ใกล้จะสิ้นปีแล้วปั้นเงินเชื่อว่าหลายคนกำลังมองหาทางเลือกในการลดหย่อนภาษีอยู่กันแน่เลย และเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีก็มีมากมาย ซึ่งส่วนมากที่นิยมกันก็หนีไม่พ้น LTF RMF และประกันฯ การซื้อ LTF RMF แน่นอนว่าตอบโจทย์เรื่องการลงทุนและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่หลายคนอาจจะยังมีคำถามในใจว่า “ซื้อประกันแบบไหน ลดหย่อนภาษีดี?”

ผมอยากให้ลองเปลี่ยนคำถามนี้เป็น “ซื้อประกันแบบไหนถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด” ก่อนดีกว่า เพราะปัจจุบันเท่าที่เรารู้กันมีประกันอยู่ 3 ประเภทที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ นั่นคือ

1. ประกันชีวิต (แบบคุ้มครองชีวิต แบบออมทรัพย์ และแบบควบการลงทุน*) ลดหย่อนสูงสุด 1 แสนบาท

2. ประกันสุขภาพ (ที่คุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ไม่รวมประกันอุบัติเหตุ) ลดหย่อนสูงสุด 15,000 บาท [แต่ประกันชีวิตและประกันสุขภาพเมื่อรวมเบี้ยเข้าด้วยกันจะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท]

3. ประกันแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 2 แสนบาท แต่เมื่อรวมกับ กลุ่มลดหย่อนภาษีที่เป็นเงินเกษียณฯ** ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

ถ้าอย่างนั้นลองมาจำแนกผลประโยชน์ในการซื้อประกันและการวางแผนภาษีพร้อมกันทีละประเภท เพื่อดูว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราที่มีความต้องการแตกต่างแต่คล้ายกัน ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีแบบไหนเกิดประโยชน์สูงสุด

1. ประกันชีวิตแบบคุ้มครองชีวิต หรือที่หลายคนเรียกว่าประกันจ่ายทิ้ง

ส่วนใหญ่ประกันชีวิตแบบนี้เหมาะกับการวางแผนระยะยาว เพราะจ่ายเบี้ยไม่แพงแลกกับทุนคุ้มครองสูง แต่สามารถเป็นหัวรถจักรพ่วงประกันสุขภาพที่ดีได้ในระยะยาว เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยมูลค่าสูงในอนาคตเพื่อสร้างประกันคุ้มครอง

ข้อดีคือจ่ายเบี้ยไม่แพงและมีรูมสำหรับพ่วงประกันสุขภาพสูงสุดที่ 15,000 บาท ไม่ต้องใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน แต่ก็ได้แผนคุ้มครองการเงินในระยะยาวมาแทน แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนไม่ชอบประกันประเภทนี้ก็คือ ความรู้สึกที่เหมือนจ่ายเงินทิ้งแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่รู้ว่าจะได้เคลมมากน้อยแค่ไหน ลดหย่อนภาษีได้ไม่มากเพราะไม่อยากจ่ายเงินทิ้งเป็นปีละหลายหมื่น

2. ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เป็นแบบประกันที่เหมาะกับการลดหย่อนภาษีนะ เพราะหลายคนรู้สึกได้ใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ จ่ายเงินเท่าไหร่ก็ได้เงินคืนเท่านั้น แถมได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินอีกต่างหาก...ถึงจะไม่มากก็เถอะ

ข้อดีของประกันประเภทนี้คือจ่ายแล้วได้เงินคืน แม้ทุนคุ้มครองที่ได้รับเมื่อเทียบกับเบี้ยที่เสียไปจะได้น้อยกว่าแบบคุ้มครองชีวิต แต่มันก็เหมาะกับคนที่ตั้งใจซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีและคาดหวังจะได้เงินต้นคืนทั้งหมด อ้อ! อย่าลืมว่ากว่าจะได้คืนก็ต้องใช้เวลาในการรอคอยอีกนานพอสมควรแล้วแต่แบบประกันที่เราซื้อ

