ผมเชื่อว่าการศึกษาไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในชีวิต

คนที่เรียนเก่งจบมหาวิทยาลัยก็อาจล้มเหลวในชีวิต ส่วนคนที่เรียนไม่เก่งจบชั้นประถมก็อาจสำเร็จได้ เพราะโลกแห่งการเรียนกับโลกแห่งการทำงานเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น คนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนกับการทำงานก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนๆ เดียวกัน

ผมมีเพื่อนสนิทสมัยเรียนคนหนึ่งเรียนหนังสือเก่งมาก สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่พอเข้าสู่โลกแห่งการทำงานกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เขามักเล่าให้ผมฟังถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา แม้ว่าผมจะพยายามช่วยคิดหาทางออก แต่เหมือนเขามีกรอบอะไรบางอย่างฉุดรั้งให้ไม่กล้าเปลี่ยนความคิดก้าวไปข้างหน้า ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าเราจะเรียนหนังสือกันไปทำไม และอะไรเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในชีวิต

การศึกษาถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้มีความรู้นำไปต่อยอดความคิด และเป็นใบเบิกทางเข้าสู่อาชีพการงานที่หวังไว้ ดังนั้น การศึกษาถือเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างความสำเร็จในชีวิต จึงไม่แปลกใจที่พ่อแม่พยายามส่งเสียให้ลูกได้เรียนจบสูงๆ ได้เรียนโรงเรียนดีๆ แต่ต้องไม่หลงลืมว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียนและยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญยิ่งกว่า ซึ่งผมเชื่อว่าการมีกรอบความคิด (Mind Set) ที่ถูกต้องส่งผลให้เกิดนิสัยแห่งความสำเร็จ โดยกรอบความคิดได้มาจากการเลียนแบบความคิดของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาปรับให้เข้ากับตนเอง เพราะวิธีคิดและมุมมองของคนสำเร็จกับคนล้มเหลวนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนสำเร็จมักมองเห็นโอกาส มองโลกในแง่ดี และมองไปในอนาคต เป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถพาไปสู่ความสำเร็จได้

การทำงานนอกจากได้เงินแล้วยังทำให้รู้จักตนเองมากขึ้นว่าเรามีความเก่งในด้านไหนจากสิ่งที่ได้ลงมือทำ ผมเชื่อว่าถ้าได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เราเก่งความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งการพัฒนาความเก่งมีอยู่ 2 แบบคือ แบบแรก การพัฒนาเรื่องที่เก่งอยู่แล้วให้รู้ลึกขึ้นไปเรื่อยๆ จนหาคนเสมอเหมือนได้ยาก และแบบหลัง การลองทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำเพื่อขยายความเก่งไปในเรื่องอื่น โดยการพัฒนาความเก่งในเรื่องใหม่นี้ก็คือการขยาย Comfort Zone เพราะคนเรามักมีนิสัยไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงต้องการอยู่ในพื้นที่ๆ เราสบายใจ (Comfort Zone)จึงเป็นการง่ายที่จะพัฒนาความเก่งแบบแรก

ส่วนการพัฒนาความเก่งแบบหลังคือการลองทำสิ่งใหม่ในพื้นที่ๆ เรายังมีความรู้สึกกังวล (Stress Zone) ไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หากเราทำได้ดีนั่นก็หมายความว่าเราประสบความสำเร็จในการขยายพื้นที่ Comfort Zone

ผมขอเล่าประสบการณ์ตนเองทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือนก็พยายามทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกปีจนได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอยู่เป็นประจำ และขณะเดียวกันก็ทำงานไม่ประจำเป็นนักลงทุนคอนโดมิเนียมหลายแห่งได้รับผลตอบแทนที่ดี กับเป็นนักเขียนบทความลงในเพจมีผู้ติดตามอ่านหลักแสนคน ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าตนเองมีความสามารถเหล่านี้ เพียงแต่ลองลงมือทำอย่างตั้งใจไม่ปล่อยโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้หลุดลอยไป

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราไม่พัฒนาจุดอ่อน เพราะผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำและใช้เวลานาน สู้เอาเวลาไปพัฒนาเรื่องที่เก่งอยู่แล้วหรือเรื่องที่ยังไม่เคยทำจะดีกว่าครับ ชีวิตคนเรามีเวลาพิสูจน์ตัวเองจำกัดประมาณ 40 ปีในช่วงอายุระหว่าง 20 – 60 ปี ดังนั้น เวลาจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องใช้อย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้เวลาพัฒนาจุดอ่อนอาจทำให้เกิดความเครียดมากกว่าการพัฒนาจุดแข็ง เนื่องจากทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชำนาญ ซึ่งความเครียดส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอาจทำให้ท้อไม่อยากทำงานอีกต่อไป

สรุปแล้วผมอยากให้คุณลองปรับความคิดรับเอาแนวทางของคนที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ แล้วพัฒนาขีดความสามารถของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ลงมือทำจนเป็นนิสัยเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม....