สวัสดีครับ ผมหมอนัทคลินิกกองทุนคนเดิมเองครับ ก่อนที่จะเริ่มบทความที่จะให้นักลงทุนและแฟนเพจได้อ่านกัน ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ถือหน่วยลงทุน ‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF)’ นะครับ เนื่องจากตอนนี้ทางกองทุน DIF นี้ได้เตรียมเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 (อีกแล้วววว) เพื่อเพิ่มศักยภาพ รับเทรนด์การขยายตัวของธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นนั่นเองครับ

เปิดตัวมาก็เปิดเผยชื่อของกองทุนกันเลยทีเดียวครับ จริงๆ แล้ว บทความนี้เสมือนเป็นบทความแจ้งข่าวดีมากกว่าเป็นบทความอธิบายเรื่องการลงทุนครับ 5555+ เนื่องจากกองทุน DIF นี้ ผมได้เขียนถึงค่อนข้างจะบ่อย (ทุกครั้งที่มีการเพิ่มทุน)

ดังนั้น หากใครที่ยังไม่เคยรู้จัก หรืออยากทราบว่าครั้งที่แล้วที่มีการเพิ่มทุนนั้น ทางกองทุน DIF ได้อะไรเพิ่มเติมมา หรือว่าหลังจากเพิ่มทุนแล้ว ได้ประโยชน์อะไรกับนักลงทุนบ้าง สามารถตามเข้าไปอ่านได้ในบทความก่อนหน้านี้ครับ (ภาคที่แล้ว) (ลิงก์: http://bit.ly/2ZzJh9Y)

ซึ่งปัจจุบันกองทุน DIF เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา เจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาวและสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.7 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562 กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 150,289.60 ล้านบาทครับ

ใครที่ถือกองทุนนี้อยู่ ผมถือว่าค่อนข้างจะโชคดีทีเดียวครับ เพราะว่าผลตอบแทนที่ผ่านมาก็ค่อนข้างจะสม่ำเสมอมากๆ ซึ่งมีการจ่ายปันผลทุกปีต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 4 ครั้ง รวมทั้งหมด 21 ครั้งแล้วครับ คิดเป็นเงินปันผลที่จ่ายรวมประมาณ 5.0909 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญ เงินปันผลจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นยังได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลให้ด้วยเป็นระยะเวลา 10 ปี (สำหรับนักลงทุนรายย่อย) นับตั้งแต่ปีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

และแน่นอนว่าภายหลังการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF เองก็จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติมโดยการให้เช่าระยะยาวแก่ผู้เช่าหลักคือกลุ่มทรู ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ และยังคงมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้นจากการที่อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเองก็เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวโน้มการเติบโตของแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์และการใช้บริการอื่นๆ อีกมากมายครับ

คราวนี้เรามาดูกันว่าการเพิ่มทุนครั้งที่ 4 นี้ จะเกิดอะไรขึ้นครับ

กองทุน DIF จะมีลงทุนเพิ่มครั้งที่ 4 ในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของ ‘กลุ่มทรู’ มูลค่าไม่เกิน 15,800 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10,500 ล้านบาท และเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมครับ

การเพิ่มทุนครั้งนี้ ทรัพย์สินที่จะเข้ามาในกองทุน DIF มีดังนี้ครับ

1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมใช้ รวม 788 เสา และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมประเภท Passive อื่นที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสาและเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าจำนวนประมาณ 39 เสา โดยเสาดังกล่าวพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาไม่เกิน 1 ปี

2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (ประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) จาก TUC

3. กรรมสิทธิ์ใน FOC ซึ่งในปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ Fiber to the X (FTTx) ในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (หรือประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 617 กิโลเมตร (หรือประมาณ 37,505 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ จาก บริษัท เรียล มูฟ จำกัด (RMV)

4. กรรมสิทธิ์ใน FOC ซึ่งในปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx ในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 2,797 กิโลเมตร (หรือ ประมาณ 109,704 คอร์กิโลเมตร) จากบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC)

จากตารางการเพิ่มทรัพย์สินเข้ามาตัวหนังสือสีแดงคือที่เพิ่มเติมเข้ามาครับ

โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในครั้งนี้ ส่วนใหญ่กองทุน DIF จะได้ผลประโยชน์ในการลงทุนโดยทันทีครับ ไม่ต้องรอนาน แต่ทั้งนี้ การเพิ่มทุนในครั้งก่อนก็มีทรัพย์สินที่รอเติบโตได้ในอนาคต จึงทำให้กองทุน DIF นี้มีโอกาสเติบโตได้อย่างมั่นคงครับ