ข้อเสียคือถ้ามองเรื่องความคุ้มครองในระยะยาว ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ไม่เหมาะที่จะเป็นหัวรถจักรสำหรับการพ่วงประกันสุขภาพ เพราะถ้าอายุกรมธรรม์ครบกำหนดเมื่อไหร่ เราต้องหาประกันชีวิตฉบับใหม่มาพ่วง ซึ่งก็จะจ่ายแพงตามอายุที่มากขึ้น จึงไม่เหมาะกับคนที่คิดจะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อวางแผนการเงินระยะยาว

3. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน หรือ Unit Link 

ก็คือประกันชีวิตที่เราจ่ายเบี้ยก้อนหนึ่งเพื่อแบ่งเป็นสองส่วน คือ ความคุ้มครอง และเพื่อการลงทุน ในส่วนที่จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จะมีเพียงส่วนที่จ่ายเพื่อความคุ้มครองเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้จะมีจำนวนไม่เท่ากัน

ข้อดีคือเงินส่วนที่นำไปลงทุนสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้เราได้ และสามารถนับเป็นเงินลงทุนอีกก้อนหนึ่งที่มีความคุ้มครองเพิ่มเข้ามาให้ อีกทั้ง Unit Link บางรูปแบบสามารถใช้วางแผนการเงินในระยะยาวได้ เพราะมันค่อนข้างยืดหยุ่นกับแผนการเงินในระยะยาว แต่ประกันชีวิตควบการลงทุนบางรูปแบบไม่เหมาะกับการลดหย่อนภาษีเท่าไหร่ เพราะเบี้ยที่จ่ายออกไปไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด

สมมติตัวเลขว่าเราจ่ายเบี้ยประกันปีละ 20,000 บาท ในปีแรกอาจจะถูกหักไปจ่ายเพื่อความคุ้มครอง 16,000 บาท และที่เหลือ 4,000 บาทจะนำไปลงทุน ในปีที่สองถูกหักไปจ่ายคุ้มครอง 10,000 บาท และลงทุน 10,000 บาท ส่วนปีต่อๆ ไปเงินที่จ่ายเพื่อความคุ้มครองจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามแบบประกัน

ส่งผลให้เงินที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มีมูลค่าน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ของหลายคนที่จะมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ลดหย่อนมากขึ้น แต่ก็อาจจะเหมาะกับการวางแผนการเงินในระยะยาวมากกว่า

4. ประกันแบบบำนาญ

ประกันแบบบำนาญเหมาะกับการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย และต้องการเงินได้ในรูปแบบบำนาญภายหลังการเกษียณ เพราะบางคนที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้จะเลือกใช้สิทธิลดหย่อนจาก RMF หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่า ซึ่งพอใช้สิทธิจากกลุ่มลดหย่อนภาษีที่เป็นเงินเกษียณฯไปแล้ว จะทำให้เหลือรูมสำหรับใช้สิทธิประกันแบบบำนาญได้น้อย จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมของคนที่ชอบลงทุนสักเท่าไหร่

แต่มันเหมาะมากๆ สำหรับพนักงานประจำที่มีรายได้รายเดือนและแสวงหาความมั่นคงในระยะยาว ประกันแบบบำนาญไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองสุขภาพหรือคุ้มครองชีวิต เป็นการคุ้มครองความมั่นคงทางการเงินในอนาคตมากกว่า

แต่สำหรับฟรีแลนซ์ถ้าจะทำประกันบำนาญต้องมั่นใจก่อนนะว่ามีเงินที่มั่นคงพอจะจ่ายเบี้ยรายปี เพราะเบี้ยประกันค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน

ขอย้ำอีกทีว่าเราควรเลือกซื้อประกันบน “ประโยชน์” และ “ความจำเป็นพื้นฐาน” ของชีวิตมากกว่าจะมองว่าซื้อแบบไหนเพื่อลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด เพราะบางทีการตะบี้ตะบันซื้อประกันเพื่อลดภาษีอาจนำความเดือดร้อนมาให้กับเราได้ในอนาคต

คิดว่าตัวเองเหมาะกับประกันแบบไหนก็จัดไปได้เลยจ้า