่นๆอีกมากมาย
มันคงไม่มีอะไร ถ้า Service เหล่านั้นเข้ามาเติมเต็มชีวิตของเราเฉยๆ โดยไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรกับใคร
แต่เปล่าเลย ธุรกิจหลายๆอย่างถูกบริการเหล่านี้ Disrupt และกลืนหายไปอย่างแบบเราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ และอีกหลายๆธุรกิจที่กำลังจะจมดิ่ง เพราะสึนามิทางเทคโนโลยี ที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันจะคิดการตั้งรับด้วยซ้ำไป
แต่ที่น่ากลัว ส่วนใหญ่มันเป็น StartUps (หรืออดีต) จากต่างประเทศนี่สิ!!!
Digital TV ที่เคยประมูลกันหลักหลายพันล้านบาท กลิ้งไม่เป็นท่าด้วยรายได้ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงไม่กี่ช่องที่พอไปต่อไป หัวหนังสือที่เคยโด่งดังและเป็นสื่ออันดับต้นๆที่เข้าถึงคนแต่ละกลุ่มอย่างได้ผล หายไปจากแผงทีละเล่ม ทีละเล่ม จนเดี๋ยวนี้แผงก็หายไปด้วยแล้ว
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นผลกระทบได้ชัดเจน จากตลาดโฆษณาแบบเก่าที่ล่มสลาย เพราะการเข้ามาของสื่อใหม่ที่ได้ผลกว่า ถูกกว่า...อย่างพวก Social Network ทั้งหลาย ดึงเอางบมหาศาลของตลาดนี้ไปลงบนสื่อใหม่บนโลกออนไลน์ ซึ่งแซงหน้างบออฟไลน์ไปแล้วเรียบร้อย โดยเงินค่าโฆษณาวิ่งผ่านไปทางโครงข่ายไปยังเกาะสักที่ในโลกใบนี้ ที่สรรพากรบ้านเราไม่สามารถไปตามเคาะประตูเรียกหาภาษีได้ด้วยซ้ำ
นักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี ค่ายเพลง ที่ย้อนกลับไป 10-20 ปีก่อน เคยได้รายได้มหาศาลจากการขาย เทป ซีดี ดีวีดี ปัจจุบันรายได้หลักมาจากการเล่น Concert และรายได้เสริมมาจากส่วนแบ่งการเปิดเพลงฟัง ของแอพต่างๆ ยิ่งค่ายเพลงที่เคยเป็นขาใหญ่ในวงการ ขยายธุรกิจไปยังสาขาอื่นๆที่สามารถใช้ ศิลปิน ในค่ายเป็น Magnet ได้ ยิ่งเจ็บหนัก รายได้ลดลงมหาศาล และหลุดจากสถานะขาใหญ่ไปในที่สุด เมื่อบทเพลงแทบจะไร้ราคา ศิลปินไม่ต้องพึ่งค่าย อย่างทุกวันนี้
เหล่านี้คือตัวอย่างแค่ไม่กี่อัน ที่เห็นได้ชัดๆ ยังมีอีกหลายๆธุรกิจ ที่ปรับตัวไม่ทัน ล้มหายตายจาก หรือไม่ก็กลายเป็นลูกเบี้ย ของพี่เบิ้มคนใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า Tech StartUps นั่นเอง
แล้ว 'ภาครัฐ' มาเกี่ยวยังไง
ตรงนี้แหล่ะสำคัญ ไม่ใช่แค่ไทย หรอกที่โดนยึดและทำลาย ธุรกิจที่ทำกันหลายสิบปี อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มันโดนกันถ้วนหน้า ทั้งยักษ์ใหญ่อดีตสตาร์ทอัพจาก ซิลิคัล วาเลย์ , ยูนิคอร์นจากหลายๆ StartUps Nation และ พี่บิ้กเบิ้มส่งตรงมาจากหลังกำแพงเมืองจีน
แนวคิดการยึดและทำลาย คือหัวใจของการทำธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งทั้งโลกรู้ เมืองไทยก็รู้ ผมมักจะเอาการเปรียบเทียบถึงเรือรบ ที่ครั้งหนึ่ง ถูกใช้เป็นเรือล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ร่องไปปิดล้อม ยึดครอง จับเชลยยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก เราเคยเสียพื้นทีี่หลายๆส่วนของประเทศ จากการโดนฝรั่งเศษปิดอ่าวไทย อย่างที่พวกเราที่เรียนประวัติศาสตร์ได้รับรู้กันมา
StartUp ก็คือเรือรบล่าอาณานิคมชนิดใหม่ ในยุคไซเบอร์นั่นเอง!