ยิ่งในยุคที่มีการแข่งขันด้านการให้บริการใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลที่กำลังจะย่างเข้าสู่ 5G ในอนาคต การเพิ่มทุนครั้งนี้ก็เพื่อรับมือกับปริมาณความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีนั่นเอง ซึ่งให้ผลประโยชน์มากมาย ดังนี้ครับ

(1) สามารถเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เป็นโอกาสที่กองทุน DIF จะเติบโตแบบก้าวกระโดดจากการขยายการลงทุน (Inorganic Growth) ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของกองทุน ซึ่งเน้นแสวงหาโอกาสในการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนและจัดหาผลประโยชน์ให้แก่กองทุนครับ

(2) กิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของกองทุน DIF นั้นครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

การลงทุนเพิ่มเติมทำให้กองทุนมีทรัพย์สินที่ครบถ้วนและครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศมากขึ้น จากเสาโทรคมนาคมจำนวน 788 เสา และใยแก้วนำแสงหรือ FOC ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,524 กิโลเมตร (หรือประมาณ 295,726 คอร์กิโลเมตร) ซึ่งจะทำให้ศักยภาพโดยรวมของกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การมี FOC ที่รองรับเทคโนโลยี FTTx ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพิ่มเติมในครั้งที่ 2 และ 3 ที่ผ่านมา ก็ทำให้กองทุน DIF เกิดความได้เปรียบทางกลยุทธ์ ทั้งด้านการกระจายตัวของทรัพย์สิน และความสามารถของทรัพย์สินในการรองรับเทคโนโลยีใหม่

(3) โอกาสในการจัดหาผลประโยชน์ที่มั่นคง จากความหลากหลายของธุรกิจโทรคมนาคม

มีการรวมการให้บริการในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจบริการวงจรและโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ธุรกิจอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (Wifi) อีกทั้งคาดว่ากองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติม โดยการให้เช่าระยะยาวกับผู้เช่าหลักของกองทุน DIF คือกลุ่มทรู ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศไทย มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอครับ

ซึ่งผมคิดว่าด้วยผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอแบบนี้ หาได้ยากมากๆๆๆๆๆ ในยุคนี้ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ขึ้นลงจากการเมืองและสงครามการค้า รวมถึงแนวโน้มธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแพลตฟอร์มที่เกิดใหม่มากมายในยุคดิจิทัลนี้ครับ

แต่ว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น รายได้ที่เข้ามาในกองทุนจะเกิดจากการ “เช่า” หรือว่า “ใช้บริการ” ในอสังหาฯ หรือว่าทรัพย์สินนั้นๆ ซึ่งหากกองทุนบริหารจัดการได้อย่างดีและมีการเพิ่มทรัพย์สินที่มีคุณภาพเข้ามาในกองทุนอย่างต่อเนื่องนั่นก็หมายถึงความมั่นคงของผลตอบแทนในระยะยาวของเราไปด้วยครับ

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า กองทุน DIF นี้มีศักยภาพมากพอ และมีโอกาสที่จะเพิ่มทรัพย์สินเข้ามาอีกในอนาคตครับ และข้อดีมากๆ ของการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็คือ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้นั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็นเสาโทรคมนาคมหรือใยแก้วนำแสงสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า รถไฟฟ้า สนามบิน ท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถปรับค่าบริการขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อ จึงไม่เสียโอกาสด้านการเติบโตอีกด้วย จึงเป็นที่มาของรายได้ที่สม่ำเสมอครับ

หากเราไปดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ REITs จะพบว่า การเติบโตของกองทุนกลุ่มนี้ไม่ธรรมดาครับ อยู่ที่ประมาณ 12%-15% ต่อปีเลยทีเดียว (จากผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีของกองทุนแบบ Fund of Property Fund เช่น M-PROP, CIMB-iPROP) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นไทย (วัดจากผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี) เสียอีกครับ

ที่สำคัญมากคือ ความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข Drawdown หรือ SD ก็ต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นด้วยครับ ผมเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวกับกองทุนประเภทนี้จะสร้างพอร์ตการลงทุนที่ดีและความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไปครับ หากใครที่ยังไม่มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไว้ในมือ ผมแนะนำว่าควรที่จะศึกษากองทุน DIF นี้อย่างจริงจังครับ

แต่ทุกครั้งก่อนการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ REITs หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเอง เราก็ควรที่จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยเช่นกันครับ โดยอาจจะกระจายการลงทุนไปยังกองทุนหลายๆ กองที่มีความแตกต่างกัน เช่น ออฟฟิศ โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อให้รายได้ที่จะเกิดขึ้นมีความมั่นคงและสม่ำเสมอมากขึ้นอีกครับ

ส่วนวันนี้ผมขอลาไปก่อน แล้วพบกันในการเพิ่มทุนครั้งหน้าอีกนะครับ 555+  สวัสดีครับ

บทความนี้เป็น Advertorial