เพียงแต่ไม่ได้ยึดแผ่นดิน แต่สิ่งที่ยึดไปคือคนในประเทศนั้น ที่กระโดดเข้าใส่แพลตฟอร์มจนถอนตัวไม่ขึ้น จนบริการอื่นๆที่ไม่สามารถตอบโจทย์จริงๆ ไม่สามารถรั้งผู้ใช้ได้จริงๆ สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด ขาดทุน และปิดตัวลงในที่สุด
ที่เกริ่นมายืดยาวทั้งหมดข้างต้นน่ะ คืออยากจะให้เห็นภาพว่า มันไม่ใช่แค่ OTOP ตัวใหม่เพื่อกระตุ้นการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศเท่านั้น แต่มันอันตรายกว่านั้นเยอะ เราอาจจะตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจได้เลย เงินในหลายๆอุตสาหกรรมจะไหลออกนอกประเทศอย่างไม่รู้หนทางควบคุม นี่แหล่ะ ทำไมภาครัฐเลยต้องเป็นภาคบังคับ ที่จะต้องเข้ามาดูแล สนับสนุน ส่งเสริม ให้มีเรือรบในประเทศ คอยป้องกันอาณาจักร และหวังว่าจะมีสักฝูงนึง ที่สามารถออกไปยังสมรภูมิอื่นๆ เพื่อล่าอาณานิคม ปักธงชาติไทยในต่างแดนได้บ้าง
ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ ภาครัฐ รับรู้และเข้าใจมันแค่ไหน แน่นอนระดับกลยุทธ์สัมผัสอะไรได้บางอย่างมาสักพัก การขยับเขยื้อนเลยเกิดขึ้น เอาจริงๆก็ขยับกันมาหลายปี แต่การทำให้ระดับล่างลงมา ตระหนัก เข้าใจ และแอคชั่นอะไรบางอย่าง มันยากและซับซ้อนกว่านั้นมาก
อย่าลืมว่าภาครัฐเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งใหญ่มากๆ ใหญ่กว่า Corporate ที่ใหญ่สุดของไทย สักหมื่นเท่าได้ล่ะมั้ง คิดดูว่าการจะเปลี่ยน Corporate ยังยากมากๆ แล้ว Corporate ระดับมหายักษ์แบบนั้นมันไม่ โคตรของโคตรยาก เลยเหรอ
ภาครัฐ x สตาร์ทอัพ กับภารกิจใหม่
ในปีแรกๆ เลยออกมาในภาพที่เหมือนตัวรัฐเองในหลายๆภาคส่วน พยายามทำความเข้าใจว่าสตาร์ทอัพ เนี่ยมันคืออะไรกันแน่ เถียงกันอยู่นานว่ามันต่างกับ SME ยังไง เคยหลงว่าเป็น SME เพิ่งจดทะเบียนไม่นาน มาพักใหญ่ๆ วิธีการสื่อสารออกไปเลยใช้แรงเยอะ ต้นทุนมหาศาล ซึ่งก็ออกมาในรูปของการจัดงานใหญ่ๆ อลังๆ ลากส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม เอา show case ไปโรดโชว์ จนค่อยๆเข้าใจมันทีละนิด ทีละนิด แม้ในช่วงแรกๆ เอาจริงๆก็หลายปีอยู่ จะออกแนวต่างคนต่างทำ ต่างกรมต่างวาระ แต่หลังๆเริ่มเห็นการจับมือ การ Synchonize ทิศทางและแบบแผนกันระหว่างหน่วยงาน ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มมีวาระต่างๆ ขึ้นมา รวมถึงการทำงานมากขึ้นกับฝั่งภาคเอกชน สมาคมต่างๆ เปิดรับ เปิดใจ และมีทุนสนับสนุนที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดบ้าง ไม่ตรงบ้าง ซึ่งมันคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน ดีกว่าไม่ขยับอะไรเลย เริ่มมีการดูแบบอย่าง แอบมองการทำงานของภาครัฐจากประเทศต่างๆ มีการสนับสนุนความร่วมมือ และอะไรต่ออะไรสารพัด ทั้งหมดทั้งมวลคือแรงสั่นสะเทือนที่บ่งบอกว่า ยักษ์ใหญ่ของเราเริ่มขยับตัวแล้ว
มาแล้ว...ยังดีกว่ามาช้า มาแล้ว...ยังดีกว่าไม่มา ซึ่งผมว่ามันยังทัน เพียงแต่ต้องเข็นนโยบายที่คม ชัด และปฎิบัติได้จริง ออกมาให้ได้โดยไว และผลักเรื่องข้อจำกัดเอาไว้ข้างๆไปก่อน เรียนรู้จากความผิดพลาด ปรับและแก้ไข อย่างสุขุม
แล้วบ้านเราต้องการ Unicorn?! จริงหรือ
ผมว่า 'ใช่' ปัญหาปัจจุบันของ EcoSystem เราคือ Early Stage StartUps ระดมทุนกันยาก Angel ที่เข้าใจสตาร์ทอัพยังน้อย ซึ่งต้องปรับกันต่อไป Venture Capital ระดับนี้มีน้อยรายและไม่ค่อยจะ Venture กันนัก เพราะ performance ของกองทุนสำคัญต่อการ Raise กองต่อๆไปไม่น้อย การระดมทุนของสตาร์ทอัพแบบ Early Stage มันเลยยาก ส่วนใหญ่จะระดมทุนได้ก็ต่อเมื่อ ค่อนข้างชัวร์ว่ามีตลาด มีลูกค้า และ Scale ได้ ซึ่งหลายๆ StartUps ก็กัดฟัน Bootstrapping หรือหารายได้เพื่ออยู่รอดกันจนเลย Size ที่ VC ในระดับ Seed จะลงได้ไปเลย
ปัญหาที่แท้จริงมันก็คือ เราโตได้ไม่เร็ว หรืออยู่ได้ไม่นานพอ เดี้ยงซะก่อน
ยิ่งเรื่องจะหวังตีตลาดต่างประเทศเลยตั้งแต่ปีแรกๆ เลยไม่มีทาง เอาที่ไทย หรือแค่ กรุงเทพฯ ยังยาก เพราะไม่มีใครจะมา Venture ไปด้วยกัน
พอโตได้ไม่เร็ว โตได้ไม่ใหญ่ ความ ยูนิคอร์น เลยห่างไกล พอมันไม่มียูนิคอร์น ไม่มีสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่า Return ให้นักลงทุนได้หลายๆๆๆเท่า ในไทย แล้ว VC ที่ไหนจะสนใจ เค้าเลยหนีไป อินโดนีเซีย ที่คนมีให้ยึดมากกว่าบ้านเราตั้ง 3 เท่า ไปสิงคโปร์ที่ สตาร์ทอัพที่นั่นตั้งเป้าออกหลายๆประเทศตั้งแต่วันแรกกันเลย (ก็ใช่สิ อยู่แต่ในเกาะนี่ฆ่าตัวตายชัดๆ และไทยคือก้อนเนื้ออันโอชะอันดับต้นๆในเป้าหมายของเค้าซะด้วยสิ) นั่นแหล่ะ คือคำตอบว่าทำไม เราต้องมี ยูนิคอร์น อย่างน้อยสักตัวในไทย ในเร็ววัน เพื่อพยุงทั้ง Ecosystem ขึ้นมาทั้งยวงได้เลยล่ะ
ทีนี้แล้วเราจะทำกันยังไงล่ะ? สิ่งหนึ่งที่ผมว่า ภาครัฐเข้ามาได้ตรงจุดมากๆ คือตรงนี้ มี Government Grant ต่างๆ เพื่อสนับสนุนกันตั้งแต่การทำโปรดักส์ การออกตลาด การขยายตลาด เป็นต้นทุนหล่อเลี้ยงให้ตลอดทาง จนสามารถส่งต่อให้กับ VC ในไม้ถัดๆไปได้ ถ้าตัว StartUp เองสามารถไปถึงได้
อีกทั้งยังมีโครงการ หน่วยงาน และพี่เลี้ยง คอยรับฟัง ช่วยเหลือและสนับสนุนในแง่ต่างๆ ออกมาจากหลากหลายหน่วยงานหลายกระทรวง เหล่านี้ทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่าถูกทิ้งให้เดินเดียวดาย เป็นเรือโจรสลัดกลางมหาสมุทร โคลงเคลง รอวันจมอีกต่อไป
ติดเรื่องเดียว ยักษ์ใหญ่ยังไม่ได้เข้าใจครบทุกตน กฎหมายภาครัฐที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพ, การจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐเองยังไม่เอื้อ(ทั้งที่จะสนับสนุนการเติบโตได้มากที่สุด และทำให้รัฐมีบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว) ซึ่งน่าดีใจที่ทั้งสองเรื่องนี้กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไข
แต่ยังมียักษ์ใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจบางส่วน ยังเข้าใจสับสนเรื่องการเข้าสู่ยุค 4.0 คือการสร้างแอพลิเคชั่นของหน่วยงานตัวเอง โดยการ copy เอาไอเดียของสตาร์ทอัพจัดตั้งงบประมาณ ไปเข้าสู่กระบวนการเก่าๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างแบบเก่าๆ มีรอยโหว่ของกระบวนการแบบเก่าๆ และวนเวียนอยู่ในสังสารของการ สร้าง ทุบทิ้ง ของบเพื่อสร้างใหม่ แบบเก่าๆ แต่สามารถเอามาประกาศตัวเองได้ว่า หน่วยงานของเราเข้าสู่ยุค 4.0 เรียบร้อยแล้ว เราสร้างสตาร์ทอัพของตัวเองได้แล้ว
เย้ ไชโย!!!! .... ที่นี่ประเทศไทย ....